×

รอง ผบ.ตร. ย้ำมาตรการดูแลอาชญากรรมช่วงน้ำท่วม ส่งสายตรวจลงพื้นที่-ตั้งจุดรับแจ้งเหตุ เข้มจับโจรไม่ให้ซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชน

โดย THE STANDARD TEAM
17.09.2024
  • LOADING...
อาชญากรรม

วันนี้ (17 กันยายน) พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่ประสบเหตุอุทกภัยหลายพื้นที่ในประเทศ ณ เวลานี้

 

พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ตนได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเห็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีความเสียหายมาก ทั้งนี้ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ให้ปฏิบัติตาม 7 มาตรการป้องกันอาชญากรรมอย่างเคร่งครัด โดยเน้นหนักเรื่องการส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจเข้าไปตามหมู่บ้านและบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ต้องรอให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเดินทางมาหา

 

ขอให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ส่วนนี้เข้าไปพูดคุยซักถาม สิ่งที่จะได้คือข้อมูลความเดือดร้อนหรือภัยที่ได้รับจากมิจฉาชีพ หากตำรวจได้ข้อมูลส่วนนี้มาก็ได้สั่งการย้ำให้ผู้บัญชาการทุกระดับต้องนำข้อมูลชุดนี้มาประชุมทั้งช่วงเช้าและเย็น เพื่อวางแผนปฏิบัติงานต่อไป

 

พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวต่อว่า ในลำดับต่อไปคือการเปิดจุดรับแจ้งเหตุชั่วคราวส่วนหน้า ซึ่งจุดนี้จะไม่อยู่กับที่ถาวร แต่จะต้องเคลื่อนย้ายไปยังจุดที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและจุดที่ได้รับผลกระทบมากๆ ให้ได้ ข้อมูลที่ได้จะนำส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชาและพนักงานสอบสวนลำดับต่อไป

 

ประเด็นมิจฉาชีพ ย้ำว่าตำรวจต้องจับกุมให้ได้ เพราะการกระทำเหล่านี้ถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จน ณ ขณะนี้ที่ตนได้รับข้อมูลคือ มีบุคคลแปลกหน้าเข้าไปในพื้นที่และพยายามที่จะโจรกรรมทรัพย์สิน ส่วนการโจรกรรมที่สำเร็จแล้วยังไม่ได้รับรายงาน แต่จะเร่งรวบรวมข้อมูลในวันนี้

 

พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีผู้ที่รับผิดชอบแต่ละด้านอยู่แล้ว เราในฐานะผู้บังคับบัญชาระดับสูงถือเป็นหน้าที่ต้องดูแลที่ต้องร่วมกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่อยากขอความร่วมมือประชาชน หากประสบเหตุภัยพิบัติให้คิดถึงสวัสดิภาพชีวิตของตัวเองเป็นสำคัญ เรื่องทรัพย์สินให้เป็นรอง ขอให้เอาชีวิตรอดก่อน ส่วนความปลอดภัยต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแลให้ดีที่สุด

 

ในส่วน 7 มาตรการที่ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรมที่จะเกิดกับประชาชนช่วงเหตุอุทกภัย ประกอบด้วย

 

  1. เพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุอาชญากรรมในลักษณะเป็นการซ้ำเติมประชาชน เพิ่มกำลังสายตรวจทั้งทางบกและทางน้ำ และชุดช่วยเหลือประชาชน ออกปฏิบัติการในพื้นที่ประสบอุทกภัย

 

  1. ปรับแผนการตรวจ การจัด และควบคุมสายตรวจทุกประเภท ให้เหมาะสมกับพื้นที่และห้วงเวลา โดยประสานความร่วมมือทั้งด้านข้อมูลและการปฏิบัติกับฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และอาสาสมัคร บูรณาการร่วมกันออกตรวจ ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ป้องกันไม่ให้กลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสในการลักทรัพย์สินหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์ในพื้นที่ชุมชนเมืองหรือพื้นที่ที่ไม่ได้ประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งอาจมีผู้คนอพยพเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก อันอาจมีกลุ่มมิจฉาชีพแฝงตัวเข้าไปก่อเหตุอาชญากรรมต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยงและจุดล่อแหลม โดยการเพิ่มความเข้มและความถี่ในการออกตรวจเป็นพิเศษ

 

  1. ตั้งจุดตรวจบุคคล ยานพาหนะ ในเส้นทางล่อแหลมหรือเส้นทางที่คาดว่าคนร้ายจะใช้เป็นเส้นทางหลบหนี โดยมุ่งเน้นการตรวจสอบอาวุธ วัตถุต้องสงสัย และยาเสพติด

 

  1. จัดทำแผนเผชิญเหตุคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ธนาคาร ร้านทอง ตู้บริการเงินสด (ATM) ตู้เติมเงิน ย่านธุรกิจการค้า โดยกำหนดจุดตรวจ/จุดสกัดเคลื่อนที่ จุดก้าวสกัดจับที่ชัดเจน มีการทบทวนและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

 

  1. ให้หัวหน้าหน่วยกำกับดูแลการปฏิบัติด้วยตนเอง ทั้งด้านการช่วยเหลือข้าราชการตำรวจและครอบครัว การดูแลและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุ และการปฏิบัติตามข้อสั่งการอย่างใกล้ชิด รวมถึงพิจารณาเปิดพื้นที่สถานีตำรวจ จุดตรวจ ตู้ยาม เป็นสถานที่พักพิงของผู้ประสบภัยชั่วคราว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ดูแลรักษาความปลอดภัย และเป็นการป้องกันภัยที่เกิดจากการก่อเหตุอาชญากรรมต่างๆ ได้

 

  1. ให้หน่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงกลุ่มมิจฉาชีพที่อาจฉวยโอกาสในการก่ออาชญากรรม เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการโจรกรรมทรัพย์สินและประทุษร้ายต่อทรัพย์ในพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งแนะนำช่องทางการแจ้งเหตุ แจ้งเบาะแสอาชญากรรมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ ทางสายด่วน 191 หรือ 1599 หรือช่องทางการสื่อสารกับสถานีตำรวจในพื้นที่โดยตรง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ภัยพิบัติและประกาศแจ้งเตือนของหน่วยราชการที่เกี่ยวกับอุทกภัยในพื้นที่

 

  1. ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดอย่างใกล้ชิด โดยกำหนดผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising