×

KKP หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 1.7% จากเดิม 2.3% จะกลับไปเห็นโต 3% อีกครั้งต้องปฏิรูปโครงสร้าง

16.05.2025
  • LOADING...

KKP Research ปรับ GDP ลงเหลือ 1.7% ในปี 2568 ซึ่งลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่ 2.3% ส่วนหนึ่งสะท้อนผลจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ต่อการส่งออก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจบริโภคและลงทุน 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนภาพกลับไปไกลกว่านั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยสูงเกินไปมาตลอด ซึ่งสะท้อนสองเรื่องสำคัญ คือ 

 

  1. เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราว แต่เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ไม่ฟื้นขึ้นมาเองเมื่อเวลาผ่านไป 

 

  1. ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดกระทบเศรษฐกิจระหว่างปีและเศรษฐกิจโตได้ต่ำกว่าที่คาด

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยไม่นับรวมภาคการท่องเที่ยวอยู่ในภาวะถดถอยไปแล้ว ช่วงหลังโควิดเศรษฐกิจไทยได้รับแรงส่งหลักจากภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอดตามฐานการท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงการระบาดของโควิด แต่หากไม่นับรวมการท่องเที่ยว จะพบว่าเศรษฐกิจไทยในส่วนที่เหลือหดตัวมาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2022 และกลับมาโตเป็นบวกเล็กน้อยแตะระดับ 0% ในช่วง 2 ไตรมาสล่าสุด 

 

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบต่อเนื่องสะท้อนว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ของไทยที่ไม่รวมการท่องเที่ยว เช่น ภาคอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจในประเทศอาจเรียกว่าอยู่ในภาวะถดถอยไปแล้ว ซึ่งสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว

 

ในปี 2568 เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยทั้ง 3 ส่วน คือ ภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร กำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงพร้อมๆ กัน คือ

 

1. แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวกำลังจะหายไปในปีนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมาข้อมูลสะท้อนว่าแนวโน้มการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวกำลังชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมาและนิยมไปเที่ยวประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น แทนการมาท่องเที่ยวไทย 

 

ส่งผลให้การท่องเที่ยวที่เคยเป็นแรงส่งหลักทั้งหมดของเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2022 – 2567 จะเริ่มไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากนักในปีนี้ โดย KKP ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 36.2 ล้านคน เทียบกับปีก่อนที่ 35.6 ล้านคน หรือโตขึ้นเพียง 6 แสนคนเท่านั้น และมีความเสี่ยงจะลดลงได้

 

2. ภาคอุตสาหกรรมเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อยู่ในทิศทางติดลบมาโดยตลอดอยู่แล้วโดยหดตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2022 โดยนักวิเคราะห์หวังว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้บ้างในปีนี้ แต่การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ ฯ จะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมที่ทำให้เห็นการฟื้นตัวได้ยากซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นหลัก

 

3. ภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากข้อมูลการส่งออกภาคเกษตรที่หดตัวลงแรงโดยเฉพาะข้าวหลังอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวได้ในปีนี้ โดยการส่งออกข้าวขาวติดลบเกือบ 30% ในช่วงไตรมาสแรก รายได้ที่ชะลอตัวลงในภาคเกษตรจะส่งผลต่อเนื่องให้การบริโภคในประเทศชะลอลง

 

ทำไมไทยจะไม่กลับไปโต 3%

 

KKP ประเมินภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจากข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งอุปทานว่าค่อนข้างยากที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปเติบโตที่ 3% แม้จะไม่มีมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ก็ตาม 

 

เพื่อที่จะรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจให้ใกล้เคียง 3% สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น ได้แก่ 

 

กรณีแรก ภาคการท่องเที่ยวจะต้องขยายตัวมากถึงปีละประมาณ 7-10 ล้านคน เหมือนช่วงที่จีนเข้ามาท่องเที่ยวไทยใหม่ๆ หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังไทยต้องขยายตัวไปถึงประมาณ 70 ล้านคนในปี 2030 เพื่อชดเชยกับภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลง

 

กรณี 2 ภาคการผลิตไทยต้องกลับไปเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 5% เหมือนในช่วงปี 2000 ก่อนที่การท่องเที่ยวจะขยายตัวก้าวกระโดด ซึ่งเป็นไปได้ยากเมื่อพิจารณาการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในช่วงหลังโควิดที่โตได้เฉลี่ยเพียง -0.59% ต่อปี 

 

กรณี 3 การใช้ภาคเกษตรเป็นตัวนำทางเศรษฐกิจ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เพราะมีขนาดที่เล็กเกินไปเพียงประมาณ 8% ของ GDP นอกจากนี้ในปัจจุบันการส่งออกในภาคเกษตรที่เติบโตติดลบในปี 2568 เนื่องจากข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับข้าวอินเดียได้

 

KKP Research ประเมินว่าภาครัฐต้องไม่ยึดติดกับการทำนโยบายแบบเดิมๆ และควรต้องมีการประสานด้านนโยบาย ตัวอย่างที่น่าสนใจคือบทเรียนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด Abenomics เพื่อตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยืดเยื้อถูกจัดวางภายใต้กรอบ ‘ลูกศรสามดอก’ ประกอบด้วย นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายที่เน้นเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ นโยบายการคลังแบบขยายตัว และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ 

 

บทเรียนของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีความครบถ้วนทั้งในมิติของระยะสั้นและระยะยาว และต้องมีทั้งนโยบายด้านอุปสงค์และนโยบายด้านโครงสร้าง การใช้นโยบายการเงินหรือการคลังเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของเศรษฐกิจได้ หากขาดการปฏิรูปเชิงโครงสร้างควบคู่กันไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising