×

EXCLUSIVE: กิตติรัตน์ยืนยัน ดอกเบี้ยนโยบายไทย ‘สูงเกินไป’ มอง Fund Flow ต่างชาติไม่จำเป็น เหตุทุนสำรองแกร่งพอ เตือนแบงก์ชาติดำเนินนโยบายผิดพลาดอาจนำไปสู่วิกฤต

12.01.2024
  • LOADING...
กิตติรัตน์ ณ ระนอง

กิตติรัตน์มอง อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% สูงเกินไปในช่วงที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ชี้ Fund Flow ต่างชาติไม่จำเป็น เหตุทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศไทยแข็งแกร่งเพียงพอ มองภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงสำคัญกว่าตลาดการเงิน เตือนแบงก์ชาติดำเนินนโยบายผิดพลาดอาจนำไปสู่วิกฤต

 

กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ The Secret Sauce โดยยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ซึ่งถูกกำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ‘สูงเกินไป’ เมื่อเทียบกับศักยภาพลูกหนี้ พร้อมทั้งกล่าวเตือนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจได้

 

“การที่เราไม่กำกับดูแลอัตราดอกเบี้ยที่มันทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ จะกลายเป็นปัญหา เรามีหนี้ครัวเรือนสูงเมื่อเทียบกับ GDP แล้วหนี้ครัวเรือนที่สูง เมื่อไรก็ตามที่มีการขยับฐานดอกเบี้ย ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มาก จะเกิดปัญหาความสามารถในการชำระหนี้”

 

นอกจากนี้กิตติรัตน์ยังมองว่า การควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุนที่สูงขึ้น (Cost-Push Inflation) ไม่ควรจัดการด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมทั้งอธิบายว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยควบคุมเงินเฟ้อเพียงประเภทที่มาจากความต้องการสินค้าและบริการที่สูงขึ้น (Demand-Pull Inflation) หรือเงินเฟ้ออันเกิดจากอุปสงค์ร้อนแรง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไทยไม่ค่อยได้เห็นมากนัก

 

“(อัตราเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุนที่สูงขึ้น) จัดการไม่ได้ด้วยดอกเบี้ยหรอกครับ แล้วถ้าคิดจะไปจัดการด้วยดอกเบี้ย ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนอีกตัวหนึ่งเหมือนกัน การพยายามแก้ด้วยดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะกลายเป็นพยายามผลักให้ดอกเบี้ยเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายยิ่งสูงขึ้นไปใหญ่” กิตติรัตน์กล่าว

 

ชี้ Fund Flow ต่างชาติไม่จำเป็น เหตุทุนสำรองไทยแกร่งเพียงพอ

 

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ระบุว่า แรงกดดันของรัฐบาลที่ต้องการให้ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจทำให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ กว้างขึ้น และทำให้กระแสเงินทุน (Fund Flow) ต่างชาติไหลออกจากประเทศไทยต่อเนื่องไปหาประเทศที่มีผลตอบแทนสูงกว่า และจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีก

 

กิตติรัตน์กลับมองว่า กระแสเงินทุน (Fund Flow) ต่างชาติไหลไม่ได้มีความจำเป็น เนื่องจากไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในอัตราที่เพียงพอแล้ว โดยกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากประเทศไม่ใช่เรื่องร้ายแรงและเป็นเรื่องที่ดีด้วย เนื่องจากเป็นกลไกที่ถูกวางไว้ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดบางเดือน เป็นการทำให้บาทอ่อน เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกก็สามารถแข่งขันในตลาดได้

 

“ถ้าจะพูดถึงแบบกันเองนะ (Fund Flow) ไปเสียบ้างก็ดี เพราะเงินเหล่านั้นมันไม่ได้มีความจำเป็นอะไรนักหนา เนื่องจากเวลาเรามีเงินสำรองระหว่างประเทศน้อย (Fund Flow) ก็จำเป็นถูกไหมครับ แต่เวลาเรามี (เงินสำรองระหว่างประเทศ) มากพอ ส่วนที่มากเกินพอ นอกจากจะไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นภาระด้วย” กิตติรัตน์ระบุ

 

มองภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงสำคัญกว่าตลาดการเงิน

 

กิตติรัตน์ยังมองว่า “ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงผมว่าสำคัญมากกว่าภาคตลาดการเงินนะ สิ่งสำคัญก็คือธุรกิจและเศรษฐกิจต้องแข็งแรง ถ้าหากว่าเศรษฐกิจในประเทศมันอ่อนแอ เพื่อแลกกับการที่เงินจะได้ไม่ไหลออกหรือไหลออกช้าจะคุ้มกันไหมกับเงินส่วนใหญ่ ซึ่งเขาต้องการอยู่ในประเทศนี้ในระยะยาว แล้วก็ต้องการจะเห็นเศรษฐกิจมันมีความแข็งแรง ธุรกิจมีความแข็งแรง คนมีความมั่นใจ มีงานทำ การอุปโภคบริโภคก็จะเป็นไปตามปกติ”

 

เตือนแบงก์ชาติ ดำเนินนโยบายผิดพลาดอาจนำไปสู่วิกฤต

 

กิตติรัตน์กล่าวเตือนแบงก์ชาติอีกว่า การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจตอนกลางปี 2540 มาแล้ว เพราะฉะนั้นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจถ้าถูกต้อง ความเสียหายก็จะไม่เกิดมากนัก แต่เมื่อไรที่เราดำเนินนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด ความเสียหายมันก็เกิด ดังนั้นการตัดสินใจทางนโยบายเศรษฐกิจไม่ว่าจะนโยบายการคลังหรือนโยบายการเงินจึงมีความสำคัญ

 

“สิ่งที่ผมมอง เราต้องดูบริบทของเราด้วยว่าสภาพสภาวะทางการคลังการเงินของเราเป็นอย่างไร อย่างเช่น ในปี 2540 ที่เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศน้อย หนี้ครัวเรือนไม่สูง แต่กลายเป็นหนี้ของภาคธุรกิจสูงหรือหนี้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สูง ธนาคารมีทุนไม่เข้มแข็งมากนัก

 

“การจะบริหารให้พอดีเป็นเรื่องสำคัญ การบอกว่าเราจะรักษาวินัยการเงินและเงินเฟ้อต้องต่ำก็แปลว่าเรากลัวเศรษฐกิจจะโต เพราะเดี๋ยวถ้าเศรษฐกิจโตมันจะดูร้อนแรง เงินเฟ้อจะขึ้น” กิตติรัตน์กล่าว

 

รับชมสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในรายการ The Secret Sauce 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising