×

ในวันที่ฝนพร่างพราย ละครน้ำดี กับความท้าทาย จะทำอย่างไรไม่ให้เป็น ‘ละครคุณธรรม’

14.06.2024
  • LOADING...
ในวันที่ฝนพร่างพราย

ถ้าเมื่อปีที่แล้วละครเรื่อง มาตาลดา พิสูจน์ว่าเรื่องหนักๆ ก็เอามาทำเป็นละครสนุกได้ ในปีนี้ในวันที่ฝนพร่างพราย ก็กำลังเดินตามทางนั้น เพราะแม้จะออกอากาศมาเพียง 4 ตอน แต่ด้วยเนื้อหาตีแผ่ปัญหาครอบครัวแบบครบทุกมิติ เรียงร้อยไปกับเรื่องราวความรักฉบับคนธรรมดา ก็เรียกได้ว่าน่าติดตาม แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความท้าทายว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เนื้อหาดีๆ ออกมาเป็นละครคุณธรรมที่ได้ดูกันในโลกออนไลน์

 

ในวันที่ฝนพร่างพราย

 

ในวันที่ฝนพร่างพรายคือเรื่องราวของ ปลายฝน (แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์) นักสังคมสงเคราะห์สาวที่ทุ่มเทชีวิตให้กับการช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงทั้งผู้หญิงและเด็ก วันหนึ่งเธอได้เจอกับ ไม้ หรือมาวิน (มาริโอ้ เมาเร่อ) เด็กหนุ่มที่พาแม่หนีจากพ่อขี้เมาที่ทำร้ายทั้งเขาและแม่มาตั้งแต่จำความได้ ปลายฝนคอยให้คำแนะนำไม้ จนชีวิตเขาเริ่มดีขึ้น แต่แล้วแม่ของเขากลับฆ่าตัวตาย ที่แย่ไปกว่านั้นพ่อยังหาว่าเขาเป็นคนฆ่าแม่ไปอีก

 

ที่พึ่งเดียวของไม้คือมูลนิธิ โดยมีปลายฝนเป็นเหมือนกำลังใจให้เขา จนเกิดเป็นความรู้สึกดีๆ ในขณะที่ปลายฝนก็เริ่มรู้สึกกับไม้มากกว่ารุ่นน้องธรรมดา วันหนึ่งไม้บอกความในใจกับปลายฝน แต่เธอก็ต้องปฏิเสธไป เพราะมีปมในใจจากอดีต ทำให้ไม้เสียใจมากและหายหน้าไปจากชีวิต 7 ปี และกลับมาในฐานะทนายอาสาประจำมูลนิธิ ทำให้ทั้งคู่ได้กลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง พร้อมๆ กับการสะสางปัญหาครอบครัวของเหยื่อในมูลนิธิ และปลดล็อกปมในใจของปลายฝนให้กลับมามีความรักได้อีกครั้ง

 

ในวันที่ฝนพร่างพราย

 

ในวันที่ฝนพร่างพรายเปิดฉาก 3 ตอนแรกอย่างน่าสนใจ ด้วยการเล่าถึงที่มาที่ไปของ 3 ตัวละครหลักผู้ล้วนมีปมจากอดีต เริ่มจากเด็กสาวคนหนึ่งที่ได้รับการอุปการะจากชายรุ่นพ่อ จนผลิบานเป็นความรัก เธอคิดว่าเป็นคนพิเศษสำหรับเขา แต่ก็มาพบความจริงว่าเขามีเด็กสาวคนอื่นมากมายและเผลอทำอะไรบางอย่างกับหนึ่งในผู้หญิงของเขา แล้วภาพก็ตัดมาที่ปลายฝนตอนที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ เป็นการทิ้งคำถามให้กับคนดูว่า เด็กผู้หญิงในวันนั้นใช่ปลายฝนหรือไม่ และเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น เรียกได้ว่าเป็นการเล่าเรื่องได้อย่างน่าติดตาม

 

ปลายฝนต้องเจอกับเคสหนักๆ อย่างเช่น ปัญหาของไม้ที่พาแม่หนีมาที่มูลนิธิ เพราะไม่อยากให้แม่และตัวเขาเป็นกระสอบทรายของพ่ออีกต่อไป แต่จนแล้วจนรอดแม่ก็ยังอยากจะกลับไปที่เดิม ความไม่ปกติของครอบครัว ทำให้ไม้กลายเป็นคนมุทะลุ หมดศรัทธาในตัวพ่อ ตอบโต้ด้วยความรุนแรงถึงขั้นจะฆ่าจะแกงกันก็คงไม่แปลก

 

และคนสุดท้ายคือ นิชา (หลิงหลิง-ศิริลักษณ์ คอง) เด็กสาววัย 17 ปี ผู้เติบโตมากับพ่อที่เข้มงวด จนเธอต้องไปหาความอบอุ่นจากครู เลยเถิดเป็นเรื่องชู้สาวและตั้งท้อง สุดท้ายครูก็ไม่ยอมรับ จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย แต่ก็รอดมาได้

 

สิ่งที่ชอบมากในพาร์ตนี้คือ การสร้างตัวละครที่ไม่สมบูรณ์แบบทั้งตัวพระเอก-นางเอกที่ต่างก็มีอดีตฝังใจ และการสะท้อนภาพจริงของปัญหาครอบครัวผ่าน มาลัย (ขวัญ-ขวัญฤดี กลมกล่อม) แม่ของไม้ คือเหยื่อที่มักติดอยู่ในวังวนเดิม เพราะคำว่ารัก หรือเชื่อว่าสามีคือที่พึ่งสุดท้าย ทั้งที่จริงๆ พึ่งไม่ได้มานานแล้ว แล้วผลกระทบก็ไปเกิดกับลูกคือไม้ต้องติดอยู่ในวังวนนี้ไปด้วย และเมื่อถึงจุดเดือด คนเป็นลูกก็ลุกขึ้นมาสู้ ขึ้นมึงขึ้นกูกับพ่อได้เหมือนกัน ณ จุดนี้อาจขัดกับคุณค่าของสังคมไทยเรื่องความเหมาะสม แต่ก็เหมือนการย้อนถามคนดูว่า ถ้าเจอพ่อแบบนี้ เราจะทำแบบเดียวกับไม้หรือเปล่า?

 

 

หรือในเคสของนิชาก็ฉายภาพความรักร้อนแรงแบบสาวแรกรุ่น จนเหมือนคนหน้ามืดตามัว ส่วนพ่อของเธอก็เข้มงวดเกินไป หรือชีวิตของปลายฝนเองก็มีแม่ที่เหมือนเป็นเจ้ากรรมนายเวร นำแต่เรื่องเดือดร้อนมาให้ลูก ทำให้รู้สึกได้ว่าปัญหาครอบครัวเกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายอย่าง แม้กระทั่งในเคสเล็กๆ ของเด็กหญิงปุยฝ้ายที่แจ้งความจับแม่ตัวเองข้อหาเล่นการพนัน ก็สะท้อนให้เห็นว่าบางครั้งปัญหาไม่ได้เกิดจากเด็ก แต่ตัวผู้ใหญ่เองต่างหากที่สร้างปัญหา

 

ขณะที่การพัฒนาความสัมพันธ์ของตัวละครก็ทำออกมาได้ดี จนทำให้เชื่อว่าความรักต่างวัยเกิดขึ้นได้จริง ด้วยคาแรกเตอร์เข้าใจโลกของปลายฝน และความอ่อนไหวต้องการความรักขัดกับบุคลิกดุดันของไม้ กลายเป็นความโรแมนติกแบบมนุษย์เดินดินกินข้าวแกงที่เห็นกันไม่บ่อยในละครไทย

 

ในวันที่ฝนพร่างพราย

 

ส่วนการแสดงต้องบอกว่าทั้งแต้วและมาริโอ้มาไกลกว่าละครเรื่องแรกที่ทั้งคู่เล่นด้วยกันคือ เพลิงทระนง ในปี 2554 ไปมาก โดยเฉพาะมาริโอ้ ที่แม้บทไม้จะใกล้เคียงกับ ก้าวกล้า ในคือเธออยู่บ้าง แต่ไม้ในเวอร์ชันของมาริโอ้ก็สื่อสารความอ่อนไหว แตกสลาย และฟื้นขึ้นมาใหม่ ได้อย่างน่าสนใจ ในขณะที่แต้วที่ชีวิตจริงอายุเท่ากับมาริโอ้ แต่เมื่อต้องแสดงเป็นรุ่นพี่ ก็ทำออกมาได้ดีพอจะเชื่อได้ จากบุคลิกเข้าอกเข้าใจเหมือนคนที่ผ่านโลกมามากกว่า

 

โดยรวมแล้วเส้นเรื่องหลักของในวันที่ฝนพร่างพรายไม่มีปัญหา แถมยังกลมกล่อมด้วยเลิฟไลน์น่ารักพ่อแง่แม่งอนผสมความหม่นเศร้านิดๆ จากชีวิตในอดีตของตัวละคร แต่ปัญหากลับมาอยู่ที่เคสใหม่ๆ ที่เริ่มต้นในตอนที่ 4 เพราะดูเหมือนจะห่างไกลจากโลกความเป็นจริง ด้วยบทสนทนาประดิดประดอยแบบละคร และการแสดงโอเวอร์แอ็กติ้ง จนเหมือนเป็นหนังคนละม้วนกับพาร์ตแรก

 

 

อย่างเช่นในบทของ เจ๊เดือน (กิ๊ก-มยุริญ ผ่องผุดพันธ์) กับปัญหาการกดขี่แรงงาน ก็เหมือนตั้งใจให้รู้ว่าเสแสร้งเป็นคนดีมาตั้งแต่ร้อยเมตร เพิ่มดีกรีความเหนือจริงด้วยการแสดงออกของตำรวจ ก็พอเข้าใจว่าอยากใส่ความคอเมดี้เข้าไป แต่บอกตรงๆ ว่าไม่ลงตัวเอาเสียเลย หรือเมื่อพูดถึงประเด็น ‘หน้ากากคนดี’ ก็ตัดภาพมาที่เจ๊เดือนกับถ้วยรางวัลการันตีคนดีศรีสังคม ดูเป็นการสื่อสารแบบตรงไปตรงมาแทบไม่ต่างจากละครคุณธรรมที่ได้ดูในโลกออนไลน์เลย เสน่ห์ของตัวละครสีเทาๆ ที่ปูไว้ใน 3 ตอนแรกแทบจะหายไปเกือบหมด

 

จากการคาดเดาคิดว่าน่าจะมีเคสใหม่ๆ เข้ามาในเส้นเรื่องเรื่อยๆ พร้อมกับการคลี่คลายปมในอดีตของตัวละคร ซึ่งก็ต้องคอยมาลุ้นกันว่าในแต่ละตอนจะทำออกมาได้ดีแค่ไหน และจะทำอย่างไรให้กลมกล่อมได้รสชาติของละครน้ำดี แต่ไม่ได้ตื้นเขินแบบละครคุณธรรม

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising