×

มองลึกเข้าไปใน ‘ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์’ มากกว่าพระราชาคือสะท้อนตัวตน ‘สุภาพบุรุษ’ (ตอนที่ 2)

29.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • จากตอนแรกที่นำเสนอภาพโรแมนติกผ่านแง่มุมแฟมิลี่แมน หากแต่ด้วยหน้าที่ ‘พระราชา’ ของประชาชน ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ยังสะท้อนถึงแง่มุม ‘สุภาพบุรุษ’ นักเดินทาง นักสำรวจ และนักพัฒนา เนื่องเพราะภาพความจริงตรงหน้าหลังจากได้ออกเดินทางนั้นทำให้ได้ตระหนักว่าตนเองอยู่ในสถานะ ‘พระราชา’ บนแผ่นดินที่ยังต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งผู้เขียนตั้งใจอย่างมากที่จะพูดถึงในตอนที่ 2
  • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงหลักการทรงงาน ‘พัฒนา’ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ความตอนหนึ่งว่า “เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้คนมีความสุข โดยต้องคำนึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าวิธีการพัฒนามีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือนักพัฒนาจะต้องมีความรัก ความห่วงใย ความรับผิดชอบ และความเคารพในเพื่อนมนุษย์”
  • ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แพทย์ผู้เคยถวายการรักษาในหลวงรัชกาลที่ 9 มานานกว่า 16 ปี เคยให้สัมภาษณ์ถึงหลักการพัฒนาซึ่งเชื่อมโยงกับงานถ่ายภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้ตอนหนึ่งว่า “จริงๆ แล้วสำหรับพระองค์ ภาษาทางการแพทย์เราเรียกว่าเป็น Evidence-Based คือเป็นคนที่เวลาจะทำอะไร ใช้ข้อมูลและหลักฐานมาประกอบการดำเนินการ เพราะฉะนั้นการบันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายรูป พระองค์จะมีรูปบางพื้นที่ที่มีภาพถ่ายตั้งแต่ครั้งแรก เคยเป็นพื้นที่ที่เป็นเขาหัวโล้น ไม่มีต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว แต่ภาพอีกหลายปีให้หลังเขียวขจีไปด้วยต้นไม้ สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่บันทึกเอาไว้แล้วมานึกตอนหลัง มันนึกไม่ออกว่าเคยเป็นมาอย่างไร”

พ.ศ. 2522

 

     นับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งภายในรวบรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ทั้งที่เคยเผยแพร่และไม่เคยเผยแพร่จำนวน 200 ภาพมาจัดแสดง

     สำหรับผู้เขียนซึ่งมีความเชื่อว่า ‘งานศิลปะนั้นสะท้อนตัวตน’ เฉกเช่นเดียวกันกับผลงานภาพถ่ายที่นอกจากจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์หรือความประทับใจที่เกิดขึ้นจริงตรงหน้า แต่เมื่อยิ่งมองลึกลงไป ภาพเหล่านั้นยังสะท้อนถึงตัวตนของผู้ถ่ายที่อยู่หลังกล้องได้อีกด้วย

     ดังนั้นเมื่อมองลึกลงไป แท้จริงก็เหมือนว่าเราได้ทำความรู้จักกับ ‘พระราชา’ ในแง่มุมที่หลากหลาย

     ผู้เขียนตัดสินใจเขียนบทความชิ้นนี้ถึงพระองค์ในแง่มุม ‘สุภาพบุรุษ’ อย่างร่วมสมัย ด้วยเพราะชื่นชมว่านอกเหนือจากสถานะกษัตริย์ของปวงชนชาวไทย แต่เมื่อมองลึกลงไปผ่านพระราชกรณียกิจทั้งส่วนพระองค์และเพื่อประชาชน ผู้เขียนพบว่าพระองค์ยังทรงเป็น ‘สุภาพบุรุษ’ ที่เต็มไปด้วยมิติน่าสนใจ

     จากตอนแรกที่นำเสนอภาพโรแมนติกผ่านแง่มุมแฟมิลี่แมน หากแต่ด้วยหน้าที่ ‘พระราชา’ ของประชาชน ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ยังสะท้อนถึงแง่มุม ‘สุภาพบุรุษ’ นักเดินทาง นักสำรวจ และนักพัฒนา เนื่องเพราะภาพความจริงตรงหน้าหลังจากได้ออกเดินทางนั้นทำให้ได้ตระหนักว่าตนเองอยู่ในสถานะ ‘พระราชา’ บนแผ่นดินที่ยังต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งผู้เขียนตั้งใจอย่างมากที่จะพูดถึงในตอนที่ 2

 

ฝนหลวงจากวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542

 

     ด้วยเพราะจดจำความตอนหนึ่งจากพระราชหัตถเลขาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีไปถึงพระสหายในต่างประเทศ ภายหลังจากที่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติได้ไม่นานว่า

     “ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง” ซึ่งแม้แต่ ณ ขณะนี้ผู้เขียนก็ยังคิดว่าเป็นเช่นนั้น

     จำได้ว่าในคืนวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนนั่งลงร่วมกับประชาชนอีกจำนวนมากบริเวณหัวถนนราชดำเนิน เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งจากตรงนั้นสามารถมองเห็นยอดพระเมรุมาศได้แต่ไกลๆ

     จนเมื่อดึกสงัด กลุ่มควันและเถ้าถ่านลอยคลุ้ง ผสมกลายเป็นส่วนหนึ่งกับอากาศและท้องฟ้ายามค่ำ หากแต่สำหรับผู้เขียน เถ้าถ่านเหล่านั้นหวนให้นึกถึงและตีความประโยคข้างต้นของพระองค์ได้ด้วยเช่นกันว่า ต่อแต่นี้

     “…ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง” นั้นอาจจะหมายถึงการสถิตอยู่บนฟ้า ปะปนอยู่ในอากาศ บนยอดไม้ ในสายน้ำ สายลม แสงแดด ทุกหนแห่งในโลกนี้นั้น ต่อจากนี้ท่านจะอยู่กับเราทุกที่ Still on My Mind สถิตในดวงใจประชาชนนิรันดร์…

 

The Explorer And The National Development

 

บ้านแม่อาว อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน 16 มีนาคม พ.ศ. 2535

 

     ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปยังหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารที่ยากจะเข้าถึง ตลอดเส้นทางทั้งภาคกลาง เหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก ซึ่งนั่นสะท้อนตัวตน ‘สุภาพบุรุษ’ นักเดินทางได้เป็นอย่างดี

     สาเหตุที่ต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่ยากลำบากก็เพื่อที่จะได้เข้าใจปัญหาตามสภาพความเป็นจริงของประชาชนในประเทศ ตามปรัชญา ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ ซึ่งนั่นสะท้อนภาพรวมว่าพระองค์ไม่ใช่เพียงแต่เป็นนักเดินทาง แต่เป็นทั้งนักวิชาการ นักสำรวจ และสำคัญที่สุดคือการเป็นนักพัฒนา ซึ่งการ ‘พัฒนา’ ในความหมายของพระองค์นั้นหมายความได้ทั้งในแง่ของการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน

 

พ.ศ. 2528

 

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงหลักการทรงงาน ‘พัฒนา’ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหนังสือ ‘พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา’ ในความตอนหนึ่งว่า  

     “เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้คนมีความสุข โดยต้องคำนึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าวิธีการพัฒนามีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือนักพัฒนาจะต้องมีความรัก ความห่วงใย ความรับผิดชอบ และความเคารพในเพื่อนมนุษย์

 

จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2525

 

     “ทรงมีวิธีการของพระองค์ คือการเสด็จฯ ไปในป่า บนเขา ตอนแรกจะเสด็จฯ แบบยังไม่ได้มีการตัดถนนเข้าไป พระองค์ต้องเสด็จฯ เข้าไปอย่างลำบาก เพราะว่าไม่ต้องการจะให้คนอื่นมาเอาเปรียบคนข้างใน ในขณะที่พวกเขายังไม่เข้มแข็งพอ เมื่อพัฒนาให้พวกเขาเข้มแข็งแล้ว พวกเขาจะออกมาเอง คือระเบิดจากข้างใน”

 

อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 14 มีนาคม พ.ศ. 2535

 

     ชีวิตมนุษย์นั้นเกิดขึ้นพร้อมกับนิยามการเดินทาง ซึ่งแต่ละคนล้วนแต่มีเป้าหมายในการออกเดินทางที่ไม่เหมือนกัน แต่ดูเหมือนว่าการเดินทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น… จะเน้นหนักไปที่การเดินทางเพื่อพัฒนาประเทศ พัฒนาชีวิตของคนในชาติ ซึ่งก็ตรงดั่งคำที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลที่มาเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ความว่า

 

จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2523

 

พ.ศ. 2524

 

     “เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ พระองค์จะต้องใช้แผนที่เป็นคู่มือทุกครั้ง ในห้องทรงงานที่พระตำหนักทุกๆ แห่งทั่วประเทศจะมีแผนที่ประเทศไทยขนาดใหญ่ติดฝาห้อง และแผนที่ที่ขยายเฉพาะส่วนก็มีอีกหลายแผ่น ฉบับที่ทรงถือติดพระหัตถ์นั้นความจริงมีขนาดใหญ่มาก เพราะทรงนำแผนที่มาต่อกันถึง 9 แผ่น หรือ 9 ระวาง แต่ทรงหาวิธีพับแบบพิเศษจนมีขนาดที่ทรงถือได้สะดวก พลิกออกมาทอดพระเนตรได้ง่าย ทรงตรวจสอบแผนที่เสมอไม่ว่าจะเสด็จฯ ที่ไหน แม้ขณะทรงขับรถเองก็มีแผนที่วางอยู่ข้างพระองค์ตลอดเวลา

 

ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์เพื่อทอดพระเนตรบริเวณอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542

 

     “ถ้าประทับเฮลิคอปเตอร์ก็จะทอดพระเนตรสภาพพื้นที่จริงเบื้องล่างเปรียบเทียบไปกับแผนที่ตลอดทาง ไม่มีการหลับเด็ดขาด เสด็จฯ ไปถึงที่หมายแล้วจะทรงถามชาวบ้านว่าชื่อหมู่บ้าน แม่น้ำลำคลอง หรือถนนตรงกับแผนที่ไหม มีหมู่บ้านใดเกิดขึ้นมาใหม่บ้าง ถ้ามีข้อมูลที่ต่างไปจากแผนที่ จะโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารแผนที่จดไว้และนำไปแก้ไขในการพิมพ์แผนที่ครั้งต่อไปให้ถูกต้อง

     “หากมีโครงการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ทรงสามารถคำนวณพื้นที่รับน้ำคร่าวๆ ได้จากแผนที่ของพระองค์เอง ทรงชำนาญมากจนทอดพระเนตรความสูงต่ำของภูมิประเทศได้ราวกับทอดพระเนตรพื้นที่จริง นักวิชาการหลายท่านทราบดีถึงพระปรีชาสามารถด้านการทรงงานแผนที่ของพระองค์ และความที่ทรงแม่นยำในแผนที่นี้ ทำให้ข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้วยพลอยกระตือรือร้น ศึกษาหาความรู้เรื่องแผนที่ไปด้วย”

 

จังหวัดนราธิวาส กันยายน พ.ศ. 2521

 

     ล่าสุดผู้เขียนได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แพทย์ผู้เคยถวายการรักษาในหลวงรัชกาลที่ 9 มานานกว่า 16 ปี และเหตุการณ์ล่าสุดท่านยังเป็นผู้ทำหน้าที่สำคัญในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศด้วยการประคองพระโกศทองใหญ่ในพิธีอัญเชิญพระบรมโกศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Lineกนก ในชื่อตอน ‘ศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์’ โรงพยาบาลศิริราช ที่ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเนื้อหาบางส่วนนั้นเล่าถึงโครงการ ‘ออมเพื่อให้ตามรอยพ่อ’ ของโรงพยาบาลศิริราช ท่านได้เผยแง่มุมที่น่าสนใจในฐานะนักถ่ายภาพเพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างน่าสนใจว่า

 

พ.ศ. 2524

 

     “กระปุกออมทรัพย์จากศิริราชมีสามโมเดล คือรถจี๊ป กล้องถ่ายรูป และวิทยุสื่อสาร

     “รถจี๊ปทำให้พระองค์สามารถเสด็จฯ ไปได้ในทุกที่ของประเทศไทย บางที่รถธรรมดาเข้าไปไม่ถึง แต่รถจี๊ปเข้าไปถึง บางที่เฮลิคอปเตอร์ลงไม่ได้ เพราะไม่มีพื้นที่ให้ลงจอด แต่รถจี๊ปสามารถลุยน้ำไปต่อได้ พระองค์เสด็จฯ ไปในที่ที่ปกติคนส่วนใหญ่ไม่คิดจะเข้าไปเลยด้วยซ้ำ

     “ถ้าเราเข้าใจสิ่งที่พระองค์เคยพระราชทานศาสตร์แห่งการพัฒนา คือการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา รถจี๊ปเนี่ยทำให้เข้าใจ เข้าถึง ไปได้ทุกพื้นที่ ทำให้ได้ไปคุยกับพสกนิกร ทำให้ได้เข้าใจถึงปัญหาอย่างลึกซึ้ง แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งเหล่านั้นต้องถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐาน เพราะถ้าไม่ถูกบันทึก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง เราก็จะไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น

 

จังหวัดเชียงใหม่ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522

 

     “จริงๆ แล้วสำหรับพระองค์ ภาษาทางการแพทย์เราเรียกว่าเป็น Evidence-Based คือเป็นคนที่เวลาจะทำอะไร ใช้ข้อมูลและหลักฐานมาประกอบการดำเนินการ เพราะฉะนั้นการบันทึกภาพด้วยกล้องถ่ายรูป พระองค์จะมีรูปบางพื้นที่ที่มีภาพถ่ายตั้งแต่ครั้งแรก เคยเป็นพื้นที่ที่เป็นเขาหัวโล้น ไม่มีต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว แต่ภาพอีกหลายปีให้หลังเขียวขจีไปด้วยต้นไม้ สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่บันทึกเอาไว้แล้วมานึกตอนหลัง มันนึกไม่ออกว่าเคยเป็นมาอย่างไร”

 

พฤศจิกายน พ.ศ. 2533

 

     ซึ่งคงเป็นอย่างเช่นคำให้สัมภาษณ์ที่พระองค์เคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่เดวิด โลแมกซ์ ในสารคดี Soul of a Nation – The Royal Family of Thailand โดยสถานีโทรทัศน์ BBC ติดตามพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในช่วงปี พ.ศ. 2521-2522 ความตอนหนึ่งว่า

 

พระองค์ทรงมองหน้าที่กษัตริย์ของพระองค์เองว่าอย่างไรบ้าง… ทำไมประเทศไทยถึงยังต้องมีกษัตริย์ต่อไป

     “เราไม่ใช่คนที่จะตอบคำถามนี้โดยตรงได้ เราคิดว่าการมีกษัตริย์นั้นมีประโยชน์ก็เท่านั้น”

 

พฤศจิกายน พ.ศ. 2533

 

พระองค์ทรงคิดไหมว่า ถ้าปราศจากอำนาจของกษัตริย์แล้ว พระองค์คงไม่สามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้

     “แล้วนิยามคำว่า ‘กษัตริย์’ คืออะไรล่ะ นั่นเป็นเรื่องที่น่าคิดกว่า ถึงตัวเราเองจะอยู่ในฐานะที่ผู้คนเรียกว่า ‘กษัตริย์’ แต่คุณก็เห็นภารกิจที่เราทำอยู่ ไม่ใช่ภารกิจของกษัตริย์เลย เป็นภารกิจที่ต่างออกไปหรือยากจะนิยามได้ เราทำในสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ก็เท่านั้นเอง

     “ถ้าคุณถามว่าเรากำลังคิดหรือวางแผนอะไร เราคงตอบว่าเราไม่ได้วางแผนอะไรเลย ทุกๆ วันก็คงเหมือนกับวันนี้ เรามีภารกิจที่ต้องทำ แล้วเราก็ลงมือทำมัน เราไม่รู้หรอกว่าภารกิจนั้นจะเป็นอะไร แต่เราจะทำในสิ่งที่ดี นั่นแหละคือแผน หรือความตั้งใจของเรา”

 

อ้างอิง:

  • นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภาพถ่ายที่นำมาจัดแสดงมีทั้งหมดถึง 200 ภาพ และบางภาพก็ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
  • หนังสือ พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา
  • สารคดี Soul of a Nation – The Royal Family of Thailand (ศูนย์รวมใจของชาติ – พระราชวงศ์ไทย) โดยสถานีโทรทัศน์ BBC ประเทศอังกฤษ ซึ่งแปลและเรียบเรียงภาษาไทย : A. KANTAHONG TRANSLATIONS  (อารดา กันทะหงษ์) ผ่านทางยูทูบแชนแนล Arada Kantahong
  • รายการ Line กนก ตอน ‘ศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์’ โรงพยาบาลศิริราช ออกอากาศวันที่ 15 ตุลาคม 2560
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X