KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่าแม้เศรษฐกิจไทยและโลกปี 2564 จะพลิกกลับเป็นบวกจากฐานต่ำหรือการติดลบในปี 2563 โดยปีนี้คาดการณ์ GDP ไทยปี 2564 จะอยู่ที่ 2.0% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 3.5% จากสาเหตุโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ
ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์ GDP ปีต่อปีอาจไม่ได้สะท้อนผลกระทบและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยกลับไปสู่จุดก่อนการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ เห็นได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังติดลบ 100% และตลาดหุ้นไทยที่หดตัวรุนแรงและฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น (ต่ำกว่าระดับ 1,700 จุด)
อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนดูข้อมูลเศรษฐกิจไทยหลังเจอวิกฤตครั้งใหญ่ พบว่าเศรษฐกิจไทยไม่เคยกลับมาโตเท่าเดิมอีกเลย เพราะหลังวิกฤตเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร ได้แก่
- ทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533) ที่เศรษฐกิจไทยมีการลงทุนสูงจากการขยายตัวของสินเชื่อและฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแรงส่งนี้หายไปหลังวิกฤตการเงินจากฟองสบู่แตกในตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2540
- ทศวรรษ 2000 (พ.ศ. 2543) ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตจากการส่งออกหลังการประกาศลอยตัวค่าเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งหลังวิกฤตการเงินโลกปี 2551 (Subprime Crisis 2008) การส่งออกเริ่มมีทิศทางชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก
- หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยหันมาพึ่งพาภาคการท่องเที่ยว โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2555 ที่นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเริ่มเข้ามาในไทย แต่ปี 2563 เกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบให้การท่องเที่ยวหายไป
ขณะที่ SET Index พบว่า Return on Equity (ROE) ของบริษัทใน SET ตกต่ำลงตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตปี 2551 สะท้อนถึงความสามารถในการสร้างรายได้และทำกำไรของบริษัทไทยที่เริ่มมีโอกาสน้อยลงเรื่อยๆ ได้แก่
- ปี 2546-2550 ROE เคยโตได้ 17.4%
- ปี 2551-2556 ROE ลดลงสู่ระดับ 12.1%
- ปี 2557-2562 ROE ลดลงเหลือ 9.5%
ปัจจุบันทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นยังไม่สามารถกลับสู่จุดเดิมได้ โดย KKP Research มองความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจไทย 2 กรณี ได้แก่
กรณีที่ 1 ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น แต่จะสามารถฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่องจนไปยืนจุดเดิมได้เมื่อการระบาดของโควิด-19 จบลงและเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้
กรณีที่ 2 ตลาดหุ้นไทยอาจกลับไปในระดับเดิมได้เพียงชั่วคราว และจะใช้เวลายาวนานมากกว่าจะสามารถกลับไปในระดับก่อนโควิด-19 ได้ ซึ่งอาจเป็นไปได้จากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างถาวรหลังโควิด-19 และมีความเป็นไปได้ที่ไทยจะตกอยู่ในสถานการณ์แบบที่สอง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยต้องเจอการเปลี่ยนแปลงใน 3 ด้านคือ
- การทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่จะมุ่งทางดิจิทัลมากและเร็วขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น อีคอมเมิร์ซ ระบบออนไลน์ รวมถึงเห็นเม็ดเงินการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีมากขึ้น อย่างกรณีของสหรัฐฯ เห็นได้จากข้อมูลตลาดหุ้น ข้อมูลมูลค่าของสินทรัพย์ของบริษัทใน S&P 500 กว่า 84% เปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Asset) เช่น องค์ความรู้ใหม่ๆ อัลกอริทึม ลิขสิทธิ์ทางปัญญา ฯลฯ
- โลกาภิวัตน์รูปแบบใหม่อย่างการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องพึ่งพาคน (Automation) ซึ่งจะทำให้แรงงานและการผลิตเปลี่ยนแปลงไป
- นโยบายการเงินรูปแบบใหม่ ช่วงวิกฤตโควิด-19 เห็นทั้งการเข้าซื้อพันธบัตรของภาครัฐในตลาดรอง การเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน การแทรกแซงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวผ่านการทำ QE หรือนโยบายอื่นๆ เช่น Yield Curve Control ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ฯลฯ โดยเป็นนโยบายที่ไม่เคยทำมาก่อน และคาดว่าธนาคารกลางทั่วโลกอาจต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายต่อไปอีกนาน
ดังนั้นเศรษฐกิจไทยต้องปรับตัวในหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยยังอยู่ในรูปแบบเก่า (42% ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมด) ขาดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ เช่น ธุรกิจยานยนต์อาจถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า การท่องเที่ยวที่ไม่สามารถฟื้นตัวดังเดิม (นักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน) การเข้ามาของอีคอมเมิร์ซ และรายได้ของภาคการเงินที่เจอแรงกดดันจากผู้ให้บริการอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยอาจพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวในระดับสูงต่อไปไม่ได้ ดังนั้นรัฐต้องเร่งพัฒนากฎระเบียบให้เอื้อต่อการเกิดธุรกิจใหม่ กำหนดแนวทางปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ (Restructure) ที่ชัดเจนและใช้ได้จริง รวมถึงการทบทวนบทบาทนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างของประเทศ
หากนโยบายเศรษฐกิจของไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และภาคธุรกิจยังไม่มีการปรับตัวให้ทันสถานการณ์ อาจทำให้ทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในภาพรวมไม่สามารถกลับมาโตที่ระดับเดิม