×

KKP เผย 3 อุตสาหกรรมถูกจีนแย่งตลาดหนักสุด ‘ยานยนต์ เหล็ก ปิโตรเคมี’ แรงงานภาคยานยนต์เสี่ยงตกงานกว่า 7 แสนคน!

02.09.2024
  • LOADING...
KKP

การส่งออกเป็นภาคส่วนที่ใหญ่มากของเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของ GDP และในช่วงที่การส่งออกเติบโตดี สัดส่วนต่อ GDP เคยพุ่งขึ้นไปมากถึง 60% แต่หลังจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ​ และจีนเริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2015-2016 ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าของไทยเริ่มทรงตัว แต่ยังคงเกินดุลการค้า แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยเริ่มขาดดุลการค้าต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

ไทยขาดดุลการค้าจีนกว่า 1 ล้านล้านบาท

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า จากข้อมูลการส่งออกของไทยเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ว่าการส่งออกจะเติบโต 15% แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือไทยกลับขาดดุลการค้ามากขึ้นเป็นเกือบ 2 พันล้านบาท

 

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้ามากขึ้นในระยะหลังเป็นผลจากการเข้ามาตีตลาดของอุตสาหกรรมจีน

 

ตัวเลขการส่งออกสุทธิและนำเข้าสุทธิกับจีนในช่วงก่อนปี 2010 เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน Net Export กับ Import ก่อน 2010 เรากับจีนส่งออกนำเข้าพอๆ กัน แต่หลังจากนั้นไทยเริ่มขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้น จน ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ย้อนหลังไป 12 เดือน ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าสุทธิ 7.47 หมื่นล้านดอลลาร์ และส่งออกสุทธิ 3.42 หมื่นล้านดอลลาร์

 

3 อุตสาหกรรมรับผลกระทบหนักสุด

 

ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ยานยนต์ ปิโตรเคมี รวมทั้งเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งเดิมทีจีนเป็นตลาดส่งออกหลักของทั้ง 3 อุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้มากขึ้น

 

อย่างกรณีของยานยนต์ จากเดิมไทยผลิตเกือบ 100% ในประเทศ มีการจ้างงานราว 7-8 แสนคน แต่ระยะหลังเริ่มเห็นสัญญาณลบจากทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกระทบต่อการยอดขายราว 20% ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จีนเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดไปอีกราว 20%

 

“เราเริ่มเห็นผลกระทบจากการที่บริษัทอย่าง Suzuki และ Subaru ปิดโรงงานในไทย รวมทั้งบริษัทขนาดเล็กที่อยู่ใน Supply Chain เดิมถูกกดดันมากขึ้น”​

 

การเปลี่ยนของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคตส่งผลให้แรงงานกว่า 7 แสนคน เสี่ยงตกงาน ทั้งในกลุ่มของผู้ประกอบยานยนต์ 25 บริษัท จ้างงาน 1 แสนคน ผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier 1 มากกว่า 700 บริษัท จ้างงาน 2.5 แสนคน และผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier 2 และ Tier 3 จ้างงาน 3.4 แสนคน

 

ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจในประเทศจีนชะลอตัว จนทำให้เกิดภาวะอุปทานส่วนเกิน ทำให้ผู้ผลิตชาวจีนต้องส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าไทยนำเข้าสินค้าจากจีนในราคาที่ต่ำลงแต่ปริมาณมากขึ้น

 

3 สาเหตุที่ไทยขาดดุลการค้าจีนมากขึ้น

 

  1. Rerouting หรือการนำเข้าสินค้าจีนเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ
  2. Relocation หรือการย้ายฐานผลิตมาไทยและส่งออกไปยังสหรัฐฯ​ และประเทศอื่นๆ
  3. Import Competition หรือการเข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น

 

ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากมีกำแพงภาษีเกิดขึ้น ทำให้จีนต้องใช้ไทยเป็นหนึ่งในฐานในการส่งออก จะเห็นว่ามูลค่าสินค้าที่นำเข้าจากจีนและสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐฯ​ เพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน

 

ขณะเดียวกันหลังจากสงครามการค้าจะเห็นว่าไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นเช่นกัน

 

“จาก 3 สาเหตุข้างต้น ไทยอาจจะได้ประโยชน์บ้างในส่วนของ Relocation แต่ก็อาจจะไม่ได้มากนัก อย่างกรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์หากเทียบกับการย้ายฐานของบริษัทญี่ปุ่นในอดีตที่ใช้ Supply Chain ในไทยเป็นส่วนใหญ่”

 

อีกมุมที่ต้องตั้งคำถามคือสินค้าจีนที่เข้ามาแข่งขันในไทยมากขึ้น เป็นธรรมกับผู้ประกอบการในไทยหรือไม่ ทั้งการพิจารณาเงื่อนไขการทุ่มตลาด รวมทั้งคุณภาพของสินค้าว่าอยู่บนมาตรฐานเดียวกันกับผู้ประกอบการไทยหรือไม่

 

ทางออกของปัญหา

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ดร.พิพัฒน์ มองว่า ไทยควรบังคับใช้ให้บริษัทต่างชาติผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศอย่างน้อย 40% ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมเดิมปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่

 

แต่ประเด็นที่สำคัญและเป็นสิ่งที่ไทยต้องเร่งพัฒนามากที่สุดคือ การขาดแรงงานที่มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งการผลักดันนโยบายในการดึงแรงงานที่มีทักษะจากต่างชาติเข้ามามากขึ้น

 

“โจทย์ของไทยคือต้องเพิ่ม Productivity ต่อแรงงาน และขายของให้ได้มูลค่าสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยให้อุตสาหกรรมดั้งเดิมสามารถปรับตัว แต่ต้องไม่ใช่การปกป้องอย่างเดียว เพราะเมื่อประเทศพัฒนาไปข้างหน้า อุตสาหกรรมก็ต้องเปลี่ยนไปตามการพัฒนา สิ่งสำคัญคือต้องหาว่าเราเก่งอะไร”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X