กิตติรัตน์กระทุ้ง กนง. ควรลดดอกเบี้ยให้เร็วและมาก สกัดหายนะประเทศ เรียกร้องแบงก์หั่นส่วนต่างดอกเบี้ย ลดดอกกู้ช่วยลูกหนี้ พร้อมออกตัวนั่งประธานบอร์ด ธปท. เป็นตัวกลางเชื่อมการใช้นโยบายการเงินและการคลังร่วมกันมากขึ้น
กิตติรัตน์ ณ ระนอง ว่าที่ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) กล่าวในงานเสวนาของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในหัวข้อ ‘50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับความท้าทายในยุคสมัย’ ในฐานะอดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 9 ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ตนเคารพการตัดสินใจของกรรมการ กนง. ทั้ง 7 คน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สนใจมากกว่าคือดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะดอกเบี้ยนโยบายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลไกตลาดเงิน ซึ่งมีผลต่อตลาดน้อย ขณะที่ในตลาดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 24-30 ต่อปี หรือแม้แต่บัตรเครดิตที่คิดเพดานดอกเบี้ย 16% ต่อปี หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้จะถูกปรับดอกเบี้ยจ่ายผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งก็จ่ายไม่ไหวอยู่แล้ว
“เพราะฉะนั้นจะต้องหยิบมาคุยกันว่า คุณทำธุรกิจได้กำไรเยอะจากการคิดดอกเบี้ยสูงไป ควรจะปรับ (ส่วนต่างดอกเบี้ย) แคบลงมา ขณะที่หากคุณคิดดอกเบี้ยที่ลดลงจะช่วยทำให้หนี้เสียน้อยลง การตั้งสำรองก็น้อยลง และยังทำให้คุณดึงตัวตั้งสำรองกลับมาเป็นรายได้อีกด้วย แบงก์ก็สามารถทำกำไรได้ดีขึ้น”
สำหรับการคงดอกเบี้ยนโยบายรอบล่าสุดเหมาะสมหรือไม่ กิตติรัตน์ตอบว่า “ผมโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2566 พูดสั้นๆ ว่า การลดดอกเบี้ยให้เร็วและมากคือหนทางป้องกันหายนะ จนถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานบอร์ด ธปท. ความเชื่อในเรื่องนั้นของผมก็ยังอยู่เหมือนเดิม วันนี้ (ธปท.) ก็ลดดอกเบี้ยไม่ได้เร็ว ไม่แรง ธนาคารก็ไม่ได้ลดดอกเบี้ยกู้มากด้วย”
ส่วนปี 2568 ประเมินว่า กนง. ควรปรับลดดอกเบี้ยที่เหมาะสมเท่าไร กิตติรัตน์กล่าวว่า “จากการอ่านผ่านข่าวที่ กนง. เผยแพร่รอบล่าสุด ซึ่งระบุว่า ปี 2568 สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในทิศทางที่ดี เครื่องมือที่มี (ดอกเบี้ย) ต้องเก็บไว้ในอนาคต เพื่อไว้รักษาโรค (เศรษฐกิจ) ซึ่งตอนที่โพสต์เฟซบุ๊กในปี 2566 ก็ดูเหมือนจะไร้น้ำยา เพราะอยากเห็นการลดดอกเบี้ยให้เร็วและมากตั้งแต่ปีที่แล้ว (2566) ก็ยังไม่เห็น มาปีนี้ก็ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นปีหน้าค่อยมาดูกันอีกที”
สำหรับเศรษฐกิจไทยที่โตเอื่อยๆ เป็นเวลานาน 10 ปี กิตติรัตน์กล่าวว่า ตนมีความเป็นห่วง หากไม่แก้ไขเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง ไทยจะกลายเป็นประเทศที่คนจบการศึกษาใหม่ไม่มีงานทำ หรือคนที่มีงานอาจต้องสูญเสีย เนื่องจากภาคธุรกิจไม่ได้มีการปรับตัว ซึ่งจะกระทบรายได้และภาระหนี้ครัวเรือนที่อาจเพิ่มขึ้น กลายเป็นปัญหาพัวพัน ดึงเศรษฐกิจให้ตกต่ำลงไปอีก
ข้อเสนอแนะคือ หากต้องการผลลัพธ์ใหม่ ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ใช้คำว่า ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ ไม่ได้หมายความว่าคาดหวังกับนโยบายการเงินและการคลังเท่านั้น แต่จำเป็นต้องทำเรื่องต่างๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิมแทบจะทุกแง่มุม ทั้งการเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ เป็นเรื่องที่ต้องทำ
กิตติรัตน์กล่าวถึงกรณีที่มีความกังวลว่าไทยเสี่ยงเกิด The Lost Decade หรือทศวรรษที่สูญหายหรือไม่ และควรมีทางออกอย่างไรว่า ญี่ปุ่นก้าวออกจากคำว่า The Lost Decade เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ตอนที่ คุโรดะ จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้ามารับหน้าที่ประธานธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้เงินเยนอ่อนค่า เพื่อสามารถแข่งขันได้ในการผลิตเพื่อการส่งออก และเพื่อให้การเดินทางเข้าท่องเที่ยวในญี่ปุ่นถูกลงจากในยุคที่ค่าเงินเยนแข็งค่า
ดังนั้นนโยบายเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยออกจาก The Lost Decade ได้ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาสังเกตได้ว่า ธปท. ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่า หากเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าในรอบ 2 ทศวรรษพบว่า ประเทศอื่นๆ ไม่ยอมให้ค่าเงินแข็งค่าขนาดนี้ ซึ่งแม้จะดีต่อภาคการนำเข้า แต่ GDP โตช้า และหากปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่าก็จะสามารถขายสินค้าได้แพงขึ้น คนไทยจะมีรายได้มากขึ้น เศรษฐกิจจะดีขึ้นได้
กิตติรัตน์ตอบคำถามกรณีที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. ว่าอยากจะทำอะไรเป็นอย่างแรกว่า ตนทราบเรื่องการเสนอชื่อตัวเองผ่านสื่อ ยอมรับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าวและการตรวจสอบคุณสมบัติของตน ส่วนคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอย่างไรก็เป็นเรื่องของขั้นตอนดำเนินการ อย่างไรก็ตาม หากเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. ตนพร้อมที่จะทำงานกับคณะกรรมการทั้ง 3 ชุดของธปท. ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ตลอดจนทำงานร่วมกับผู้ว่าการ ธปท. และรองผู้ว่าการ ธปท. โดยตนคิดว่า เมื่อมีโอกาสทำหน้าที่ดังกล่าว ก็ทำสิ่งที่ดีและยึดหลักธรรมาภิบาล, ตั้งใจ, ซื่อสัตย์, โปร่งใส, เป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และคำนึงถึงความเสี่ยงในการบริหารงาน
ต่อคำถามที่ว่า จะเป็นโซ่กลางในการใช้นโยบายการเงินและการคลังอย่างไร กิตติรัตน์กล่าวว่า ปัจจุบันนโยบายการคลังกำลังตึงตัว เนื่องจากมีหนี้สาธารณะสูง ดังนั้นในปีหน้าควรใช้นโยบายการเงิน ซึ่งจะมีประสิทธิภาพกว่าการคลัง หากตนเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. จะทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานทั้งสองฝั่ง อย่างไรก็ตาม การเข้ามาทำงานของตนไม่สามารถที่จะแทรกแซงได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ ทำได้เพียงแทรกแซงทางความคิด เอาข้อมูลต่างๆ มาหารือกัน เพื่อหาแนวทางดำเนินการ
“การแทรกแซงของตนเป็นเพียงการแทรกแซงทางความคิดมากกว่า เพราะตำแหน่งของตนไม่ได้มีอำนาจจะสั่งการใดๆ ได้ ผมมีหน้าที่เป็นตัวเชื่อมให้ทั้งสองฝั่งทำงานร่วมกันได้”
เสนอตลาดหุ้นไทยควรห้าม Short Sale แบบชั่วคราว พร้อมแนะปรับ Fee ใหม่
สำหรับตลาดหุ้นไทย กิตติรัตน์ให้ความคิดเห็นต่อการห้าม Short Sale ในตลาดหุ้นไทยว่า ในสมัยตนเป็นผู้จัดการตลาดก็ไม่ได้มีการทำ Short Sale กัน แต่ต่อมามี Short Sale มากขึ้น ถามว่าควรห้ามหรือไม่ ควรจะยกเลิกการห้าม Short Sale หรือไม่ คิดว่าน่าจะหารือเพื่อทบทวน หรือยกเลิกชั่วคราว เหมือนตลาดหุ้นเกาหลีที่ยกเลิกการห้าม Short Sale แบบชั่วคราว
นอกจากนี้ยังเสนอให้ปรับค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Fee) เนื่องจากปัจจุบันตลาดแข่งขันกันสูงจนกด Fee ต่ำมาก
ภาพ: THE STANDARD, primeimages / Getty Images