×

KKP มอง GDP ไทยปีนี้ขยายตัว 3.9% ตั้งเป้าสินเชื่อโต 12% พร้อมขยายฐานลูกค้าเวลธ์และรายย่อยผ่านบริการใหม่ KKP Edge และ KKP Dime

31.01.2022
  • LOADING...
KKP

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจประจำปี 2565 ว่า KKP จะยังคงมุ่งสร้างผลการดำเนินงานในธุรกิจหลัก ทั้งในด้านธุรกิจธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจตลาดทุน เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้และช่วยรักษาโอกาสทางธุรกิจภายใต้ความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด โดยตั้งเป้าสำหรับธุรกิจหลักในปี 2565 ดังต่อไปนี้

 

  1. ธุรกิจสินเชื่อ ยังคงขยายสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อผู้บริโภคและธุรกิจ Bancassurance ที่ควบคู่ไปกับสินเชื่อ โดยตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อในปีนี้ที่ 12% นอกจากนั้นยังพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขาและการให้บริการให้สอดคล้องกับความต้องการในยุคที่ช่องทางดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้น

 

  1. ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) จะมุ่งใช้ประโยชน์แพลตฟอร์ม ผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น บริการการลงทุนต่างประเทศผ่าน Mandate Service หรือกองทุนแฟล็กชิป KKP-SGAA

 

นอกจากนั้นจะรุกขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม Mass Affluent ผ่านบริการ KKP Edge ที่ใช้ระบบและกระบวนงานดิจิทัลเข้ามาช่วยดูแลลูกค้าให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ได้กว้างขวางขึ้น โดยมีเกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำที่ลดลง

 

  1. ธุรกิจบริการทางการเงินแบบดิจิทัล จะมุ่งใช้ประโยชน์จากระบบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและนำเสนอบริการให้ลูกค้ารายย่อย ซึ่งจะถูกนำเสนอภายใต้ชื่อ Dime ตลอดจนพัฒนาแอปพลิเคชัน KKP Mobile อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการทางการเงินในยุคดิจิทัล

 

“ในปีนี้เราจะมีการเปิดตัวบริการใหม่คือ KKP Edge และ KKP Dime โดย Edge จะช่วยขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม Mass Affluent ขณะที่ Dime จะเป็นการใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อเข้าถึงลูกค้ารายย่อยกลุ่มใหม่ๆ โดยบริการในระยะแรกของ Dime อาจเริ่มต้นจากเงินฝากก่อน เราจะมีการแถลงรายละเอียดของทั้งสองบริการใหม่ในเร็วๆ นี้” อภินันท์กล่าว

 

อภินันท์ยังกล่าวถึงภาพรวมผลประกอบการของ KKP ในปีที่ผ่านมาว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยธุรกิจธนาคารสินเชื่อเติบโตได้ดีถึง 16.5% โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่โตขึ้นกว่า 20% หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่โตขึ้น 40% ตลอดจนกลุ่มสินเชื่อบรรษัทที่เติบโต 30% โดยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีสถานการณ์โดยรวมที่ดีขึ้น 

 

ขณะที่ธุรกิจตลาดทุนก็สามารถทำรายได้ดีเป็นประวัติการณ์ มาจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์กลุ่มยังมีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ด้านธุรกิจ Wealth Management มีจำนวนทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำ (AUA) เพิ่มเป็น 7.34 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับธุรกิจวาณิชธนกิจ สามารถทำรายได้ดีจากค่าธรรมเนียมของธุรกรรมรายการใหญ่ เช่น การ IPO ของ OR และ TIDLOR

 

“การดำเนินงานของ KKP ยังคงยึดหลักการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ที่มีอยู่ควบคู่ไปกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพ โดยไม่ละเลยการให้ความช่วยเหลือสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย ตลอดจนตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตไว้อย่างเพียงพอ” อภินันท์กล่าว 

 

ด้าน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่ามีแนวโน้มจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก ความกังวลเรื่องการระบาดของเชื้อโอมิครอนในไตรมาสที่หนึ่ง น่าจะมีผลกระทบในช่วงสั้น ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวล่าช้าออกไป แต่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และยังคงการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีที่น่าจะโตได้ที่ระดับ 3.9% ภายใต้สมมติฐานนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 5.8 ล้านคน 

 

ทั้งนี้ KKP Research ยังเปิดเผยถึงแนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองในปี 2565 คือ 

 

แนวโน้มแรกคือ สถานการณ์โรคระบาดที่กระทบต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ เปลี่ยนกลายเป็นโรคประจำถิ่น สัดส่วนของการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ช่วยลดความรุนแรงของโรคและผลกระทบของการระบาด ทำให้เศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น 

 

แนวโน้มที่สองคือ สภาพคล่องโลกมีแนวโน้มลดลงและอัตราดอกเบี้ยโลกกำลังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังแรงกดดันเงินเฟ้อโลกที่สูงกว่าคาด กดดันให้ธนาคารกลางใหญ่ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเริ่มถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ต้นทุนทางการเงิน เงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย 

 

แนวโน้มที่สามคือ เศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงฟื้นตัวได้ช้ากว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยน่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังการกลับสู่ภาวะปกติของอุปสงค์ในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนและยังไม่ทั่วถึง 

 

นอกจากนี้เงินเฟ้อในประเทศไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นถึง 3.5% ในไตรมาสแรก จากต้นทุนพลังงานและราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพโดยเฉพาะของผู้มีรายได้น้อย ในฝั่งนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังคงให้ความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกือบตลอดทั้งปี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยภายนอกและภายในประเทศจะทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 

 

สำหรับความเสี่ยงที่สำคัญ 3 ด้านที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย 

 

  1. การระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส อาจจะทำให้การระบาดใหญ่ยังคงมีอยู่ต่อไป กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว 

 

  1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการควบคุมวิกฤตโควิด อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกที่มีโอกาสชะลอตัวลง

 

  1. หากอัตราเงินเฟ้อโลกไม่ปรับตัวลดลงตามคาด อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยและถอนการกระตุ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังต้องจับตาประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกได้
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X