×

เลขาฯ พรรคกล้า เสนอตั้งกรรมการร่วมเจ้าหน้าที่-นักวิชาการ วางแนวทางบังคับใช้ ม.112 ชี้เคยทำสำเร็จมาแล้ว ย้ำจุดยืน ไม่แก้-ไม่ยกเลิก

โดย THE STANDARD TEAM
06.11.2021
  • LOADING...
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี

วานนี้ (5 พฤศจิกายน) อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวในรายการ มีเรื่อง Live หัวข้อ เลิก – แก้ – ไม่แตะ ‘112’ ผ่านช่อง YouTube: Jomquan โดยมี รศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นผู้ร่วมดีเบต โดยอรรถวิชช์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ควรทำทั้งสิ้น เพราะหากยกเลิกไปมีแนวโน้มทำให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายมากขึ้น และเมื่อดูคดีช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กว่าครึ่งหนึ่งประชาชนเป็นผู้ฟ้อง สะท้อนว่ายังมีคนอีกจำนวนมากยอมไม่ได้กับการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ หากเดินหน้ายกเลิกหรือแก้ไข จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ม็อบชนม็อบมีโอกาสสูงมาก ท้ายสุดอาจนำไปสู่การรัฐประหาร เพราะฉะนั้นอย่าให้เกิดเหตุอะไรแทรกในห้วงเวลาปีนี้จนถึงเดือนสิงหาคมปีหน้า มั่นใจว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่เกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 

 

เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นโทษที่มีฐานความผิดกว้าง ตั้งแต่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี จึงควรมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมาย ควรมี ‘คณะกรรมการ’ ขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยองค์ประกอบอาจจะมาจากเจ้าหน้าที่ร่วมกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาได้ทันทีโดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย 

 

“อาจารย์ปิยะบุตรไม่เคยโดน 112 แต่ลูกศิษย์อาจารย์ น้องๆ นักศึกษาโดนอยู่นะ ต้องช่วยเขาด้วย คนที่ผิดเต็มๆ ก็ต้องโดนกันไปตามกฎหมาย แต่กรณีที่ศาลเคยวางแนวทางไว้แล้วว่าไม่ฟ้อง ก็น่าจะต้องมาดูกันว่าสั่งไม่ฟ้องได้ในชั้นตำรวจอัยการ ซึ่งหากมีคณะกรรมการกลั่นกรอง คดีมันจบเร็วขึ้น วิธีการนี้เคยใช้ได้ผลมาแล้วสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่หากยังดันให้แก้ไขยกเลิกมาตรา 112 หักด้ามพร้าด้วยเข่า คงเป็นไปได้ยาก ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จึงอยากให้คิดแบบหาทางออกให้ได้ นี่คือจุดยืนของผม” อรรถวิชช์กล่าว 

 

อรรถวิชช์กล่าวว่า ใกล้เลือกตั้งเท่าไร จะมีประเด็นแบ่งแยกคนออกเป็น 2 ฝ่ายทุกที แล้วคนก็จะเลือกตั้งความกลัวกับความเกลียด ยุคนี้ยิ่งหนักขึ้น ขอเลยว่าอย่านำเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นแบ่งแยกทางการเมือง และตามที่อาจารย์ปิยบุตรว่ากรณีมาตรา112 รวมถึงกรณีหมิ่นประมาทอื่นๆ ควรเป็นแค่เรื่องทางแพ่งเท่านั้น ใช้การปรับค่าสินไหมทดแทนการลงโทษทางอาญานั้น ตนเองไม่เห็นด้วย เพราะการทำแบบนั้นยิ่งทำให้คนไม่เท่ากัน คนรวยได้เปรียบ 

 

“ถ้าเราเปลี่ยนมาตรา 112 คดีอาญาที่มีโทษจำคุกให้เป็นแค่คดีแพ่ง แล้วจ่ายค่าสินไหมทดแทนกันไปแบบอาจารย์ปิยะบุตรบอก ผมว่ายิ่งทำให้คนไม่เท่ากัน แบบนี้คนรวยด่าใครก็ได้ ด่าแล้วไปจ่ายค่าสินไหมทดแทนเอา ผมว่ามันจะนำไปสู่สังคมแห่งความไม่เท่าเทียม” อรรถวิชช์กล่าว 

 

อรรถวิชช์ย้ำด้วยว่า เมื่อดูเรื่องความเท่าเทียมและเสรีภาพ มีอีกเรื่องที่ต้องดูคือเรื่องภราดรภาพ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ถึงจะมีทางออกของสังคม ความสำคัญคือการยึดมั่น การดำรงอยู่ของสถาบัน เป็นโจทย์ฝากไปถึงรัฐบาลที่ต้องทำให้คนในชาติเกิดความรู้สึกแบบนี้ ไม่ใช่ทำให้ห่างกันไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นบาดแผลของคนระหว่างรุ่น การแบ่งซ้ายขวาสุดขอบ จะนำไปสู่ความรุนแรงกันทั้งคู่ หาทางออกไม่ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X