×

KKP Research ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือ 0.5% หลังโควิดส่อยืดเยื้อ ห่วง ‘ล็อกดาวน์’ เกิน 3 เดือน เศรษฐกิจอาจติดลบ 0.8%

22.07.2021
  • LOADING...
KKP Research

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิดอาจมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่หลายฝ่ายประเมินเอาไว้ และจะไม่สามารถจบได้เร็วแบบเดียวกับปีก่อน เนื่องจากไวรัสที่ระบาดเป็นสายพันธุ์ใหม่ คือ สายพันธุ์เดลตา ที่มีความสามารถในการระบาดสูงกว่าเดิมมาก 

 

ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ที่เริ่มต้นช้าและนโยบายจำนวนการตรวจโรคที่เป็นข้อจำกัด ที่อาจทำให้ประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความจริง นอกจากนี้ สัดส่วนของคนที่มีภูมิคุ้มยังมีน้อยมาก จากอัตราการฉีดวัคซีนที่ทำได้ช้า และวัคซีนมีประสิทธิผลต่ำในการป้องกันต่อเชื้อเดลตา 

 

โดย KKP Research ประเมินว่า การระบาดระลอกปัจจุบันของไทยจะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างน้อย 3 เดือน กว่าสถานการณ์จะบรรเทาความรุนแรงลง ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจจากการบริโภค และการลงทุนที่จะลดลงในช่วงไตรมาส 3 ทำให้การเติบโตของการบริโภคทั้งปีติดลบ และกระทบต่อการคาดการณ์ GDP ในปี 2021 จากการเติบโตที่ 1.5% เหลือเพียง 0.5% แม้ว่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นก็ตาม เมื่อนับรวมกับตัวเลขการคาดการณ์ GDP ในปี 2022 ที่ 4.6% ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้รวมกับปีหน้าที่ระดับ 5.1% ไม่เพียงพอชดเชยการหดตัวของเศรษฐกิจในปี 2020 ที่หดตัวลง 6.1% และเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ในการกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย หากจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ที่ยาวนานกว่า 3 เดือน หรือต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่มีข้อจำกัดมากขึ้น กระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายของเศรษฐกิจไทย KKP Research ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบเพิ่มเติมอีก -1.3% และทำให้เศรษฐกิจในปีนี้หดตัวลง 0.8%  

 

KKP Research ยังระบุด้วยว่า จากสถิติการระบาดใหญ่ในต่างประเทศ การแพร่ระบาดหนึ่งรอบกินระยะเวลาเฉลี่ย 120-150 วัน สำหรับกรณีประเทศไทย เมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ประสิทธิผลของวัคซีนที่ลดลงต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตา แผนการจัดหาวัคซีน และสถานการณ์ระบบสาธารณสุขในปัจจุบัน ทำให้ประเมินว่าการแพร่ระบาดอาจจะเกิดขึ้นยาวนานต่อเนื่องในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่

 

กรณีฐาน (Base Case) ภายใต้สมมติฐานว่ามาตรการล็อกดาวน์ในระดับเท่ากับเดือนเมษายน 2020 เกิดขึ้นในไตรมาส 3 สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี และสิ้นไตรมาส 3 มีผู้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส คิดเป็น 30% ของจำนวนประชากร ซึ่งน่าจะสามารถลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและอัตราเสียชีวิตลงได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจไม่สามารถลดการติดเชื้อได้ เนื่องจากวัคซีนส่วนใหญ่ที่ใช้มีประสิทธิผลไม่ดีนักต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตา จึงส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อถึงจุดสูงสุดภายในกลางไตรมาส 3 และค่อยๆ ปรับลดลงในไตรมาส 4 

 

กรณีเลวร้าย (Worse Case) ภายใต้สมมติฐานว่ามาตรการล็อกดาวน์ในระดับเท่ากับเดือนเมษายน 2020 ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ คาดว่ายอดผู้ติดเชื้อจะถึงจุดสูงสุดภายในปลายไตรมาส 3 และปรับลดลงมาอยู่ในระดับ 2,000 ราย ในช่วงเดือนธันวาคม จนต้องมีการใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้น ในลักษณะเดียวกับประเทศชิลี อินเดีย และมาเลเซีย ที่อาจกระทบต่อภาคการผลิตมากขึ้น เช่น การจำกัดจำนวนคนและหรือช่วงเวลาที่สามารถเดินทางออกจากบ้าน การห้ามเดินทางออกจากบ้านที่เข้มข้นขึ้น รวมไปถึงการห้ามการทำงานยกเว้นอุตสาหกรรมที่จำเป็น เป็นต้น 

 

ทั้งนี้ KKP Research มองว่ามีหลายมาตรการที่รัฐบาลควรเร่งปรับปรุงนโยบาย และออกมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์ ลดผลกระทบ ได้แก่ 

 

  • ควรมีการประเมินสถานการณ์และสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา และขอความร่วมมือจากประชาชนอย่างชัดเจน 
  • ควรจัดทำแผนมาตรการล็อกดาวน์ที่มองไปข้างหน้า สอดคล้องกับสถานการณ์ สมเหตุสมผล และสื่อสารแผนการบังคับใช้และผ่อนคลายไว้ล่วงหน้า  
  • เร่งเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาโรค การสอบสวนโรค การแยกผู้ป่วย การรักษา และปรับปรุงนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อศักยภาพในการตรวจโรค  
  • เร่งจัดหาวัคซีน mRNA ที่หลักฐานสนับสนุนในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาให้เร็วที่สุด เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันของประชาชน 
  • จัดเตรียมนโยบายเยียวยาประชาชนและธุรกิจที่เหมาะสมต่อระดับและระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์ เพื่อสนับสนุนให้มาตรการใช้ได้ผลจริง ลดผลกระทบต่อประชาชน และป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ และรักษาเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวกลับมาได้โดยเร็วเมื่อสถานการณ์การระบาดปรับตัวดีขึ้น 
  • แม้ระดับหนี้สาธารณะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง ทำให้รายจ่ายดอกเบี้ยเป็นภาระต่องบประมาณน้อยลง เราเชื่อว่าประเทศยังมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพิ่มหากมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชน โดยจำเป็นต้องมีแผนในการลดการขาดดุลในอนาคต และต้องจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพที่สุด 
  • นโยบายการคลังและนโยบายการเงินควรต้องมีการประสานงานและมีบทบาทมากขึ้น เพื่อจัดหามาตรการเพื่อแก้ปัญหาการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ กระแสเงินสด และความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ และรักษาการทำงานของภาคการเงินและเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising