×

KKP หั่น GDP ปีหน้าเหลือ 2.6% มองเศรษฐกิจไทยขาลง ไร้แนวโน้มโตเท่าเดิม กดดันแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 3 ครั้งปีหน้า

28.11.2024
  • LOADING...

KKP Research ชี้ เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง พร้อมปรับ GDP ปี 2568 ลงเหลือ 2.6% และเหลือ 2.4% ในปี 2569 คาดมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่ม ประเมินถึงแจกดิจิทัลวอลเล็ตครบทุกเฟส ก็ไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เหตุความเชื่อมั่นผู้บริโภคอ่อนแอ ภาวะสินเชื่อเข้มงวด และการฟื้นตัวของรายได้ล่าช้า มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและผลกระทบต่อการบริโภคมากกว่าการแจกเงินสดเพียงครั้งเดียว

 

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยว่า โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาเท่าศักยภาพเดิมที่ 3.0-3.5% โดยไทยยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตช้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียนในช่วงหลังวิกฤตโควิด

 

พร้อมทั้งประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 2.6% ในปี 2568 และเติบโตได้ 2.4% ในปี 2569 โดยเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงในปีหน้าเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น

 

  1. ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ที่สะท้อนจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่หดตัวลงต่อเนื่องมามากกว่าปี และยังมีความเสี่ยงชะลอตัวเพิ่มเติมโดยเฉพาะหากมีการปรับภาษีนำเข้าสินค้าขึ้นจากสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อภาคการส่งออกไทย
  2. ภาคบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวช้าลง หลังจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น
  3. การหดตัวของสินเชื่อในภาคธนาคารจะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะกระทบกับการบริโภคในระยะข้างหน้า
  4. การเข้าสู่สังคมสูงอายุ กดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

 

ทบทวนแผนแจกเงินหมื่น

 

สำหรับหนึ่งในปัจจัยบวกสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น คือ รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินสดขนาดใหญ่ในปี 2567 และ 2568 โดยแบ่งเป็น

 

ระยะที่ 1: งบประมาณ 142,000 ล้านบาท (คิดเป็น 0.7% ของ GDP) ถูกใช้ในไตรมาส 4 ปี 2567 ผ่านการแจกเงินสด 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง

 

ระยะที่ 2: รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 184,000 ล้านบาท (คิดเป็น 0.9% ของ GDP) จะถูกแจกเป็นเงินสดให้กับผู้สูงอายุ 5-8 ล้านคนภายในเดือนมกราคม

 

ระยะที่ 3: หลังจากสองระยะแรก ยังเหลืองบประมาณราว 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปแจกให้กับประชาชน 10 ล้านคนที่ลงทะเบียนในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 2 ปี 2568

 

ถึงแจกดิจิทัลวอลเล็ตครบทุกเฟส ก็ไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

 

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแจกเงินสดรอบใหม่ KKP Research คาดว่ามาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจัยสำคัญอื่นๆ เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ สภาวะสินเชื่อที่เข้มงวดจากธนาคาร และการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังล่าช้ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และผลกระทบต่อการบริโภคมากกว่าการแจกเงินสดเพียงครั้งเดียว

 

ประเมินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ

 

เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ยังมีความเสี่ยงโตต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากความเสี่ยงของนโยบายภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดี ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นลำดับต้นๆ ของเอเชีย

 

อย่างไรก็ดี นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก KKP ประเมินว่าการขึ้นภาษีนำเข้าขนาดใหญ่มีแนวโน้มใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยสินค้าในกลุ่ม Rerouting ที่นำเข้าจากจีนเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบก่อน เช่น Solar Panel, WiFi Router ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก เพราะมูลค่าเพิ่มที่ถูกสร้างในประเทศอยู่ในระดับต่ำ

 

คาดแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า

 

KKP Research ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 3 ครั้งในปีหน้ามาที่ระดับ 1.5% จากระดับปัจจุบันที่ 2.25% แม้ว่าแนวทางการสื่อสารของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) จะมีท่าทีค่อนข้างเข้มงวด โดยเน้นย้ำว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่ผ่านมาเป็นการปรับสมดุลใหม่ (Recalibration) ไม่ใช่การเริ่มต้นของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย 

 

อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอ และภาวะทางการเงินในปัจจุบันตึงตัว โดยเฉพาะจากสินเชื่อภาคธนาคารที่หดตัวจนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศ

 

KKP Research ตั้งข้อสังเกตว่า ในระหว่างปี 2558-2562 เมื่อเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงต่ำกว่า 1% และการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 3-4% อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนั้นยังคงอยู่ที่ 1.5% 

 

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเงินเฟ้อในปัจจุบันอ่อนแอพอๆ กับช่วงปี 2558-2562 และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าในช่วงนั้นมาก แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันกลับสูงกว่าช่วงเวลาดังกล่าวมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อสังเกตว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอาจตึงตัวเกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับเศรษฐกิจที่มีสัญญาณอ่อนแอลง และหนี้เสียที่เร่งตัวขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อธนาคารแห่งประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X