ศึกเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เขต 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา แทน ‘มุกดาวรรณ เลื่องสีนิล’ จากพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกศาลฎีกามีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี จากเรื่องซื้อเสียงนั้น 4 พรรคการเมืองใหญ่ และ 2 การเมืองพรรคเล็กแข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยมีผู้สมัครทั้ง 6 คน
- ไสว เลื่องสีนิล พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 1
- ชินวรณ์ บุณยเกียรติ พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 2
- ณัฐกิตต์ อยู่ด้วง-ปรีชา พรรคประชาชน หมายเลข 3
- ว่าที่ พ.ต. กวี ไกรทอง พรรคพร้อม หมายเลข 4
- ก้องเกียรติ เกตุสมบัติ พรรคกล้าธรรม หมายเลข 5
- พิษณุ รสมาลี พรรคทางเลือกใหม่ หมายเลข 6
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานผลการเลือกตั้งซ่อม สส. นครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 8 แทนตำแหน่งที่ว่าง อย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันอาทิตย์ 27 เมษายนที่ผ่านมา โดยนับครบแล้วทั้ง 233 หน่วยเลือกตั้ง พบว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 117,717 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 81,750 คน คิดเป็น 69.45% บัตรดีจำนวน 78,530 ใบ คิดเป็น 96.06% บัตรเสียจำนวน 1,088 ใบ คิดเป็น 1.33% บัตรไม่เลือกผู้สมัครใดจำนวน 2,132 ใบ คิดเป็น 2.61%
สำหรับผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เป็นดังนี้
- ก้องเกียรติ เกตุสมบัติ พรรคกล้าธรรม 38,680 คะแนน
- ไสว เลื่องสีนิล พรรคภูมิใจไทย 28,417 คะแนน
- ณัฐกิตต์ อยู่ด้วง พรรคประชาชน 6,811 คะแนน
- ชินวรณ์ บุณยเกียรติ พรรคประชาธิปัตย์ 4,190 คะแนน
- ว่าที่ พ.ต. กวี ไกรทอง พรรคพร้อม 238 คะแนน
- พิษณุ รสมาลี พรรคทางเลือกใหม่ 194 คะแนน
ชัยชนะแรกของกล้าธรรม
ชัยชนะของก้องเกียรติ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของพรรคกล้าธรรม ซึ่งมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานที่ปรึกษา และมีปัจจัยสำคัญหลายประการที่ส่งผลให้เขาได้รับคะแนนเสียงสูงสุดถึง 38,680 คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่งกว่าหมื่นแต้ม
ก้องเกียรติ อายุ 43 ปี เกิดและเติบโตในอำเภอฉวาง เขตเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีประสบการณ์ในงานท้องถิ่นในฐานะอดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สจ.) นครศรีธรรมราช เขตอำเภอฉวาง และเคยดำรงตำแหน่งสารวัตรกำนัน ตำบลละอาย อำเภอฉวาง
ก้องเกียรติ เกตุสมบัติ ว่าที่ สส. เขต 8 นครศรีธรรมราชคนใหม่
คนที่ 25 ของพรรคกล้าธรรม
ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ ‘กำนันชุ’ ชุตินธร บุณยเกียรติ บุตรสาวของชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนครศรีธรรมราชถึง 9 สมัย (พ.ศ. 2535/1, 2535/2, 2538, 2539, 2544, 2548, 2550, 2554 และ 2562) และเป็นผู้สมัครเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย โดยก้องเกียรติสามารถเอาชนะคู่แข่งทั้ง 5 คนได้อย่างขาดลอย ทำให้เข้ากลายเป็น สส.คนที่ 25 ของพรรคกล้าธรรม
การเป็นลูกเขยของชินวรณ์เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาจากพรรคกล้าธรรมสามารถชนะเลือกตั้งในรอบนี้ และพ่อตาจากพรรคประชาธิปัตย์ แพ้ในสนามนี้ เพราะฐานเสียงเดิมถูกแบ่ง และถ่ายเทไปยังพรรคใหม่ โดยคนในพื้นที่เลือก ‘ตัวบุคคล’ มากกว่าพรรค และคนเลือก ‘ก้องเกียรติ’ ไม่ใช่เพราะชื่อพรรคกล้าธรรมเท่านั้น แต่เพราะเลือกเพราะก้องเกียรติที่มีสายสัมพันธ์เก่าแก่กับท้องถิ่น ผ่านชินวรณ์ และครอบครัวการเมืองเก่าด้วย
ประชาธิปัตย์ ‘แพ้ซ้ำแพ้ซาก’ ในพื้นที่เมืองหลวง
ในอดีตจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนาน เป็นจังหวัดที่ประชาธิปัตย์เคยกวาดที่นั่ง สส.เกือบทั้งหมดหลายสมัย จนกลายเป็นสัญลักษณ์ว่า ถ้าพูดถึงประชาธิปัตย์ในภาคใต้ ต้องนึกถึงนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดแรก
แต่การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ชินวรณ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้แค่ประมาณ 4,190 คะแนนเท่านั้น คะแนนรั้งท้ายในกลุ่มพรรคใหญ่ สะท้อนว่าคนใต้ ‘ลดความเชื่อมั่น’ ในประชาธิปัตย์อย่างจริงจัง
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์
อดีตสส.หลายสมัย อดีตรัฐมนตรีฯ ได้คะแนนเสียงเพียง 4,190 คะแนน
แพ้กระทั่งพรรคใหม่อย่างกล้าธรรม หรือแม้พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาชน สะท้อนชัดว่า คนภาคใต้จำนวนมากกำลังเปิดใจให้กับทางเลือกใหม่ๆ และไม่ได้ศรัทธาในประชาธิปัตย์เหมือนวันวานอีกต่อไป
นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ยังมีความล้มเหลวสะสมจากการเมืองระดับประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ถูกมองว่าลังเล ไม่เด็ดขาดทางจุดยืนการเมือง ทั้งในการร่วมรัฐบาล รวมถึงการจัดการภายในพรรคเอง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนหัวหน้า ที่ขาดผู้นำที่โดดเด่น จนทำให้ภาพลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน แน่นอนว่าจะส่งผลไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570 ด้วยอย่างแน่นอน
ภูมิใจไทยรักษาแชมป์ไม่ได้
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยในฐานะแชมป์เก่าภายใต้การดูแลของแม่ทัพภาคใต้ ‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ ได้ส่ง ‘ไสว เลื่องสินิล’ สามีของมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน และต้องอยู่กับคำครหา “เมียลงไม่ได้ ส่งผัวลงแทน” จนทำให้ถูกมองว่าเป็น ‘สภาผัวเมีย’ ได้รับคะแนนไปทั้งสิ้น 28,417 คะแนน แพ้ที่ 1 ไปหมื่นกว่าคะแนน
สิ่งที่ภูมิใจไทยต้องยอมรับ คือ การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากศาลฎีกามีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของมุกดาวรรณ เนื่องจากกระทำการทุจริตซื้อเสียง ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคในพื้นที่เสียหาย ประชาชนอาจต้องการเปลี่ยนแปลงและเลือกผู้แทนที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
แม้ว่าพรรคภูมิใจไทยจะมีพอฐานเสียงในภาคใต้ แต่การพ่ายแพ้ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของฐานเสียงในพื้นที่นี้ ซึ่งอาจเกิดจากการที่พรรคไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือมีคู่แข่งที่มีความเข้มแข็งและได้รับความนิยมมากกว่า
กรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยชุดใหม่
ไม่สามารถรักษาแชมป์ สส.เขต 8 นครศรีธรรมราชไว้ได้
ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เกิดขึ้นในบริบทที่ภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง โดยมีพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เช่น พรรคกล้าธรรม ซึ่งสามารถคว้าชัยชนะในเขต 8 นครศรีธรรมราชได้สำเร็จ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในความนิยมของประชาชนที่อาจไม่ยึดติดกับพรรคการเมืองเดิมๆ
นอกจากนี้ ความพ่ายแพ้ของพรรคภูมิใจไทยครั้งนี้สะท้อนถึงความท้าทายที่พรรคต้องเผชิญ ทั้งในด้านภาพลักษณ์ ต้องแสดงจุดยืนชัดเจนว่าพรรคไม่ยอมรับการทุจริต และรีบสะสางกรณีที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะคำครหา ยืนยันที่จะส่งหลังบ้านของมุกดาวรรณ และขอให้มองที่ตัวบุคคล จนทำให้แพ้ไปในที่สุด
ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทย เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่ถูกจับตาที่กำลังเจาะฐานเสียงภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 สามารถคว้าที่นั่ง สส. ในภาคใต้ได้ทั้งหมด 12 เขต จาก 14 จังหวัดภาคใต้ จากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้เหลือ 11 เขต
หากพรรคภูมิใจไทยหมายมั่นที่จะเจาะฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องฟื้นฟูความน่าเชื่อถือ พร้อมสร้างฐานเสียงใหม่ในท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง โดยมุ่งพัฒนาภาพลักษณ์ที่โปร่งใส และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาพื้นที่ให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน และมีผลงานที่จับตาต้องได้
พรรคประชาชนยังปักธงส้มไม่สำเร็จ
ส่วนพรรคประชาชน เป็นอีกครั้งที่ยังไม่สามารถปักธงส้ม และพบกับความพ่ายแพ้หลังชนะเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 ครั้งนี้ได้คะแนนมาเพียง 6,811 คะแนนจากครั้งก่อนที่ได้ 11,587 คะแนน
พรรคประชาชนต้องปรับกลยุทธ์การหาเสียงและการสื่อสารให้เข้ากับบริบทจริงของภาคใต้ ต้องสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการสร้างเครือข่ายและทีมงานในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ ผู้สมัครหรือผู้แทนต้องมีฐานเสียงจริงในพื้นที่ ไม่ใช่คนที่ส่งลงเท่านั้น
หัวหน้าเท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ยังไม่สามารถนำทีม ปักธงส้มในพื้นที่ภาคใต้ได้สำเร็จ
ตัวอย่างเช่น กรณีพรรคกล้าธรรม ผู้ชนะเป็นอดีต สจ. ที่ทำมีประสบการณ์ในงานท้องถิ่น ทำงานรับใช้ประชาชนในพื้นที่มาก่อน ทำให้สามารถเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในเวลานี้พรรคประชาชนยังไม่หมดโอกาสในภาคใต้ แม้จะยังไม่ถือเป็นพรรคตัวจริงในพื้นที่ภาคใต้ แต่การแซงประชาธิปัตย์ได้ถือเป็น ‘สัญญาณบวก’ มากกว่า ‘สัญญาณลบ’ หากเดินเกมการเมืองให้ดี ยังมีโอกาสเติบโตในอนาคต เหมาะสมกับการเป็นพรรคที่เติบโตมาจากพรรคอนาคต (ใหม่)
เลือกตั้งซ่อม จับตาสู่การปรับ ครม.
ชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ของพรรคกล้าธรรม ถูกมองว่าอาจเป็นชนะของนายใหญ่ ทักษิณ ชินวัตร ที่ยังไม่สามารถปักธงแดงในพื้นที่ภาคใต้ไปด้วย เนื่องจาก
ร.อ.ธรรมนัส มีความใกล้ชิด เคยมีบทบาทสำคัญในพรรคเพื่อไทย และเป็นมือประสานการเมืองให้นายใหญ่มาตลอด
แม้ว่าพรรคกล้าธรรมจะยืนยันว่าไม่ได้เป็นพรรคนอมินีของพรรคใดๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย แต่การที่มีความเชื่อมโยงทางการเมืองกับนักการเมืองบางคนในพรรคเพื่อไทย ทำให้หลายฝ่ายยังคงสงสัยในเรื่องนี้อยู่ และให้จับตาการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่ให้ดี การมี 25 เสียงตัวจริง และมีหลายสิบเสียงในเงามืด อาจทำให้ชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส ได้คัมแบ็กนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีอีกครั้งในเร็วๆ นี้
2 ผู้นำพรรคกล้าธรรม ‘นฤมล-ธรรมนัส ’