×

เผยทุกความลับในโลกโซเชียลกับ ‘กล้า ตั้งสุวรรณ’ ซีอีโอ Thoth Zocial

โดย THE STANDARD TEAM
21.09.2017
  • LOADING...

     หากพูดถึงชื่อของ กล้า ตั้งสุวรรณ หลายคนคงจะรู้จักเขาในฐานะซีอีโอของบริษัท Thoth Zocial ผู้ให้บริการข้อมูลและวิเคราะห์ผลบนโซเชียลมีเดียแบบครบวงจร และอีกหลายๆ คนก็คงจะรู้จักเขาในฐานะของผู้จัดงาน Thailand Zocial Awards ที่เป็นการมอบรางวัลให้กับผู้ที่ประสบความสำเร็จทางด้านต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย

     เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะคุยกับใครสักคนทั้งเรื่องของการทำธุรกิจ โลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก้าวต่อไปของสตาร์ทอัพ และอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยการขับเคลื่อนของทั้ง 3 สิ่งนี้ กล้าก็คงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแบบปฏิเสธไม่ได้

 

 

ในฐานะของคนที่มีข้อมูลของโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กอยู่ในมือ คุณมองว่าภาพรวมของโลกโซเชียลในปัจจุบันนั้นเป็นแบบไหน

     โดยรวมแล้วโลกโซเชียลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับทุกๆ อุตสาหกรรมที่มีอยู่ในโลกนี้ รวมไปถึงในประเทศไทยด้วย และตามข้อมูลแล้ว โซเชียลในไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่โตขึ้นเร็วมาก เรียกได้ว่าโตแบบดับเบิลมาทุกปี เพราะฉะนั้นธุรกิจใดก็ตามที่กระโดดเข้ามาเล่นในโลกโซเชียลก็สามารถตั้งความหวังไว้ได้เลยว่ามันจะเติบโตขึ้นทุกปีๆ ในแทบจะทุกๆ ด้านแน่นอน

     ถ้าลองเจาะดูข้อมูลลึกกว่านั้น เราจะพบว่าผู้ใช้โซเชียลของไทยนั้นมีพฤติกรรมเฉพาะของมันอยู่ มันมีแฮชแท็กประเภท thailand only มากมาย ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นการประกวดนางงามจักรวาลที่เราแข่งติดแฮชแท็กชนะฟิลิปปินส์ ซึ่งก่อนหน้านั้นทางฝั่งฟิลิปปินส์เขาก็ภูมิใจในการใช้โซเชียลของเขามากนะ ประชากรโซเชียลเขาเยอะ และมีคนบ้าโซเชียลพอกันกับเรา แต่ไทยก็ยังชนะ เพราะฉะนั้นบนโลกโซเชียลบ้านเราไม่เป็นรองใครแน่นอน

 

พอจะบอกได้ไหมว่าอะไรที่ทำให้ไทยสามารถชนะฟิลิปปินส์ได้

     เพราะเรารวมพลังกัน จำนวนคนเราอาจจะน้อยกว่า แต่เราสามารถรวมพลังกันด้วยความบ้าโซเชียลได้ มองในมุมสังคมก็น่าสงสัยว่ามันดีหรือเปล่า เพราะโลกโซเชียลมันเหมือนเป็นโลกที่ควบคุมไม่ได้ หลายๆ คนจึงพยายามที่จะควบคุม และอีกมุมหนึ่ง โซเชียลในไทยมันก็แทบจะเป็นของต่างชาติหมดเลย เหมือนกับเราเสียอธิปไตยในเชิงโซเชียล แต่ผมว่ามันไม่ควรมองว่านี่คือไทย หรือนั่นคือต่างชาติ เพราะทุกคนต่างมีผลประโยชน์ที่เกื้อกูลกันหมด เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของประชากรโลก

 

 

และถ้ามองในมุมธุรกิจ บอกได้ไหมว่าธุรกิจไหนดูมีแนวโน้มที่จะเข้ามาสู่โลกโซเชียลมากขึ้นเรื่อยๆ

     มันมีธุรกิจใหม่ที่กระโดดเข้ามาตรงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ถ้าเราย้อนกลับไปสัก 5 ปี เราจะเห็นว่ามีแค่ธุรกิจไอที เทคโนโลยี และดิจิทัลทั้งหลาย แต่ทุกวันนี้คนขับแท็กซี่ก็ยังต้องใช้และทำธุรกิจกันอยู่ในนี้เลยนะ ทุกคนใช้เพื่อทำมาหากินหมด มันเปลี่ยนชีวิตของคนไปเลย คล้ายกับสมัยก่อนที่ไม่มี google ตอนนี้เรานึกไม่ออกแล้วว่าถ้าไม่มี google จะเป็นยังไง ก็เหมือนกับถ้าวันนี้ไม่มีโซเชียลมีเดียแล้วเราจะอยู่กันยังไง

     เพราะฉะนั้นผมมองว่าธุรกิจทุกอย่างจะหันหน้าเข้าสู่โลกโซเชียล ใครปรับตัวได้ก็อยู่รอด ใครที่มองว่าโซเชียลเป็นสิ่งที่มาขัดขวางธุรกิจแล้วไม่ยอมปรับตัวเข้าหา ก็จะอยู่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็มีหลายธุรกิจที่สามารถอยู่รอดได้แม้จะถูกโลกโซเชียลเข้ามาทำให้ปั่นป่วนในทีแรกอยู่บ้างก็ตาม อย่างเช่นธุรกิจทีวี วงการสิ่งพิมพ์ หรือคอนเทนต์ต่างๆ ที่มีทั้งคนอยู่รอดและคนที่ล้มตายไป

 

ในฐานะผู้จัดงาน Thailand Zocial Awards คุณมองเห็นอะไรจากงานนี้บ้าง

     ผมมองในสองมุม มุมแรกคือเราจัดงานนี้ขึ้นมาเพราะมันไม่เคยมีบรรทัดฐานในการวัดผลงานบนโซเชียลกันมาก่อน มันไม่เคยมีตัวชี้วัดว่างานที่ทำกันบนโซเชียลเนี่ย เราทำกันได้ดีหรือเปล่า เพราะมันจับต้องไม่ได้ ซึ่งในฐานะที่เรามีข้อมูลโซเชียลเยอะมาก เราก็อยากจะคืนบางอย่างกลับไปสู่วงการนี้ อยากให้วงการมันไปในทางที่ถูกและเชิดชูคนที่ไปในทางที่ดี เรารู้ว่าโลกโซเชียลมันมีทั้งด้านขาว ด้านเทา และด้านดำ เราก็อยากให้เขารู้ว่าถ้าคุณทำด้านที่ขาวแล้วมันดี เราก็อยากจะสนับสนุนนะ ซึ่งหลังจากจัดมา 5 ปี เราก็ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

     ทีนี้หลังจากแจกรางวัลไป ผมก็เดินเข้าไปถามผู้ได้รับรางวัลทุกคนเลยว่า กลยุทธ์ที่เขานำเสนอออกมานั้น เขาคิดขึ้นมาได้ยังไง ซึ่งก็พบว่าทุกแบรนด์ที่ได้รับรางวัลในแต่ละหมวดเขาคิดกลยุทธ์กันเองทั้งหมดเลยนะ คือเป็นไอเดียจากคนข้างใน ไม่ได้จ้างคนข้างนอกมาคิดให้ เหมือนมันเป็นสิ่งที่เขาอิน ตั้งใจทำ และคิดถึงลูกค้าเป็นหลัก รู้ว่าเขาอยากจะส่งต่ออะไรให้กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมาจากคนที่ทำงานข้างในจริงๆ เท่านั้น ผมมองว่าตรงนี้คือสิ่งที่เราสนับสนุน คืออยากให้แบรนด์เข้าใจโซเชียลและใช้ประโยชน์จากมันให้ได้มากที่สุด เพราะผู้บริโภคของเราอยู่ในนั้นอยู่แล้ว แต่เราต้องค้นหาให้เจอว่าเราจะเข้าถึงและเข้าใจเขาได้ยังไง มันมีวิธีการที่สนุกและมีอะไรให้ทำในโลกโซเชียลอีกเยอะ มากกว่าการไปหาคนมาแล้วบอกให้เขาทำวิดีโอไวรัลมาตัวหนึ่ง

 

วิดีโอไวรัลเป็นสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์แล้วอย่างนั้นเหรอ

     ผมมองว่าตามธรรมชาติแล้ว ความไวรัลมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้นะ แต่หลายแบรนด์พยายามไปฝืนธรรมชาติ คือพยายามไปควบคุมมัน ทั้งที่ความจริงแล้วพื้นที่โซเชียลมันเป็นพื้นที่ทดลอง คุณต้องทดลองไอเดียไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้ว่าไอเดียแบบไหนที่ผู้บริโภคของคุณจะซื้อ และถ้าผู้บริโภคซื้อ มันก็จะกลายเป็นไวรัลให้คุณเอง ซึ่งข้อมูลทางโซเชียล หรือ social data มันทำให้คุณต้องทดลองน้อยลง

 

 

แล้วข้อมูลแบบไหนที่คนทำธุรกิจควรสนใจในช่วงนี้

     ถ้าตอบกว้างๆ ผมจะบอกว่าข้อมูลนั้นมันเป็นคำตอบของคำถาม แล้วแต่ละธุรกิจก็มีคำถามที่ไม่เหมือนกันเลย มันจึงต้องใช้ข้อมูลที่แตกต่างกันไป แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปอีกนิด ข้อมูลที่ผู้ประกอบการควรจะฟังบ้างในช่วงนี้คือ psychographic หรือลูกค้ารู้สึกนึกคิดยังไง เรารู้กันอยู่แล้วว่าเวลาคนที่จะซื้อของสักชิ้นเขาไม่ได้ใช้ตรรกะหรอก ไม่ได้ใช้เหตุผลเยอะขนาดนั้น เพราะฉะนั้นการใช้แค่ demographic ว่าเพราะเขาอายุเท่านี้ เพราะเป็นผู้ชาย เพราะอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะเงินเดือนเท่านี้ เพราะทำงานอยู่ในตำแหน่งนี้ แล้วเดาว่าเขาจะซื้อของเรา เพราะเขาคือกลุ่มเป้าหมายของเรา มันใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่มันไม่พอ เพราะแม้จะเป็นคนในกลุ่มเดียวกัน แต่บางสิ่งบางอย่างก็ทำให้เขามีอารมณ์ที่ไม่เหมือนกัน และคิดไม่เหมือนกัน ซึ่งความคิดนี้มันก็เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ด้วยนะ

     อย่างตัวผมเอง วิธีการซื้อของของผมในปีนี้กับปีที่แล้วนั้นต่างกันไปโดยสิ้นเชิงเพราะสิ่งๆ เดียวเลย นั่นคือการที่ผมมีลูก ผมยังเป็นผู้ชายเหมือนเดิม หน้าที่การงานเดิม รายได้เท่าเดิม ขับรถคันเดิมอยู่ไหม ใช่เลย มีที่แตกต่างจากเดิมคืออายุที่เพิ่มขึ้นแค่ปีเดียว นอกนั้นทุกอย่างแทบจะเหมือนเดิมหมด แต่การมีลูกนั้นเปลี่ยนแปลงวิธีคิดทุกอย่างเลย แล้วทีนี้คุณจะรู้ได้ยังไงว่าผมมีลูก บางทีคุณก็อาจจะต้องทำแบบสอบถาม ซึ่งยังไงมันก็ไม่ครอบคลุมหรอก แต่ถ้าคุณไปดูโซเชียลผม มันจะตอบทุกอย่างเลย จากแต่ก่อนปาร์ตี้ตลอด ตอนนี้จะไปไหนก็ได้ แต่ต้องเลิกก่อนสองทุ่ม (หัวเราะ) เริ่มมีเพื่อนติดแท็ก #พ่อบ้านใจกล้า เข้ามา สิ่งเหล่านี้มันเป็นรอยเท้าของเราทั้งหมด ซึ่งถ้าแบรนด์ได้รู้ข้อมูลเหล่านี้ก็จะเข้าใจความคิดและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น

     หรืออีกกรณีคือการแท็กคำว่า #อยากกิน ขึ้นมาในโลกโซเชียล คุณลองเดาดูสิว่าคำอะไรที่ถูกแท็กคู่กันมากที่สุด

 

ก็น่าจะเป็น #อาหารญี่ปุ่น หรือเปล่า

     ไม่ใช่ แท็กอันดับหนึ่งที่คู่กับคำว่า #ของกิน คือ #เป๊กผลิตโชค ครับ ชนะทุกชนิดเลย ซึ่งถ้าคุณรู้ข้อมูลแบบนี้ คุณสามารถเอาไปทำอะไรได้อีกหลายอย่างเลยนะ กุญแจสำคัญของผู้ประกอบการชุดนี้คือการตั้งโจทย์ให้ฉลาด และข้อมูลเหล่านั้นมันจะช่วยตอบคำถามให้คุณเอง

 

 

นั่นคือข้อมูลสำหรับทางฝั่งธุรกิจ แล้วในทางกลับกัน ผู้บริโภคควรจะรู้อะไรจากข้อมูลเหล่านี้บ้าง

     ผมมองว่าผู้บริโภคควรจะรู้ว่าโซเชียลที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ อะไรคือปลอดภัย อะไรคืออันตราย คุณควรรู้ว่าข้อมูลอะไรที่เราเปิดเผยออกไปบ้าง และคนที่เราเอาข้อมูลส่วนตัวให้ไปนั้นน่าไว้ใจหรือเปล่า ถ้าเราเอาข้อมูลที่เราหวงไปฝากกับคนที่ไว้ใจได้มันก็โอเค แต่ถ้าเราเอาไปให้คนที่ไม่น่าไว้ใจ นั่นคือไม่ปลอดภัยแล้ว ผู้บริโภคควรจะรู้เรื่องนี้ให้มากที่สุด

     อย่างตอนที่เราคุยกันอยู่นี้ เราก็มีการเปิดเผยข้อมูลกันอยู่ เพราะโทรศัพท์มือถือของเรามันทำการ tracking อยู่ตลอดเวลา มี 3 คนแน่ๆ ที่ตอนนี้รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน หนึ่งคือ google สองคือ facebook และสามคือเครือข่ายมือถือของเรา แต่พอดี 3 คนนี้เขามีมาตรการที่จะรักษาความลับของเราเอาไว้ มันก็เลยโอเค แต่ถ้าคุณเผลอไปให้ข้อมูลกับใครที่ไม่ได้มีมาตรการแบบนี้ ไปใช้แอปฯ แปลกๆ ไปตอบควิซบางอย่างที่ต้องใช้ข้อมูลส่วนตัว ซึ่งถามว่าจะใช้หรือเล่นสิ่งเหล่านี้ได้ไหม มันก็ได้ แต่คุณต้องรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วย

 

 

ในยุคที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เริ่มต้นทำธุรกิจกันมากมายแบบนี้ อะไรคือสิ่งที่พวกเขายังขาดอยู่

     ผมมองเป็นสองส่วนดีกว่า ส่วนแรกคือส่วนที่ยังไม่มีการสนับสนุน เป็นเรื่องของไอเดียและวิชัน คือบ้านเรามันมีความเป็นไทยสูง เวลาคิดอะไรขึ้นมาก็จะชอบคิดว่าขายแค่คนไทยแหละพอแล้ว ซึ่งเอาจริงๆ การลงทุนทางเทคโนโลยีมันแพงมาก และทั้งโลกมีต้นทุนส่วนนี้ในราคาที่เท่าๆ กัน อย่างเช่นซื้อคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องในสเปกเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ราคาเท่าๆ กัน ประเทศอื่นเขายอมจ่ายกันได้ เพราะเมื่อเทียบกับตลาดของเขา มันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ถ้าหากเรายังมองแค่ตลาดคนในประเทศ มันก็อาจจะไม่คุ้มกับต้นทุนที่เราใช้จ่ายลงไป ผมเลยอยากให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ลองมองไปถึงตลาดนอกประเทศด้วย อย่างน้อยก็ในภูมิภาคนี้ เพราะบางอย่างมันเป็น red ocean ในบ้านเราไปแล้ว แต่ยังไม่ใช่ในภูมิภาคนี้ ถ้าเรามองแบบนี้ได้ วิธีคิดของเราจะเปลี่ยนไป

     และส่วนที่สองคือสิ่งที่พอมองหาการสนับสนุนได้ อย่างเช่นการพูดคุยกับกูรู หรือการเข้าถึงความรู้ต่างๆ ตอนที่ผมเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพเมื่อเกือบสิบกว่าปีก่อนคือเราไม่รู้จะไปหาใครมาแนะนำ เพราะเราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ แต่เดี๋ยวนี้เส้นทางมันเปิดกว้างมาก เงินทุนที่พร้อมจะลงทุนให้สตาร์ทอัพนั้นมีมากกว่าจำนวนสตาร์ทอัพเสียอีก

 

อย่างนั้นในฐานะของคนที่เคยเป็นสตาร์ทอัพมาก่อน มีอะไรที่อยากบอกกับผู้เล่นใหม่ๆ ที่วิ่งเข้ามาตอนนี้บ้าง

     ข้อที่หนึ่งคือให้เรามองว่าเราไม่ใช่คนไทย แต่เราเป็นคนของ AEC เราเป็นคนของโลกนี้ เราต้องทำของขายคนเหล่านั้น ข้อที่สองคืออย่าป๊อด อย่ากลัวเจ็บ ยิ่งเรากลัว เราก็จะไม่โต แจ็ค หม่า เคยพูดไว้ว่า ชีวิตเขาขึ้นมาอยู่ตรงนี้ได้แล้วก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา คุณเป็นสตาร์ทอัพ คุณก็มีปัญหาแบบของคุณ คนที่ประสบความสำเร็จแล้วก็มีปัญหาแบบคนประสบความสำเร็จแล้วเหมือนกัน แต่คุณจะไม่มีทางเจอปัญหาของคนที่ประสบความสำเร็จแล้วได้เลย ถ้าคุณยังแก้ปัญหาของสตาร์ทอัพไม่ได้ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานั้นคือการลุยลงไปเจ็บ วิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือเราต้องล้ม ถ้าเราล้มเร็ว ลุกเร็ว เราจะเจ็บน้อย แต่ถ้ายิ่งโต เราจะยิ่งเจ็บ และค่าใช้จ่ายมันจะยิ่งเยอะ

 

 

คิดว่าการมีพื้นที่ออฟไลน์ให้คนมาเจอกันอย่าง AIS D.C. และ AIS Playground มันตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์อย่างไร

     มันตอบโจทย์สองข้อของสตาร์ทอัพเลยนะ อย่างแรกคือแต่ก่อนมันไม่มีพื้นที่ให้เราลองเล่นอะไรแบบนี้ และมันมีค่าใช้จ่ายแพงมาก อย่างเมื่อก่อนถ้าเราอยากลองเชื่อมต่อแอปฯ ของเราเข้ากับระบบส่ง SMS หรือระบบ OTP (One Time Password) เราจะทำยังไง สมัยก่อนนี่ยากเลย ค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่นี่คุณมาลองเล่นได้เลย แม้จะดูเหมือนว่าซัพพอร์ตแค่สายแอปพลิเคชัน แต่ทุกวันนี้เราก็หาธุรกิจใหม่ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับแอปฯ ยากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นผมเลยมองว่าการทำธุรกิจสตาร์ทอัพยุคนี้มันสนุกกว่ายุคก่อนเยอะ มีเงินลงทุนเยอะ มีคนซัพพอร์ตเราเยอะ ซึ่ง AIS D.C. ก็เป็นหนึ่งในนั้น

     อย่างที่สองคือคุณมีพาร์ตเนอร์ หลายคนบอกว่าไอเดียนั้นเป็นของมีค่าราคาแพง แต่ผมมองว่าไอเดียนั้นจะไม่มีค่าอะไรเลย ถ้ามันไม่ได้ถูกเอาไปทดลองใช้งานจริง ซึ่งวิธีทดลองที่ดีที่สุดคือทดลองกับพาร์ตเนอร์ ลองเอางานมาพิตช์กันว่าไอเดียนั้นมันดีหรือไม่ดียังไง ซึ่งหลายคนก็กลัวว่าถ้าพูดออกมาแล้วไอเดียจะถูกก๊อบปี้ไปใช้ ผมบอกเลยว่าถ้าไอเดียคุณดีจริง คุณไม่ต้องกลัวหรอก เพราะมันจะมีแค่คุณคนเดียวที่ทำได้ แต่ถ้าเป็นไอเดียที่คนอื่นสามารถก๊อบปี้ไปทำได้ นั่นแสดงว่ามันเป็นไอเดียที่ใครๆ เขาก็คิดได้ และถ้าไอเดียคุณมันดีจริง เหล่าพาร์ตเนอร์เขาก็พร้อมที่จะสนับสนุน ช่วยตรวจสอบ และพร้อมที่จะทำให้มันเป็นจริงได้อยู่แล้ว

 

 

อยากจะเห็นอะไรหลังการเกิดขึ้นของ AIS D.C. และ AIS Playground บ้าง

     อยากจะเห็นไอเดียเจ๋งๆ จากกลุ่มสตาร์ทอัพเจ๋งๆ คือวงการสตาร์ทอัพในบ้านเรานั้นมีมากขึ้นแล้วจากแต่ก่อน เรากำลังจะมีสตาร์ทอัพที่สามารถพูดได้เต็มปากว่าประสบความสำเร็จอย่างจริงจัง ซึ่งแน่นอนว่ากว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ เขาก็จัดการถางทางและฝ่าฟันสิ่งต่างๆ มาให้คนรุ่นหลังแล้ว แล้วถ้ามันมีคนทำสำเร็จ มันก็จะมีคนที่พุ่งตามมาแน่นอน ก็หวังว่าจะเห็นคนที่ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ยิ่งประเทศนี้มีปัญหามากเท่าไร มันก็ยิ่งเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพในการแก้ไขและเข้ามาทำธุรกิจ และผมเชื่อว่ามีคนอีกมากมายที่รอพวกคุณอยู่

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X