×

‘หว่องกง’ นายอำเภอซัวเถา ผู้ลี้ภัยการเมือง หนีเหมาฯ มาสู่ร่มฉัตร รัชกาลที่ 9

24.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ช่วงเวลาของการต่อสู้ระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและประธานเหมา ความไม่มั่นคงเกิดขึ้นทั่วทิศรอบแดน ความยากจนแร้นแค้น ทำให้ชีวิตทั้งครอบครัวลำบากขึ้นทุกขณะ หว่องกงตัดสินใจพาทุกชีวิตที่อยู่ในการดูแลมุ่งหน้ามาหาถิ่นฐานที่สงบ ปลอดภัย และอบอุ่น ที่เรียกว่า ‘สุวรรณภูมิ’
  • หว่องกงของฉันทิ้งคราบข้าราชการกลับกลายมาเป็นกรรมกรช่างไม้ ส่วนหว่องม่าเริ่มต้นที่โรงงานทอผ้าด้วยการเป็นคนงานกรอด้ายที่โรงงานแถวโรงหนังคลองเตย
  • ครั้นในวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จากไป แม่ฉันสุดแสนจะเสียใจและขอเป็นหนึ่งในคนที่ได้เข้าไปกราบพระบรมโกศทองคำพร้อมลูกรัก

     ในห้วงสับสนอลหม่านของประเทศจีนแย่งชิงอำนาจการปกครอง ความคิดที่ไม่ลงรอย การต่อสู้ที่ไม่มีใครยอมใคร ไม่ว่าจะฝั่งพรรคก๊กมินตั๋น หรือฝั่งประธานเหมาสหายชาวนา ระดับผู้นำเหล่าขุนพลล้วนแล้วแต่เสพสมสุขแสนสบายท่ามกลางการต่อสู้บนความขัดแย้งทางความคิดและอำนาจ แล้วรากหญ้าพลเรือนเล่า จะเป็นเช่นไร ประชาชนในประเทศล้วนแล้วแต่มองไม่เห็นฝั่งฝันหรืออนาคตของตัวเองและครอบครัวว่าจะไปทางไหน จะทำเยี่ยงไร เส้นทางนั้นมืดมน อับจนหนทาง เพียงเพราะอำนาจทางการปกครอง

 

ประธานเหมาประกาศตั้ง PRC ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949

 

     ฝั่งไหนชนะ อีกฝั่งก็ต้องล่มจม

     “จะเอากันให้ตายเลยใช่ไหม…”

     หว่องกง (ตา) ของฉันเล่าผ่านมาทางแม่ของฉัน

 

     แม่ของฉันเกิดที่เมืองไทย แต่ทั้งครอบครัวก่อนหน้าอพยพมาจากเมืองจีน ฝั่งหว่องกงของฉันเรียกได้ว่ามีพื้นเพที่มีการศึกษาที่ดี อาชีพของหว่องกงคือนายอำเภอที่มีหน้ามีตาในอำเภอหนึ่งแถบซัวเถา

     ช่วงเวลาของการต่อสู้ระหว่างสองพี่น้อง พรรคก๊กมินตั๋ง และประธานเหมาสหายชาวนา ความไม่มั่นคงเกิดขึ้นทั่วทิศรอบแดน หว่องกงในฐานะข้าราชการปกครองท้องถิ่นตัวเองอย่างเงียบๆ เฝ้าระวังตนว่า อะไรกำลังจะเกิดขึ้น ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ระแวดระวังภัยทุกด้าน เพราะ ณ ตำแหน่งนี้ เป็นตายอยู่ที่ใครคือผู้ชนะ ส่วนบทบัญญัติของฝ่ายผู้แพ้ ล้วนถูกกำหนดไว้แล้วว่าคือ คุก หรือ ตาย

 

ประธานเหมา กับ เจียงไคเช็ก ในวันที่ยังร่วมมือกันขับไล่ญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1946 ก่อนจะปะทะกันหลังสงครามโลกเพื่อแย่งอำนาจการปกครอง

 

     ความยากจนแร้นแค้นทำให้ชีวิตทั้งครอบครัวลำบากขึ้นทุกขณะ ถึงแม้จะเป็นถึงนายอำเภอ แต่ก็ไม่สามารถประคับประคองครอบครัวเลี้ยงทุกปากท้องที่เกิดมาได้

     จากปากคำของตั่วอี๋ผู้เป็นป้าของฉันพี่สาวของแม่ เล่าว่า หว่องม่า (ยาย) คลอดพี่สาวก่อนแม่ของฉันถึงสองคนที่เมืองจีน แต่ก็จำต้องเอารกปิดจมูกให้ตายคาที่เสียตั้งแต่คลอดออกมาจากท้อง เมื่อไม่ให้เติบโตมาลำบากไปกว่านี้ และลำบากคนที่เกิดมาก่อนหน้าแล้ว รันทดที่ได้ยินแม่เล่าให้ฟัง แต่ฉันก็ถามต่อด้วยน้ำเสียงที่ขมปากว่า

     ทำไมหว่องม่ากล้าทำกับลูกได้ลงคอ

     แม่ของฉันตอบว่า​ “ตอนนั้นก็ไม่มีจะกินแล้ว

     ฉันถามต่อว่าทำไมหว่องกงยอมให้หว่องม่าทำ

     แม่ฉันกระซิบตอบประหนึ่งหว่องกงยังมีชีวิตอยู่และกลัวท่านจะได้ยิน ว่าหว่องกงกลัวเมีย

     หรือความถูกต้องจะสำคัญน้อยมากเมื่อเทียบกับความผิดที่ต้องกระทำด้วยเหตุจำเป็น แม่ฉันบอกต่อว่า

     “หว่องม่ารับกรรมไปแล้ว เพราะครั้นเมื่อได้มาอยู่เมืองไทย ครอบครัวกำลังจะเริ่มสบาย หว่องม่าก็มาจากไปด้วยวัยเพียง 54 ปี ด้วยโรคหัวใจรั่ว” ในประเทศจีนไม่มีคำว่ากรรมเก่ากรรมใหม่หรือกรรมย้อนหลังแต่ประการใด คำว่ากรรมนี้แม่ของฉันเรียนรู้จากแผ่นดินพุทธที่ร่มเย็นที่เรายืนอยู่ร่วมกันแห่งนี้

 

     สถานการณ์บ้านเมืองคับขันจนเข้าสู่ผลลัพธ์ของการต่อสู้ ในที่สุดประธานเหมาประกาศชัยชนะให้กับเหล่าชาวนา ข่าวคราวแพร่กระจายไปทั้งประเทศ แต่ก็ล่าช้าด้วยในพื้นที่กันดาร หว่องกงรู้เรื่องราวข่าวร้ายก่อนใครและรู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว

     คุก หรือ ความตาย

     แต่ไม่ว่าจะคุกหรือตาย ครอบครัวอีกสิบกว่าชีวิตไม่ว่าจะเมียลูกห้า แม่ แม่ยาย พี่น้อง ล้วนแล้วต้องพึ่งพาแต่เขาก็อาจจะต้องตายตามหรือลำบากกว่านี้อีกหลายเท่านัก เพราะเมื่อประธานเหมาชนะ มันหมายถึงชัยชนะของชาวนา ชาวนาที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ การจราจลศาลเตี้ยที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อเล่นงานพลพรรคฝ่ายอดีตรัฐบาลให้วายวอดเป็นอะไรที่กำลังเริ่มก่อหวอด รุนแรง และแพร่กระจาย

 

     หว่องกงก็ใช่ว่าจะรอดพันการสอบสวนสืบสวนในระยะต้น แต่ด้วยอาศัยว่าครอบครัวพื้นฐานที่ยากจนและซื่อสัตย์ ก็เลยรอดมาได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงภัยอยู่ว่าพวกคนบ้าคลั่งลัทธิประธานเหมาจะอาละวาดอีกเมื่อไรก็ดี แถมตนเองก็ต้องตกงานลำบากยากจน จะมาทำนาหรือก็แห้งแล้งฝนไม่ตก ทุกปากท้องก็ไม่มีจะกิน มองหนทางไปทางไหนก็แย่แน่ๆ เลยคิดว่า หนีไปหาพ่อแม่ของเขาที่อยู่เมืองไทยเสียจะดีกว่า

     ท้ายสุดก่อนที่จะโดนความบ้าระห่ำเล่นงานให้หนักกว่านี้ หว่องกงก็ตัดสินใจขายที่ขายนาให้กับญาติที่ยังพอมีเงินและไม่คิดจะไปไหน และหลายคนเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ได้เงินมาเท่าไร ก็มาซื้อตั๋วที่นั่งให้กับทุกคน สิบกว่าชีวิตสุดท้ายที่เป็นญาติสนิทล้วนแล้วแต่ติดตามหว่องกงมาด้วยกัน

หว่องกงของฉันทิ้งคราบข้าราชการกลับกลายมาเป็นกรรมกรช่างไม้ ส่วนหว่องม่าเริ่มต้นที่โรงงานทอผ้าด้วยการเป็นคนงานกรอด้ายที่โรงงานแถวโรงหนังคลองเตย

 

     หนีแผ่นดินร้อน

     หนีการเข่นฆ่าจองล้างจองผลาญไม่มียอมกันและกัน

     หนีความแร้นแค้น

     และที่สำคัญ หนีภัยพิบัติการเมือง

     มุ่งหน้ามาหาถิ่นฐานที่สงบ ปลอดภัย และอบอุ่น

     แผ่นดินที่เรียกว่า ‘สุวรรณภูมิ’

     สิบกว่าชีวิตลงเรือลำเดียวกัน หนึ่งชีวิตจากไปด้วยอหิวาตกโรคบนเรือลำนั้น มาไม่ถึงดินแดนแห่งอนาคต

     หว่องกงพาทุกคนมาถึงท่าเรือคลองเตยเช่นจีนอพยพคนอื่นๆ ญาติหลายคนแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น แม่ของฉันบอกว่าพวกเขาไปอยู่อุดรธานีกัน ส่วนหว่องกงของฉันทิ้งคราบข้าราชการกลับกลายมาเป็นกรรมกรช่างไม้ ส่วนหว่องม่าเริ่มต้นที่โรงงานทอผ้าด้วยการเป็นคนงานกรอด้ายที่โรงงานแถวโรงหนังคลองเตย

ครั้นในวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จากไป แม่ฉันสุดแสนจะเสียใจและขอเป็นหนึ่งในคนที่ได้เข้าไปกราบพระบรมโกศทองคำพร้อมลูกรัก

กรรมกรชาวจีนนั่งทานอาหารกลางวันที่สถานีบางเกษม (ปัจจุบันคือสถานีมักกะสัน) พ.ศ. 2451

 

     แผ่นดินทองปลอดภัย ไม่มีภัยพิบัติใดจะมาแผ้วพานครอบครัวของเขาได้อีกแล้ว มีแต่มุ่งมั่นสร้างตนสร้างอนาคตให้ครอบครัว ขยันทำมาหากิน เรียนรู้ใฝ่รู้ และที่สำคัญที่สุดคือความกตัญญูรู้คุณบ้านเมืองใหม่ส่งต่อมายังแม่ฉันอย่างไม่มีวันเลือนหาย ความกตัญญูรู้คุณต่อแผ่นดินไทยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครั้นในวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จากไป แม่ฉันสุดแสนจะเสียใจและขอเป็นหนึ่งในคนที่ได้เข้าไปกราบพระบรมโกศทองคำพร้อมลูกรัก

     กราบหนึ่ง กราบแทนพ่อและแม่ของตนเอง

     กราบสอง แทนตนเองและครอบครัว

     กราบสาม กราบพระบาทขอฝากพระองค์เป็นดั่งเทพปกป้องคุ้มครองครอบครัวของลูกหลานผู้อพยพของฉันต่อๆ ไปด้วยเถิด

 

     สาธุ

 

Cover Photo: vachi wang

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising