×

KKP Research คาดตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะโตเฉลี่ย 20% ติดต่อกัน 5 ปี หลังโควิดช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

30.08.2021
  • LOADING...
E-commerce

KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า ตลาดค้าปลีกออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซในไทยหลังวิกฤตโควิดจะขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปีตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากระดับ 3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน เป็น 7.5 แสนล้านบาทในปี 2025 หรือคิดเป็น 16% ของตลาดค้าปลีกรวม ซึ่งเฉพาะในปี 2020 ที่ผ่านมาอีคอมเมิร์ซไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดดถึง 80% สะท้อนการเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคไปสู่ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จากข้อจำกัดด้านการเดินทางจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และหมวดอาหารและสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวดี ขณะที่การใช้จ่ายด้านการจองโรงแรมและการเดินทางหดตัวอย่างรุนแรง 

 

บทวิเคราะห์ของ KKP Research ระบุว่า ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย แต่ในแง่มูลค่าใช้จ่ายต่อผู้ใช้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งสะท้อนระยะเริ่มต้นของการเติบโต โดยมองว่าในระยะต่อไป ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยและอาเซียนมีโอกาสเติบโตสูงต่อเนื่องจาก 3 ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 

 

  1. การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปัจจุบันที่เฉลี่ยราว 80% ของประชากร 

 

  1. การใช้โทรศัพท์มือถือและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z โดยกลุ่มประเทศในอาเซียนมีจำนวนบัญชี Facebook ต่อประชากรสูงที่สุดในโลกและเป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญ

 

  1. บริการชำระเงินออนไลน์ที่แพร่หลายในอาเซียน ทั้งนี้ไทยเป็นประเทศที่มีการใช้บริการธนาคารผ่านมือถือ (Mobile Banking) และการชำระเงินผ่านมือถือ (Mobile Payments) สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก โดยมีบริการพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่สะดวกและมีต้นทุนต่อผู้ใช้ต่ำ 

 

สำหรับรูปแบบค้าปลีกออนไลน์ในไทยพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ E-Marketplace มากขึ้น คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซรวมของไทย โดยเป็นการแข่งขันระหว่างสองแพลตฟอร์มข้ามชาติหลัก ได้แก่ Shopee และ Lazada ทิ้งห่างแพลตฟอร์มรายอื่น จากแนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจแพลตฟอร์มที่เข้มข้นเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดและเป็นฐานต่อยอดไปสู่โอกาสธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้โดยรวมแล้วแม้รายได้ของธุรกิจแพลตฟอร์มจะขยายตัวขึ้นอย่างมาก แต่ยังคงมีแนวโน้มขาดทุนต่อเนื่องจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการร่วมอุดหนุนการขาย KKP Research ประเมินว่าท้ายที่สุดจะเหลือธุรกิจแพลตฟอร์มที่สามารถทำกำไรได้เพียงไม่กี่ราย และอาจมีผู้ชนะเพียงรายเดียว เช่นเดียวกับตลาดอีคอมเมิร์ซในจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีกลุ่ม Alibaba และ Amazon เป็นเจ้าตลาดทิ้งห่างคู่แข่งที่เหลือ 

 

KKP Research มองว่า การเติบโตของอีคอมเมิร์ซจะส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้านต้องปรับกลยุทธ์ไปสู่ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากโควิดและขยายโอกาสการเติบโต ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าประเภทที่มีผู้ให้คำแนะนำ (Specialist Shops) อาจใช้ข้อได้เปรียบในด้านความน่าเชื่อถือของผู้ขายเป็นทุนเดิมและมีบริการหลังการขายที่ดี ในการนำช่องทางออนไลน์มาหลอมรวมกับหน้าร้านเพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภค (Omnichannel Experience) หรืออาจสร้างช่องทางออนไลน์แยกจากช่องทางหน้าร้าน (Multichannel) และเน้นการส่งสินค้าอย่างรวดเร็วถึงบ้าน เช่น การส่งสินค้าถึงบ้านใน 3 ชั่วโมงในเขตกรุงเทพฯ 

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหน้าร้านยังคงมีข้อเสียเปรียบในด้านโครงสร้างต้นทุน โดยเฉพาะค่าเช่าพื้นที่และค่าจ้างพนักงาน จึงจำเป็นต้องปิดจุดอ่อนผ่านการบริหารต้นทุนของช่องทางหน้าร้านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรักษาอัตรากำไรในระยะต่อไป 

 

KKP Research ยังระบุด้วยว่า ภาครัฐสามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ผ่านการส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานและลดขั้นตอนและกฎระเบียบใน 3 ด้าน ได้แก่ 

 

  1. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพโลจิสติกส์ในประเทศ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนการจัดตั้งคลังสินค้าสมัยใหม่แบบครบวงจร (Fulfillment Center)  

 

  1. สนับสนุนการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และการจัดเก็บภาษีบนธุรกิจออนไลน์อย่างโปร่งใสและเป็นระบบ เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกรรมค้าปลีกออนไลน์ในอนาคต 

 

  1. ขยายตลาดค้าปลีกออนไลน์ให้ไปไกลกว่าตลาดในประเทศผ่านการลดขั้นตอนและกฎระเบียบระหว่างแดน เพื่อให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต 470 ล้านคนในอาเซียนได้
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising