×

เคล็ดวิชารัชกาลที่ 9 (6) ‘คิดใหญ่ เริ่มเล็ก เชื่อมโยง’ วิธีคิดในการแก้ปัญหาจราจร

โดย THE VISIONARY
19.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ปัญหาการจราจรอันติดขัดในกรุงเทพฯ​ หนักหน่วงจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงสัมผัสได้ เมื่อปี 2514 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ 25 ปี ทางรัฐบาลได้กราบทูลว่าอยากจะสร้างอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติถวาย แต่พระองค์ทรงปฏิเสธกลับมาว่าอย่าเพิ่งสร้างเลย ถ้าอยากจะให้ของขวัญกันจริงๆ ขอเป็นถนนวงแหวนจะดีกว่า
  • ถนนวงแหวนเป็นหนึ่งในความฝันที่พระองค์ทรงอยากจะทำให้เป็นจริงมานาน ครั้นเมื่อโอกาสมาถึงพระองค์ก็รับสั่งให้สร้างโดยไม่รอช้า โครงการถนนวงแหวนประกอบด้วย หนึ่ง ถนนวงแหวนรอบใน หรือถนนรัชดาภิเษก สอง ถนนวงแหวนรอบนอก หรือถนนกาญจนาภิเษก
  • จากการรวมร่างเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์นี้ ทำให้การเดินทางของคนในกรุงเทพฯ ง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น

    กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่สุดของโลกในหลายๆ ด้าน

    แต่หนึ่งใน ‘ที่สุด’ ที่คนกรุงเทพฯ สามารถสัมผัสและรับรู้ได้โดยที่ไม่ต้องให้ใครมาบอก นั่นคือกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่รถติดสาหัสสุดๆ ถึงจะไม่ใช่เบอร์หนึ่งของโลก แต่ก็พูดได้ว่าไม่เป็นรองใครแน่ๆ

    และปัญหาการจราจรอันติดขัดในกรุงเทพฯ​ ก็หนักหน่วงจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงสัมผัสได้

    เมื่อปี 2514 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ 25 ปี ทางรัฐบาลได้กราบทูลว่าอยากจะสร้างอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติถวาย แต่พระองค์ทรงปฏิเสธกลับมาว่าอย่าเพิ่งสร้างเลย

    ถ้าอยากจะให้ของขวัญกันจริงๆ ขอเป็นถนนวงแหวนจะดีกว่า

 

คิดให้ใหญ่

    ปัญหาการจราจรเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไม่ใช่ว่าการสร้างถนนเพิ่มจะแก้ไขปัญหารถติดได้ทุกครั้ง แต่ต้องผ่านการศึกษาแผนผังของเมืองเพื่อวางระบบการจราจรให้เชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ

    หลายครั้งที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเส้นทางฟรีเวย์ระหว่างเสด็จฯ เยือนต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทรงเห็นว่าทางฟรีเวย์นี้เป็นเส้นทางที่สะดวก และน่าจะนำมาใช้แก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ได้ เพราะยุคนั้นกรุงเทพฯ กำลังเร่งพัฒนาทางหลวงสายหลักออกจากเมืองไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อนำความเจริญออกจากเมืองหลวง ขยายระบบเศรษฐกิจไปทั่วทั้งประเทศ ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าเมื่อเมืองขยายตัวมากขึ้นก็ต้องมีปัญหาการจราจรติดขัดตามมาอย่างแน่นอน การสร้างเครือข่ายถนนแบบวงแหวนนี้จะสามารถรับ-กระจายรถ และยังช่วยลดการเดินทางผ่านเข้าสู่ศูนย์กลางเมืองโดยไม่จำเป็น

    ถนนวงแหวนจึงเป็นหนึ่งในความฝันที่พระองค์ทรงอยากจะทำให้เป็นจริงมานาน ครั้นเมื่อโอกาสมาถึงพระองค์ก็รับสั่งให้สร้างโดยไม่รอช้า แม้รัฐบาลในขณะนั้นจะยังไม่เข้าใจดีว่าถนนวงแหวนเป็นอย่างไร แต่ก็รับสนองพระราชดำริและเริ่มต้นโครงการถนนวงแหวนขึ้น ประกอบด้วย

    หนึ่ง ถนนวงแหวนรอบใน หรือถนนรัชดาภิเษก ที่สร้างขึ้นด้วยการเชื่อมถนนหลายๆ สายที่มีอยู่เดิมเข้ากับถนนที่สร้างขึ้นใหม่ จนทั้งหมดต่อกันกลายเป็นวงแหวนรอบเมือง ทำหน้าที่กระจายรถไปสู่ส่วนต่างๆ ของเมืองได้โดยไม่ต้องเข้าสู่กลางใจเมือง

    สอง ถนนวงแหวนรอบนอก หรือถนนกาญจนาภิเษก ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต ทำหน้าที่เชื่อมพื้นที่ปริมณฑลเข้าด้วยกัน ทั้งนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ รวมถึงพระนครศรีอยุธยา ทำให้รถที่จะแล่นผ่านกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดข้างเคียงสามารถเดินทางอ้อมเมืองไปได้โดยไม่ต้องตัดเข้าเมือง

    จะเห็นว่าเป้าหมายของถนนวงแหวนคือเพื่อระบายปริมาณรถให้ออกไปจากกลางใจเมือง ลดการเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางเมือง ซึ่งจะช่วยลดความวุ่นวายของการจราจรในเมืองได้ดีทีเดียว

    ในวันนั้น พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนวงแหวนรัชดาภิเษกขึ้นก่อน

    แต่ทว่า ด้วยความเป็นเมกะโปรเจกต์ขนาดยักษ์ ทำให้กว่าตัวโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ก็ต้องใช้เวลาสร้างและเชื่อมต่อเป็นเวลากว่า 20 ปีถึงจะแล้วเสร็จ

 

เริ่มจากจุดเล็กๆ

    ในเมื่อโครงการที่ตั้งใจยังไม่เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในขณะนี้ แต่ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ กลับทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ พระองค์จึงทรงต้องแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าไปก่อนในช่วงแรก โดยเริ่มจากพื้นที่ใกล้ตัว

    ช่วงนั้น พระองค์ต้องเสด็จฯ ไปเยี่ยมอาการพระประชวรของสมเด็จย่าที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อทรงเห็นสภาพการจราจรที่ติดขัดรอบโรงพยาบาล จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเลียบทางรถไฟสายใต้หรือถนนสุทธาวาสขึ้น เพื่อเชื่อมถนนอิสรภาพเข้ากับถนนจรัญสนิทวงศ์ และระบายปริมาณรถออกจากถนนสองเส้นนี้

    รวมถึงถนนพระราม 9 ที่ถึงแม้จะเป็นย่านธุรกิจและชุมชน แต่ตัวถนนหลักกลับไม่มีถนนสายรองและทางลัดที่จะมาแบ่งเบาการจราจรออกไปจากถนนสายหลักเลย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางคู่ขนานโดยใช้ถนนที่มีอยู่แล้วคือถนนใต้ทางด่วนพระราม 9 และสร้างเป็นทางลัดทะลุตรอกซอกซอยให้ถึงกันเพื่อลดความคับคั่ง ซึ่งโครงการนี้สามารถก่อสร้างจนแล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว ได้ผลดี และยังประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

    และในปี 2537 ระหว่างที่โครงการเล็กๆ กำลังดำเนินการอยู่นั้น ถนนวงแหวนรัชดาภิเษกก็แล้วเสร็จ

    ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนีเป็นถนนที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ และสะพานพระราม 8 ก็เป็นอีกสองโครงการที่เกิดจากการสังเกตของพระองค์เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปโรงพยาบาลศิริราช

    ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหารถที่ลงจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าต้องมาพบกับรถจากแยกอรุณอมรินทร์ที่จะเปลี่ยนช่องทางไปทางขวาเพื่อมุ่งหน้าไปพุทธมณฑล ทำให้เกิดจุดตัดที่ค่อนข้างสับสนไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างทางคู่ขนานยกระดับเพื่อระบายรถให้ไปยังถนนบรมราชชนนีได้สะดวก ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จ เส้นทางนี้ก็กลายเป็นเส้นทางสำคัญที่ใช้ระบายรถจากใจกลางเมืองลงสู่ภาคใต้ ภาคตะวันตก รวมถึงภาคกลางตอนล่างและพื้นที่ชานเมืองใกล้เคียงมาจนถึงทุกวันนี้

    เช่นเดียวกับการสัญจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา พระองค์ทรงเห็นว่าการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้านับวันจะยิ่งติดขัดมากขึ้น เพราะจำนวนรถที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคาดได้ว่าในอนาคตคงหนักกว่านี้แน่ แต่การจะขยายสะพานเดิมก็ดูจะเป็นเรื่องใหญ่

    การสร้างสะพานแห่งใหม่ไปเลยอาจจะง่ายกว่า

    สะพานพระราม 8 จึงถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะช่วยระบายรถแล้ว ยังเชื่อมต่อกับโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้า จึงช่วยให้การเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเข้าเมืองจากฝั่งตะวันตกสะดวกรวดเร็วขึ้นด้วย เมื่อรู้เป้าหมายของโครงการแล้วพระองค์จึงทรงทำการหาตำแหน่งเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด ลงมือขีดแนวถนนและสะพาน แล้วส่งต่อให้กรุงเทพมหานครไปดำเนินการ โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นสะพานขึง เนื่องจากบริเวณที่สร้างสะพานนั้นแม่น้ำมีความกว้างเพียง 300 เมตร ถ้ามีตอม่อสะพานจะทำให้การจราจรทางน้ำเกิดความไม่สะดวกได้

 

    จากโครงการทั้งหมดที่ได้เล่ามา ทั้งถนนพระราม 9 ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี สะพานพระราม 8 รวมไปถึงวงแหวนรัชดาภิเษกนั้น ล้วนเป็นการแก้ไขปัญหาที่ทำให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้สัญจรกันอย่างสะดวกขึ้น ลดระยะเวลาในการเดินทางลง และบรรเทาความทุกข์จากการใช้รถใช้ถนนได้เป็นอย่างดี

    และนั่นคือสิ่งที่พระองค์คิดไว้ตั้งแต่ต้น

 

เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน

    จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายการจราจรในฝันของพระองค์ให้เสร็จสมบูรณ์คือ วงแหวนกาญจนาภิเษก ถนนวงแหวนเส้นยาวที่สร้างขึ้นล้อมรอบกรุงเทพฯ เอาไว้ ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2521 จนมาแล้วเสร็จในปี 2550

    จากการรวมร่างเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์นี้ ทำให้การเดินทางของคนในกรุงเทพฯ ง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น หากเดินทางมาจากฝั่งตะวันตกก็สามารถเข้าเมืองได้ด้วยทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนีเพื่อมาใช้วงแหวนรัชดาภิเษก ถ้าต้องการทะลุไปทางฝั่งตะวันออกก็สามารถเปลี่ยนจากวงแหวนรัชดาภิเษกมาใช้บริการของสะพานพระราม 8 แทน แล้วมุ่งสู่ถนนศรีอยุธยาและจตุรทิศ เพื่อเข้าสู่ถนนพระราม 9 ที่สามารถวิ่งยาวไปจนถึงรามคำแหงและลาดกระบังได้

    แต่ถ้าไม่อยากเข้าเมือง เราก็สามารถใช้บริการวงแหวนกาญจนาภิเษกที่อยู่รอบนอก ทำให้รถในกรุงเทพฯ แต่ละฝั่งรวมไปถึงรถจากจังหวัดอื่นๆ สามารถข้ามไปอีกฝั่งภูมิภาคได้ โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาในเมือง

    และสำหรับรถบรรทุกที่ต้องขนส่งสินค้านั้นยังสามารถใช้สะพานภูมิพลที่เชื่อมต่อจากถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ที่รับสั่งให้สร้างขึ้นในปี 2538 เป็นถนนวงแหวนเส้นที่สามสำหรับการคมนาคมของรถขนส่งลำเลียงโดยเฉพาะ เพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างเขตอุตสาหกรรมในพระประแดง ปู่เจ้าสมิงพราย กับท่าเรือคลองเตยโดยตรง ไม่ต้องวิ่งผ่านเข้าไปในตัวเมืองอันหนาแน่นเลย

    และทั้งหมดนี้คือความฝันตลอด 40 กว่าปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่กลายมาเป็นจริง แม้ว่าปัจจุบันปัญหาการจราจรในเมืองหลวงจะยังไม่หายไปโดยสมบูรณ์ แต่โครงการทั้งหมดนี้ก็พอจะช่วยให้คนกรุงเทพฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม และยังเป็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาที่มีให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

 

KEYS OF SUCCESS

 

คิดการใหญ่

    มองภาพรวม ให้รู้เป้าหมายที่แท้จริงของสิ่งที่จะทำ

 

เริ่มให้เล็ก

    ค่อยๆ เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่ทำได้ แล้วค่อยขยายขอบเขตออกไป

 

เชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน

    แม้จะทำแบบแยกส่วนแต่ก็ต้องให้ทุกอย่างประกอบกันได้ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของงาน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X