×

คิริน กีกิ กับผลงาน 5 เรื่องที่ ‘คุณยาย’ ผู้แสนใจดีทิ้งอะไรบางอย่างไว้ให้เรา

18.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • คิริน กีกิ คือหนึ่งในนักแสดงชาวญี่ปุ่นที่เราสามารถการันตีคำว่า ‘คุณภาพ’ จากผลงานการแสดงมากกว่า 100 เรื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่เธอโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิง ล่าสุดเธอเพิ่งจากโลกนี้ไปเมื่อวานนี้ในวัย 75 ปี โดยไม่มีการเปิดเผยสาเหตุการตายที่แท้จริง แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งทรวงอก ซึ่งแพทย์ตรวจพบมาตั้งแต่ปี 2547

คิริน กีกิ คือหนึ่งในนักแสดงชาวญี่ปุ่นที่เราสามารถการันตีคำว่า ‘คุณภาพ’ จากผลงานการแสดงมากกว่า 100 เรื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 50 ปีที่เธอโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิง

 

คิริ กีกิ เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 1943 เริ่มต้นชีวิตการแสดงจากการเป็นนักแสดงละครเวทีที่มักได้รับเลือกให้เล่นเป็นตลกหรือคนวิกลจริตอยู่เสมอ ก่อนที่จะเริ่มผันตัวเองเข้าสู่วงการละครและภาพยนตร์ในฐานะหนึ่งในนักแสดงที่มีผลงานออกมาต่อเนื่องมากที่สุด

 

แม้กระทั่งในปี 2004 เธอได้รับข่าวร้ายว่ากำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งทรวงอก ซึ่งเนื้อร้ายและการรักษาได้ทำให้เธอต้องพบกับปัญหาสุขภาพอย่างหนัก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้แพสชันด้านการทำงานแสดงของเธอลดน้อยลงไป นอกจากนั้นเธอยังคงเป็นตัวแทนของคนสูงอายุที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายแต่ทำงานหนัก ไม่นิยมการออกสื่อเพราะอยากให้คนจดจำฝีมือการแสดงมากกว่าเรื่องราวในชีวิตของเธอ

 

กระทั่งในวันที่ 15 กันยายน 2018 ที่เธอจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยวัย 75 ปี แม้แต่สาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงก็ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ เหลือไว้เพียงความเศร้าและความรู้สึกเสียดายของคนในวงการภาพยนตร์ที่เราจะไม่มีโอกาสได้เห็น ‘ความเป็นมือชีพ’ ที่ส่งผ่านออกมาจากสีหน้า ท่าทาง แววตา และรอยยิ้มอันแสนอบอุ่นจาก ‘คุณยาย’ ผู้แสนใจดีคนนี้อีกแล้ว

 

ก่อนหน้านี้เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

 

“บทเรียนสำคัญที่โรคมะเร็งได้สอนฉันก็คือ ร่างกายของฉันไม่ใช่สมบัติของฉันหรอก ฉันได้รับอนุญาตให้ใช้ร่างกายนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เหมือนฉันซื้อที่ดิน ฉันอาจจะเป็นเจ้าของที่ดินก็จริง แต่ผืนดินมันเป็นสมบัติของโลก ในเมื่อสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้เป็นของฉัน ฉันจึงควรดูแลรักษามันอย่างระมัดระวังก่อนจะส่งมันคืนด้วยสภาพสมบูรณ์ที่สุด”

 

วันนี้แม้ตัวจะจากไป แต่เชื่อเหลือเกินว่า 5 ผลงานการแสดงของ คิริน กีกิ ต่อไปนี้คือหนึ่งในตัวอย่างที่ช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเธอได้ใช้ความสามารถรวมทั้งร่างกายของเธออย่างคุ้มค่าและดีที่สุดแล้วจริงๆ

 

1. นาคากาวะ เอโกะ จากเรื่อง Tokyo Tower: Mom and Me, and Sometimes Dad (2007)

 

 

ผลงานที่ทำให้ คิริน กีกิ ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ด้วยการแสดงที่ ‘น้อย’ แต่ทรงพลังแบบสุดๆ ทำให้เธอคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากงาน Japan Academy Prize (รางวัลออสการ์ของประเทศญี่ปุ่น) มาครองได้สำเร็จ หลังจากก่อนหน้านี้เธอทำได้เพียงติดลิสต์ชื่อผู้เข้าชิงมาทั้งหมด 6 ครั้ง

 

ในเรื่อง Tokyo Tower: Mom and Me, and Sometimes Dad เธอรับบทเป็น นาคากาวะ เอโกะ (พาร์ตผู้สูงอายุ) ตัวแทนของผู้หญิงที่มีหัวใจของความเป็นแม่เกินร้อยเปอร์เซ็นต์ เธอคือแม่ที่ทุ่มเทพลังงานทั้งหมดในชีวิตให้กับลูกชาย นาคากาวะ มาซาวะ (รับบทโดย โอดากิริ โจ) อย่างไม่เคยมีข้อสงสัย ไม่ว่า ‘มาคุง’ จะมีอายุเท่าไร มีความฝันแบบไหน หรือทำตัวเหลวไหลออกนอกลู่นอกทางเพียงใด เธอก็ยังมอบความรักและปรารถนาดีโดยไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดตอบแทน

 

แม้กระทั่งในวันที่เธอป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ต้องย้ายเข้ามาอยู่กับมาคุงในเมืองหลวงที่เธอไม่คุ้นเคย แต่เธอก็ยังใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยคิดเพียงว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองเป็นภาระกับลูกชายน้อยที่สุด ในขณะที่ลูกชายได้แต่ตำหนิตัวเองที่ดูแลแม่ไม่ดี แต่เธอกลับมองว่าเพียงแค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกทำให้ นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเธอแล้ว

 

 

ยิ่งที่เธอไม่เรียกร้องสิ่งใดมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คนดูเข้าใจและ ‘รัก’ ตัวละครของเธอมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันภาพของ ‘แม่’ ตัวจริงของเราก็ค่อยๆ ซ้อนทับภาพของเธอในหนังจนแทบกลายเป็นคนเดียวกัน จนกระทั่งฉากท้ายๆ ที่เรียบง่ายที่สุด เมื่อมาคุงจูงมือพาเอโกะเดินข้ามถนนอย่างช้าๆ พร้อมกับรอยยิ้มที่แสนสงบและมีความสุขของคนเป็นแม่ กลายเป็นหนึ่งในฉากที่อบอุ่นหัวใจที่สุดขึ้นมาทันที

 

2. โยโกยามะ โทชิโกะ จากเรื่อง Still Walking (2008)

 

 

ผลงานเรื่องแรกก่อนที่ คิริน กีกิ จะกลายเป็นหนึ่งในนักแสดงขาประจำของผู้กำกับอย่าง ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (ก่อนเสียชีวิตเธอมีผลงานร่วมกับโคเรเอดะมากถึง 6 เรื่อง) และส่งให้เธอคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Blue Ribbon Award มาครองได้สำเร็จ

 

ใน Still Walking เล่าเรื่องการกลับมารวมตัวอีกครั้งในวันครบรอบ 15 ปี การจากไปของลูกชายคนโตผู้เป็นเหมือนความหวังของครอบครัว หนังใช้เวลาเพียง 1 วันในการค่อยๆ เปิดเผย ‘บาดแผล’ ในอดีตของทุกคนออกมาให้เห็นอย่างช้าๆ อย่างกิจกรรมที่แสนธรรมดาในวันรวมญาติอย่างการทำอาหาร พูดคุย ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ มีปากเสียง ไหว้หลุมศพ อาบน้ำ แปรงฟัน เข้านอน ฯลฯ

 

 

จะมีก็แต่เพียงตัวละคร โยโกยามะ โทชิโกะ ของคิริน กีกินี่แหละที่พยายามทำทุกอย่างให้อยู่กับปัจจุบันมากที่สุด ราวกับว่าบาดแผลในอดีตของเธอได้จางหายไปหมดสิ้น และเธอกำลังทำหน้าที่เป็นเหมือนคนคอยเชื่อมรอยร้าวที่เกิดขึ้นใน 1 วันอันแสนวุ่นวายให้เรียบร้อยที่สุด (ถึงแม้เธอจะไม่ค่อยชอบลูกสะใภ้ของเธอเท่าไร แต่ก็ยังเตรียมแปรงสีฟันเอาไว้ให้อย่างเรียบร้อย)

 

จนกระทั่งเหตุการณ์ ‘ผีเสื้อ’ ในตอนท้าย ที่ทำให้คนที่ดูเหมือนแข็งแกร่งอย่างเธอเผย ‘บาดแผล’ ใหญ่ที่แท้จริงแล้วไม่เคยจางหายไป และแสดงให้เห็นว่าเธอไม่ได้ไร้หัวใจ หากเพียงแต่เธอรู้จัก ‘เลือก’ ที่จะแสดงออกอย่างไรให้ทุกชีวิตในครอบครัวดำเนินไปได้อย่างปกติสุขมากที่สุดต่างหาก

 

3. ยาเอะ จาก Chronicle of My Mother (2011)

 

 

บทบาทในเรื่องนี้ คิริน กีกิ ค่อนข้างแตกต่างจาก 2 เรื่องแรกที่ต้องรับบทเป็นหญิงสูงอายุที่เพิ่งสูญเสียคนรักและเริ่มป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยมีลูกชาย (รับบทโดย โคจิ ยาคุโช) ที่เติบโตมาด้วยความคิดที่ว่าตัวเองไม่เคยเป็นที่รักของแม่ กลับมาดูแลด้วยความไม่เต็มใจเท่าไรนัก

 

ในผลงาน 2 เรื่องแรกที่ได้กล่าวไป หนังดำเนินเรื่องด้วยความ ‘เรียบง่าย’ ผ่านฝีมือการแสดงของ คิริน กีกิ แต่สิ่งที่ใช้ขับเคลื่อนใน Chronicle of My Mother กลับเป็นอาการเลอะเลือนและไม่น่ารักบางอย่างตามธรรมชาติของผู้ป่วยโรคนี้ รวมทั้ง ‘ปม’ ในใจของลูกชายที่ถูกผูกเงื่อนตายมาหลายสิบปี ที่กว่าจะได้รับการคลี่คลายทั้งคู่ก็ต้องปะทะอารมณ์กันอยู่หลายครั้ง

 

 

จนกระทั่งฉากพูดความในใจที่เราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเธอพูดออกมาด้วยความทรงจำและสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า แต่การที่แม่ลูกซึ่งใช้ชีวิตด้วยความเข้าใจผิดกันมาหลายสิบปีได้มาใช้เวลาร่วมกัน พูดถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยได้เผยความในใจซึ่งกันและกัน แค่นั้นมีคุณค่ามากเพียงพอให้คนดูกลับมาคิดถึงเรื่องราวบางอย่างที่ติดค้างอยู่ในใจและได้แต่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปพร้อมๆ กับความโรยราทางร่างกายของคนเป็นแม่

 

นอกจากนั้นบทสนทนาอันแสนนิ่งเงียบของคิริน กีกิในเรื่อง กำลังส่งเสียงดังบอกทุกคนว่า จะดีแค่ไหนหากเรามีโอกาสได้ใช้เวลาทำความเข้าใจร่วมกัน ในวันที่สภาพร่างกายและทุกอย่างของทุกคนอยู่ในสภาพสมบูรณ์

 

4. ชิโนดะ โยชิโกะ จาก After the Storm (2016)

 

 

ว่ากันว่า After the Storm คือหนึ่งในผลงานที่มีความเป็น ‘ส่วนตัว’ สูงที่สุดของผู้กำกับฮิโรคาสุ โคเรเอดะ เพราะเขาดึงชีวิตช่วงหนึ่งของตัวเองมาไว้ในเรื่องนี้ และเขาก็เลือกให้คิริน กีกิมารับบทเป็นแม่ของพระเอก (รับบทโดยฮิโรชิ อาเบะ) หนึ่งในตัวละครสำคัญที่ทำหน้าที่ ‘เชื่อม’ รอยร้าวของพระเอกและคนอื่นๆ ให้ค่อยๆ สมานเข้าด้วยกัน

 

ถ้ามองในภาพรวม บทบาทของคิริน กีกิในเรื่องนี้นับว่าน้อย เพราะเส้นเรื่องหลักเน้นไปที่ 3 ตัวละคร พ่อ แม่ และลูกชาย แต่การแสดงและบทบาท ‘โยชิโกะ’ ของคีริน กีกิ คือคนที่ช่วย ‘พยุง’ ความสัมพันธ์ของทุกคนเอาไว้

 

 

ในขณะที่ชีวิตของทุกคนเหมือนอยู่ในช่วงถูกมรสุมพายุทำร้าย ตัวละครโยชิโกะที่จริงๆ ก็มีความทุกข์ใจไม่ต่างจากคนอื่น แต่เธอเลือกที่จะทำตัวเป็น ‘หลุมหลบภัย’ ให้ทุกคนเข้ามาพัก เพราะเธอเชื่ออยู่เสมอว่าเมื่อไรก็ตามที่พายุพัดผ่าน ท้องฟ้าที่สดใสสวยงามจะปรากฏขึ้นเสมอ

 

5. ฮัตสึเอะ ชิบาตะ จากเรื่อง Shoplifters (2018)

 

 

ผลงานเรื่องสุดท้ายที่เพิ่งเข้าฉายในประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน นี่คือผลงานการแสดงของ คีริน กีกิ ที่ชอบมากที่สุด เพราะคุณย่า ฮัตสึเอะ ชิบาตะ คือตัวแทนของหญิงแกร่ง ที่มีมิติของมนุษย์ครบทุกด้าน และเธอก็นำเสนอด้านต่างๆ เหล่านั้นออกมาให้คนดูรู้สึกได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 

เธอคือหญิงม่ายถูกทิ้งที่กลายเป็นหัวหน้า ‘ครอบครัวนักลัก’ เพราะเงินบำนาญของสามีเก่าคือท่อน้ำเลี้ยงหลักในการจ่ายค่าบ้าน ในมุมหนึ่งเธอคือหญิงชราจอมเจ้าเล่ห์ที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นคุณย่าที่อ่อนไหว ยึดติดอยู่กับอดีต เธอยังคิดถึงสามีที่ทิ้งเธอไปอยู่เสมอ (ถึงแม้อาจจะมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง) และเธอคือหญิงม่ายที่ยังรู้สึกเศร้าเวลามองเห็นรอยกระที่ขาของตัวเองเมื่อเทียบกับเรือนร่างสาวสะพรั่งของเด็กๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือความเป็นห่วงเป็นใยทุกชีวิตในบ้านหลังเล็กๆ ที่อาศัยรวมกันอย่างแออัดทว่าอบอุ่นหลังนี้

 

 

เราไม่แน่ใจว่าสัดส่วนความรู้สึกในใจของสมาชิกในครอบครัวอีก 5 คนที่มาอยู่กับคุณย่านั้นเป็นเพราะความรัก ความผูกพัน สายเลือด หรือผลประโยชน์แบบไหนมากกว่ากัน แต่สำหรับคุณย่า ทุกคนคือคนสำคัญที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตครอบครัวของเธอให้สมบูรณ์ และทำให้ฉากที่คุณย่านั่งอยู่เพียงลำพังแล้วมองแผ่นหลังของลูกๆ หลานๆ กระโดดเล่นน้ำอย่างมีความสุข พร้อมกล่าวคำว่า ‘ขอบคุณ’ ที่ไร้เสียงออกมาบนใบหน้าเปื้อนยิ้มที่แสนสงบ คือฉากที่สวยงามและน่าประทับใจที่สุดในหนังเรื่องนี้

 

แต่น่าเสียดายเหลือเกินที่ต่อจากนี้ไปเราจะไม่มีโอกาสได้เห็นรอยยิ้มที่แสนอบอุ่นละมุนละไมแบบนั้นอีกแล้ว

 

ภาพ: japantoday.com

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • หลังจาก Shoplifters ยังเหลือผลงานของ คิริน กีกิ อีกหนึ่งเรื่องคือ Nichinichi Kore Kôjitsu ของผู้กำกับทัตสึชิ โอโมริ ที่อยู่ในช่วง Pre-Production และยังไม่มีกำหนดฉายอย่างเป็นทางการ
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising