Klook เผยแผนธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตปี 2023 ตั้งเป้าเติบโต 300% ภายในสิ้นปี เตรียมนำ Klook Pass เจาะตลาดใหม่ พร้อมดึงอินฟลูเอ็นเซอร์-ครีเอเตอร์ โปรโมต Soft Power ไทย ปลุกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เร่งเครื่องเศรษฐกิจ มุ่งสนับสนุนการท่องเที่ยวยั่งยืน
เอริค น็อก ฟาห์ (Eric Gnock Fah) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) บริษัท Klook Travel Technology จำกัด ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจองกิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า บริษัทเห็นการฟื้นตัวโดยเฉพาะจากการเดินทางข้ามประเทศ โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนเมืองไทยโตขึ้นมากกว่า 2 เท่ามาแล้ว 3 ไตรมาสติดต่อกัน
นอกจากนี้ บริษัทยังเห็นโมเมนตัมที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง หลังผลสำรวจในหมู่ลูกค้าพบว่า ผู้คนมากกว่า 80% มีแผนจะเดินทางอีกในปีนี้ โดยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา 3 จุดหมายปลายทางที่เป็นที่นิยมมากที่สุดบน Klook คือ ญี่ปุ่น ไทย และไต้หวัน
“เราเห็นจุดหมายปลายทาง 2-3 แห่งเติบโตเร็วมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยหนึ่งในนั้นคือญี่ปุ่นและไทย ผมมองว่าเป็นเพราะญี่ปุ่นและไทยมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคือ 2 ประเทศนี้มีกิจกรรมให้ทำมากมาย ดังนั้นเราจึงเห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” เอริค น็อก ฟาห์ กล่าว
จุดแข็งของ Klook ที่เหนือคู่แข่งรายอื่น
เอริคยังได้แบ่งปันจุดแข็งที่ทำให้ Klook เติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางคู่แข่งทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าในอุตสาหกรรม นั่นคือการให้ความสำคัญกับ ‘จุดหมายปลายทาง’ และ ‘ประสบการณ์’ เป็นหลัก มากกว่าบริษัทอื่นๆ ที่อาจมุ่งเน้นไปที่การจองโรงแรมหรือตั๋วเดินทางเป็นพิเศษ
“พวกเรามุ่งเน้น ‘จุดหมายปลายทาง’ (Destination) รวมถึงเรื่องสนุกๆ ที่ผู้คนสามารถทำได้ ผมขอยกตัวอย่าง เวลาคุณคิดว่าทำไมเราอยากไปเที่ยวญี่ปุ่น ทำไมเราอยากไปเที่ยวฮ่องกง ส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องของประสบการณ์เมื่อคุณอยู่ที่นั่น เราจึงอยากให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ ซึ่งแตกต่างกับผู้เล่นในอุตสาหกรรมรายอื่นๆ”
เอริค น็อก ฟาห์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ
เจาะเทรนด์การท่องเที่ยวของคนไทย
เอริคเปิดเผยอีกว่า ‘ไทย’ ค่อนข้างเป็นตลาดใหม่สำหรับ Klook โดย Klook เริ่มเข้าตลาดไทยในช่วงปี 2019 โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยมีความสะดวกสบายมากขึ้น ผ่านการใช้แพลตฟอร์มของ Klook ยามเดินทางไปต่างประเทศ
สำหรับจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 1 ของคนไทย คือ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะฮอกไกโด คือจุดหมายที่คนไทยนิยมไปในช่วงฤดูหนาว ขณะที่ Universal Studios Japan ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ลูกค้าชาวไทยชอบไปที่สุด
นอกจากนี้ Klook ยังเห็นว่าคนไทยกำลังเดินทางไปไต้หวันและฮ่องกงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากมาตรการป้องกันโควิดในหลายดินแดนผ่อนคลายต่อเนื่อง ส่วนในฝั่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศก็กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
วิเคราะห์ภาพการท่องเที่ยวไทยและโลก ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจถาโถม
หลังจากประเทศส่วนใหญ่ของโลกเริ่มเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงจีนและฮ่องกง ทำให้หลายฝ่ายตั้งความหวังว่าเศรษฐกิจโลกและไทย ซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมากจะฟื้นตัวตามไปด้วย
แต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกกลับเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงเหตุการณ์ในภาคสถาบันการเงิน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าปัจจัยเหล่านั้นจะกระทบความต้องการการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ดี เอริคยังคงมั่นใจว่าดีมานด์ของผู้คนยังแข็งแกร่ง พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าภูมิภาคเอเชียจะเป็นความหวังและจุดสว่างมากที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในโลก
“เราเพิ่งทำการสำรวจไปเมื่อเร็วๆ นี้ และพบว่าลูกค้ายังคงมีความใจจดใจจ่อที่จะเดินทางอยู่มาก ผมคิดว่าเป็นผลมาจากปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการจำกัดหลังเกิดการระบาดใหญ่ ทำให้ผมคิดว่าความต้องการการท่องเที่ยวจะยังคงแข็งแกร่งอยู่ แม้สภาวะทางเศรษฐศาสตร์มหภาคต่างๆ ย่ำแย่ลง โดยผมยังคิดว่าเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่เห็นความต้องการที่ดูดีกว่า เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และยุโรป
“นอกจากนี้ ราคาน้ำมันโลกที่ลดลงต่อเนื่องก็น่าจะช่วยทำให้ต้นทุนการเดินทางถูกลง และเป็นการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวต่อเนื่องอีกด้วย” เอริค น็อก ฟาห์ กล่าว
เอริค น็อก ฟาห์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ
Klook พร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย เร่งเครื่องเศรษฐกิจ
เอริคเผยว่า Klook จะจัดทำโปรโมชันและส่วนลดส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย รวมไปถึงใช้เครือข่ายอินฟลูเอ็นเซอร์และครีเอเตอร์ของ Klook ทั่วโลก เพื่อผลิตคอนเทนต์สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับ 5F: Soft Power สอดคล้องกับนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้แก่ผู้ใช้บริการทั้งกลุ่ม Millennials กลุ่ม FIT กลุ่ม Leisure จากไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย โดยคาดว่าจะสร้างยอดการจองกิจกรรมไทยได้ไม่ต่ำกว่า 500,000 กิจกรรม และสร้างการรับรู้ได้ไม่ต่ำกว่า 50,000,000 การรับรู้
ทั้งนี้ 5F: Soft Power ประกอบไปด้วย อาหารไทย (Food) มวยไทยและศิลปะการป้องกันตัว (Fight) การออกแบบแฟชั่นและผ้าไทย (Fashion) เทศกาลประเพณีไทย (Festival) และภาพยนตร์ไทย (Film)
เตรียมใช้ Klook Pass เจาะตลาดใหม่
COO ของ Klook ยังเผยอีกว่า สำหรับประเทศไทย บริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มการเติบโตในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม รถเช่า ทัวร์ และอื่นๆ ให้ได้ 3 เท่าภายในสิ้นปีนี้ ดังนั้น Klook จึงต้องเตรียมตัวดำเนินการมากมายเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวไทย โดยหนึ่งในนั้นคือการใช้ Klook Pass ซึ่งเป็นแพ็กเกจรวมบัตรเข้าแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่หลากหลายในราคาที่คุ้มค่าภายใน Pass เดียว
ปัจจุบัน Klook ได้เปิดตัว Klook Pass สำหรับหลายเมืองในประเทศไทย ตั้งแต่กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ โดยลูกค้าสามารถใช้ Klook Pass เมื่อไรก็ได้ ภายใน 30 วันหลังการจอง
ตัวอย่างเช่น บัตร Klook Pass กรุงเทพฯ และพัทยา ลูกค้าสามารถเลือกเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว 2, 3 หรือ 4 แห่ง โดยมีตัวเลือกสถานที่ยอดนิยมมากมาย เช่น มหานคร สกายวอล์ค, สวนสยามอะเมซิ่งพาร์ค, สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์, พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำซีไลฟ์ แบงคอก โอเชี่ยน เวิลด์ และพิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซ, ปราสาทสัจธรรม, สวนสนุกดรีมเวิลด์, ฟรอสท์ เมืองน้ำแข็งพัทยา, พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอันเดอร์วอเตอร์ เวิลด์ พัทยา, เมืองโบราณและพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ, ตลาดน้ำดำเนินสะดวก, พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว, อัลคาซ่าร์ คาบาเร่ต์ โชว์, ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา และทัวร์รถบัส Hop-On Hop-Off ชมเมืองกรุงเทพฯ
“Klook Pass ได้รับกระแสตอบรับในประเทศไทยดีมาก โดยนอกจากช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการบริษัทกิจกรรมต่างๆ และช่วยให้ลูกค้าได้ประหยัดเงินมากขึ้นแล้ว Klook Pass จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทยในที่สุดด้วย” เอริค น็อก ฟาห์ กล่าว
นอกจากนี้ COO ของ Klook ยังเปิดเผยอีกว่า บริษัทมีแผนจะเปิดตัว Klook Pass เพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้นี้ รวมถึง Product Category Pass เช่น Pass สำหรับงานเทศกาล อาหาร และร้านอาหาร
เอริค น็อก ฟาห์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ
Klook ใส่ใจการท่องเที่ยวยั่งยืน
เนื่องจากประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังมีความสำคัญมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ Klook จึงตั้งเป้าเพิ่มการมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainability Tourism) และการบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ของรัฐบาลไทย
“ผมคิดว่าเราและรัฐบาลต่างมีหน้าที่ในการสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ผมจึงดีใจมากที่เห็นว่าหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และ Klook จะมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้บริโภคของเรา
เรามองเห็นว่าผู้คนตระหนักในเรื่องความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น เราจึงให้ความใส่ใจกับกิจกรรมที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ความยั่งยืนจึงเป็นทิศทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไป
“ผมมองว่าในเอเชียยังล้าหลังในประเด็นเหล่านี้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับยุโรปและสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ แพลตฟอร์มอย่าง Klook จึงจะต้องทำมากกว่านี้เพื่อให้อุตสาหกรรมทั้งหมดก้าวไปข้างหน้า โดยที่ผ่านมา Klook มีนโยบายต่อต้านกิจกรรมที่ละเมิดสวัสดิภาพสัตว์ พร้อมทั้งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้กับพาร์ตเนอร์ และผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีโครงการต่างๆ ออกมามากขึ้น” เอริค น็อก ฟาห์ กล่าว
ไทยจะยกระดับการท่องเที่ยวได้อย่างไร
สุดท้าย COO ของ Klook ยังได้ร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับแนวทางสำหรับประเทศไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย นั่นคือการยกระดับคุณภาพของการท่องเที่ยว
“ผมเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าการผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยว คือการขับเคลื่อนคุณภาพของการเดินทางและการบริการ ซึ่งจะช่วยยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว และยังช่วยให้นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายที่สูงขึ้นด้วย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘กรุงไทย’ เปิด 4 ปัจจัยหนุนท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว คาดต้องใช้เวลาถึงปลายปี 2567 จึงจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด
- รมว.ท่องเที่ยว ซาอุดีอาระเบีย หวังจีนเลิกคุมเข้มโควิด และเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง
- คลัง ‘หั่น’ คาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 3.4% เหตุการณ์ลงทุนภาคเอกชนจ่อทรุด พิษต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้น ยังหวังท่องเที่ยวดึง GDP ปีหน้าโต 3.8%