×

KKP คาดนโยบาย Common Prosperity ของจีนเสี่ยงทำไทยส่งออกได้ลดลง ซ้ำยังอาจฉุด FDI-ท่องเที่ยวชะลอต่อเนื่อง

22.12.2021
  • LOADING...
Common Prosperity

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร เผยแพร่บทวิเคราะห์ประเมินว่า การแทรกแซงจากรัฐบาลจีนและการออกมาตรการภายใต้นโยบาย Common Prosperity จะส่งผลกระทบที่ธุรกิจและนักลงทุนไทยไม่อาจมองข้าม ทั้งในด้านการค้า การเงิน และการท่องเที่ยว เนื่องจาก

 

  1. คนไทยไปลงทุนในจีนจำนวนมาก 
  2. จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทย 
  3. ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนสูง 
  4. ผลกระทบต่อความมั่นคงของเอเชียจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ 

 

บทวิเคราะห์ของ KKP Research ระบุว่า นโยบาย Common Prosperity ไม่ได้เป็นเพียงมาตรการเพื่อจัดระเบียบอุตสาหกรรมของจีนเท่านั้น แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว 5 ประการ ได้แก่ 

 

  1. ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ครอบครองสัดส่วนตลาดสูงและมีการสะสมข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูง 

 

  1. หนี้ที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินและการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ในวงกว้าง จนทำให้ราคาบ้านแพงจนประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ 

 

  1. สังคมสูงวัยที่กำลังจะมาถึงและจำนวนประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง

 

  1. มลภาวะทางอากาศซึ่งมาจากการเผาถ่านหินเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน 

 

  1. อิทธิพลจากค่านิยมตะวันตกที่พยายามเข้ามาในตลาดจีนมากยิ่งขึ้น 

 

โดยนอกจากประเด็นเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยที่สำคัญคือเรื่องอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองภายใต้แนวคิดของสีจิ้นผิง หากปล่อยให้จีนมีการเปิดเสรีและปล่อยให้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่ภาครัฐไม่เข้ามากำกับดูแลจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงานที่จะขยายมากขึ้น 

 

ดังนั้นภาครัฐภายใต้แนวคิดของสีจิ้นผิงจึงเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลภาคเอกชน ทำให้หลักการพื้นฐานในการลงทุนในจีนแตกต่างจากหลักการลงทุนในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีความเป็นระบบตลาดทุนนิยมแบบเสรีมากกว่า สำหรับนักลงทุนไทย การนำหลักการในการลงทุนแบบประเทศตะวันตกที่เป็นทุนนิยมเสรีมาใช้กับประเทศสังคมนิยมแบบจีน อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่เกิดจากค่านิยมที่ขัดกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของจีน

 

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากมาตรการภาครัฐสูง KKP Research มองว่าคือกลุ่มเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่มีการผูกขาดและสะสมข้อมูลที่มีความสำคัญ กลุ่ม Fintech ที่อาจกระทบเสถียรภาพทางการเงิน กลุ่มการศึกษาและสุขภาพที่อาจถูกควบคุมราคา หรือกลุ่มเกมและงานบันเทิงที่อาจบั่นทอนผลิตภาพของเยาวชนในระยะยาว 

 

ทั้งนี้ KKP Research จึงประเมินว่านโยบาย Common Prosperity จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ดังนี้

 

  1. เศรษฐกิจระยะสั้นมีแนวโน้มชะลอตัวลง มาตรการต่างๆ เช่น นโยบายควบคุมการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในปีหน้า เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์มีความสำคัญอย่างยิ่งและมีขนาดใหญ่ถึง 28.7% ของเศรษฐกิจจีนทั้งหมด 

 

  1. ผลกระทบต่อการเติบโตระยะยาว การที่ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจของภาคธุรกิจเอกชนมากยิ่งขึ้นอาจสร้างความไม่แน่นอนและลดทอนความมั่นใจของธุรกิจเอกชน และอาจส่งผลกระทบต่อจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Spirit) ซึ่งจะเป็นปัจจัยด้านลบต่อโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

 

  1. จากเติบโตด้วยการลงทุนเป็นเติบโตด้วยการบริโภค รัฐบาลจีนพยายามเปลี่ยนเครื่องยนต์ในการเติบโตไปเป็นภาคการบริโภคมากขึ้นผ่านนโยบาย Dual Circulation ที่จะเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากยิ่งขึ้น การปรับสมดุล (Rebalancing) ในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้า 

 

ทั้งนี้ KKP Research ประเมินว่า หากการลงทุนในจีนชะลอตัวลงในขณะที่การเติบโตของภาคการบริโภคเร่งตัวขึ้นในอัตราที่เท่ากัน ธุรกิจที่การส่งออกมูลค่าเพิ่มพึ่งพาภาคการลงทุนในจีน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เครื่องจักรกล อุปกรณ์การคมนาคม ไฟแนนซ์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับผลกระทบในด้านลบจากการเปลี่ยนโมเดลการเติบโตของจีน ในขณะที่ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์ คือธุรกิจที่การส่งออกมูลค่าเพิ่มพึ่งพาภาคการบริโภค ได้แก่ ภาคการเกษตร ผลิตภัณฑ์เคมีและยา การค้าปลีกและค้าส่ง และผลิตภัณฑ์อาหาร

 

สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยมีดังต่อไปนี้

 

  1. ด้านการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะสั้นจะทำให้ความต้องการในการนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะจากประเทศแถบอาเซียน เอเชีย และประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ ประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกมูลค่าเพิ่มไปยังภาคการลงทุนหรือภาคการบริโภคของจีนสูงจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนภายในประเทศมากกว่าประเทศที่เน้นการส่งออกมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกของจีน จากข้อมูล OECD TiVA (Trade in Value-Added) จะพบว่า ไทยมีการส่งออกมูลค่าเพิ่มไปยังภาคการลงทุนหรือภาคการบริโภคในสัดส่วนสูง โดยคิดเป็น 5.6% ของ GDP

 

  1. ด้านการเงิน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะทำให้ FDI จากจีนที่ก่อนหน้านี้ก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการค้าของไทยและจีน ได้แก่ ภาคยางและพลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วน การค้าส่งและค้าปลีก รวมไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ 

 

  1. ด้านการท่องเที่ยว ด้วยความที่รัฐบาลจีนต้องการทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์หลัก แต่ก็ยังกังวลเรื่องการเกิดภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากจะทำให้ระดับของหนี้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การลดการขาดดุลภาคบริการอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการบรรลุเป้าหมายก็เป็นได้ หนึ่งในวิธีการที่ภาครัฐอาจใช้ในการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศของจีนคือการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งถ้าหากจีนประสบความสำเร็จในการดึงดูดให้คนเที่ยวในประเทศก็จะมีผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมายังไทยลดลงในระยะยาว และไม่กลับไปยังระดับ 11 ล้านคนก่อนที่การระบาดของโควิดจะเกิดขึ้น

 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising