×

KKP Research คาด ‘3 มาตรการรัฐ’ ปลุกกำลังซื้อ ช่วยเพิ่ม GDP เพียง 0.17%

28.10.2020
  • LOADING...
KKP Research คาด ‘3 มาตรการรัฐ’ ปลุกกำลังซื้อ ช่วยเพิ่ม GDP เพียง 0.17%

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ กลุ่มเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ประเมินมาตรการรักษาระดับการบริโภคของภาครัฐผ่าน 3 โครงการ ‘ช้อปดีมีคืน-คนละครึ่ง-เติมเงินบัตรสวัสดิการ’ กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียง 0.17% 

 

การระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินเวลามานานกว่า 9 เดือน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากภาคต่างประเทศ ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออกในสัดส่วนที่สูงถึง 60% ของ GDP

 

เมื่อเครื่องยนต์ดังกล่าวไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ การใช้จ่ายของ ‘ภาครัฐ’ จึงกลายเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย เพียงแต่ยังมี ‘คำถาม’ ว่า เครื่องยนต์ดังกล่าวจะทำงานได้ดีเพียงใด

 

KKP Research ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ผ่านการใช้จ่ายของครัวเรือนในรูปแบบต่างๆ ในช่วงที่เหลือของปีนี้รวม 3 มาตรการ ได้แก่

 

  1. มาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ หรือมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับซื้อสินค้าหรือบริการตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท เป้าหมายเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

  1. มาตรการ ‘คนละครึ่ง’ มีเป้าหมายเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยรัฐบาลจะช่วยออกค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไปให้กับประชาชน 50% แต่ไม่เกินคนละ 150 บาทต่อวัน รวมตลอดระยะเวลาไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน

 

  1. มาตรการ ‘เพิ่มกำลังซื้อ’ ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่ออุดหนุนค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เช่น อุปกรณ์การศึกษา วัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม โดยเพิ่มให้คนละ 500 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน

 

KKP Research ประเมินว่า ผลของมาตรการเหล่านี้ต่อเศรษฐกิจอาจไม่ได้สูงมาก โดยคาดว่า การใช้จ่ายผ่าน 3 มาตรการดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มในช่วงที่เหลือของปีประมาณ 1.07 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ​ประเมินไว้ว่า จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท

 

โดย สศค. คาดว่า กำลังซื้อที่จะเกิดขึ้นภายใต้มาตรการกระตุ้นรอบใหม่นี้ ส่วนใหญ่จะมาจากมาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ เป็นเงิน 1.11 แสนล้านบาท, จากโครงการ ‘คนละครึ่ง’ 6 หมื่นล้านบาท และโครงการ ‘สวัสดิการแห่งรัฐ’ อีก 2.1 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 1.92 แสนล้านบาท 

 

มาตรการกระตุ้นรอบนี้ แม้จะมีการใช้จ่ายตามมาตรการ แต่อาจนับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากเท่าที่รัฐบาลคาดไว้ โดยเฉพาะในส่วนของ ‘ช้อปดีมีคืน’ เนื่องจาก 3 เหตุผลหลัก

 

  1. กำลังซื้อที่อ่อนแอลงมากจากภาวะการว่างงาน และรายได้ของครัวเรือนที่ถูกกระทบอย่างหนัก จากสถานการณ์โควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยจำนวนผู้ว่างงานในเดือนมิถุนายน แม้จะมีเพียง 7.5 แสนคน คิดเป็น 1.9% แต่มีแรงงานอีก 2.5 ล้านคนที่ต้องหยุดงานชั่วคราว และอีก 7.6 ล้านคนที่ทำงานไม่เต็มเวลา คือ น้อยกว่า 34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 3 กลุ่มนี้คิดเป็น 30% ของแรงงานไทยทั้งหมด 

 

แม้ตัวเลขในเดือนสิงหาคมจะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับสูงที่ 22% สะท้อนถึงความเปราะบางของตลาดแรงงาน และรายได้ของครัวเรือนที่ลดลงตามชั่วโมงการทำงานที่หายไป

 

ที่น่ากังวลคือ หากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ซบเซาแบบนี้ลากยาวออกไป แม้ผู้ประกอบการธุรกิจจะพยายามประคับประคองไว้ ไม่เลิกการจ้างงาน แต่ใช้วิธีลดเวลาการทำงานแทน สุดท้ายธุรกิจอาจต้องตัดสินใจปิดตัวลงและเลิกจ้างในที่สุด จึงเป็นเรื่องยากที่จะกระตุ้นกำลังซื้อในภาวะที่การจ้างงานและรายได้มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและลูกจ้างแรงงานเอง

 

  1. ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้มาตรการต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเดิมที่ตั้งใจจะใช้อยู่แล้ว เพียงแต่เลื่อนช่วงเวลาใช้ให้อยู่ในช่วงของมาตรการเพื่อรับสิทธิประโยชน์เท่านั้น

 

  1. ในแง่ของการกระตุ้น GDP ส่วนหนึ่งจะรั่วไหลไปกับการนำเข้าสินค้า ซึ่งไม่นับรวมอยู่ใน GDP ของไทย แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดขายในธุรกิจค้าปลีกและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ให้กระเตื้องขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด แต่สินค้าที่คนใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี อาจไม่สามารถนับเป็นผลต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ทั้งหมด เพราะส่วนหนึ่งเป็นการซื้อสินค้าราคาสูงที่ไม่ได้ผลิตในประเทศไทย เช่น โทรศัพท์มือถือ

 

โดยภาพรวม KKP Research ประเมินว่า ทั้ง 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้ จะส่งผลให้ GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้นเพียง 0.17% ต่ำกว่าที่ สศค. คาดไว้ที่ 0.54% ของ GDP

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising