×

มองลึกเข้าไปใน ‘ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์’ มากกว่าพระราชาคือสะท้อนตัวตน ‘สุภาพบุรุษ’ (ตอนที่ 1)

24.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 นั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก นับร้อย นับพัน นับหมื่นภาพ แต่เชื่อเหลือเกินว่าพระบรมฉายาลักษณ์ที่สวยที่สุดของพระองค์นั้นทรงเกิดขึ้นจากฝีพระหัตถ์ของ ‘สุภาพบุรุษ’ ที่พระองค์ทรงร่วมเดินทางเคียงข้างไปทั่วทุกหนแห่งทั้งในฐานะราชินีและสตรีอันเป็นที่รัก ‘พระราชา’ ที่เดินทางสมบุกสมบันมากที่สุดแห่งประวัติศาสตร์ราชวงศ์ จากเหนือจรดใต้ จากอีสานจนถึงริมฝั่งทะเล พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 นั้นน่าประทับใจเสมอ ซึ่งนั่นทำให้ราษฎรของพระองค์สัมผัสได้ถึงแง่มุมโรแมนติกผ่านทาง ‘กิจกรรม’ ถ่ายภาพที่ทั้งสองพระองค์มักจะทำคู่กันอยู่เสมอ
  • พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชโอรส และพระราชธิดาทั้ง 4  พระองค์ คือหนึ่งในคอลเล็กชันภาพถ่ายที่ถูกเผยแพร่ออกมาให้ได้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าได้มองลึกลงไปในรายละเอียด THE STANDARD คิดว่านี่คือคอลเล็กชันภาพถ่ายครอบครัวที่สมบูรณ์แบบทั้งในแง่ของการเก็บบันทึกทุกช่วงวัยของ ‘เจ้าฟ้า’ ทั้ง 4 พระองค์ นอกจากนั้นยังเต็มไปด้วยความอบอุ่น อ่อนโยน ความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้อยู่หน้ากล้องถึงผู้ที่อยู่หลังกล้อง…

     ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งภายในรวบรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ทั้งที่เคยเผยแพร่และไม่เคยเผยแพร่จำนวน 200 ภาพมาจัดแสดง

     สำหรับผู้เขียน ซึ่งมีความเชื่อว่า ‘งานศิลปะนั้นสะท้อนตัวตน’ เฉกเช่นเดียวกันผลงานภาพถ่ายที่นอกจากจะเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์หรือความประทับใจที่เกิดขึ้นจริงตรงหน้า แต่เมื่อยิ่งมองลึกลงไป ภาพเหล่านั้นยังสะท้อนถึงตัวตนของผู้เลือกเฟรมภาพ เทคนิค และจังหวะลั่นชัตเตอร์ได้อีกด้วย

     ดังนั้นตลอดระยะเวลากว่า 2 ชั่วโมงที่เดินอยู่ท่ามกลางภาพถ่ายของพระองค์ เมื่อยิ่งได้มอง ได้สัมผัสให้ลึกลงไป แท้จริงก็เหมือนว่าเราได้ทำความรู้จักกับ ‘พระราชา’ ในแง่มุมที่หลากหลาย

     ผู้เขียนตัดสินใจเขียนบทความชิ้นนี้ถึงพระองค์ในแง่มุม ‘สุภาพบุรุษ’ อย่างร่วมสมัย ด้วยเพราะชื่นชมว่านอกเหนือจากสถานะกษัตริย์ของปวงชนชาวไทย แต่เมื่อมองลึกลงไปผ่านพระราชกรณียกิจทั้งส่วนพระองค์และเพื่อประชาชน ผู้เขียนพบว่าท่านยังทรงเป็น ‘สุภาพบุรุษ’ ที่เต็มไปด้วยมิติน่าสนใจ
     สุภาพบุรุษท่านนี้เป็นแฟมิลี่แมน ภาพมากมายที่บรรจงถ่ายราชินีข้างกายทำให้รู้สึกได้ทุกครั้งถึงความโรแมนติก นอกจากนั้นยังทรงเป็นนักเดินทาง เป็นนักสำรวจและนักพัฒนา เป็นบุรุษช่างสังเกตซึ่งมักจะติดสอยมาพร้อมอารมณ์ขัน ฯลฯ

     ด้วยสถานะ ‘พระราชา’ นั้นช่างสูงส่ง หากแต่พระราชกรณียกิจมากมายตามปรัชญา ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ นั้นทำให้ภาพของราชากับราษฎรของพระองค์นั้นใกล้ชิดกันอย่างน้อยนักจะมีกษัตริย์พระองค์ใดเคยทำได้มาก่อน  

     THE STANDARD เชื่อเป็นการส่วนตัวว่าต่อไปในภายภาคหน้า ถ้าลูกหลานในรุ่นต่อไปถามกับคนรุ่นพ่อ-แม่ รุ่นปู่-ย่า เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่าพระองค์ทรงเป็น ‘พระราชา’ ในแบบไหน แนะนำอย่างง่ายที่สุดสำหรับผู้ที่กำลังจะเจอสถานการณ์แบบนี้ในอนาคตว่าให้ใช้ ‘ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์’ เป็นคู่มือในการเล่า เพราะเชื่อเหลือเกินว่าผลงานเหล่านี้ได้สรุปชีวิตและตัวตน ‘สุภาพบุรุษ’ ของท่านไว้อย่างแทบจะครบทุกมิติ ส่วนจะมีแง่มุมแบบไหนบ้าง ผู้เขียนได้เลือกส่วนหนึ่งเพื่อจุดประกายไว้ตรงนี้ ส่วนผู้อ่านท่านใดจะมอบแง่มุมเพิ่มเติม ก็ขึ้นอยู่ที่สายตาของท่านแล้ว

 

:: 1

FAMILY MAN

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ขณะเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดา โดยรถไฟพระที่นั่ง 4 มิถุนายน 2504 (ประทับจากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ทรงยืน)

 

     พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชโอรส และพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ คือหนึ่งในคอลเล็กชันภาพถ่ายที่ถูกเผยแพร่ออกมาให้ได้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าได้มองลึกลงไปในรายละเอียด THE STANDARD คิดว่านี่คือคอลเล็กชันภาพถ่ายครอบครัวที่สมบูรณ์แบบทั้งในแง่ของการเก็บบันทึกทุกช่วงวัยของ ‘เจ้าฟ้า’ ทั้ง 4 พระองค์ นอกจากนั้นยังเต็มไปด้วยความอบอุ่น อ่อนโยน ความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้อยู่หน้ากล้องถึงผู้ที่อยู่หลังกล้อง…

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยทรงพระอักษรไว้ว่า

     “ข้าพเจ้าเคยเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายภาพ และเห็นภาพฝีพระหัตถ์ในสมุดเก็บภาพถ่าย ซึ่งจะทรงจัดภาพโดยมีหมายเลขประจำภาพ ในตอนแรกจะทรงทำด้วยพระองค์เอง ภายหลังจึงทรงสอนให้มหาดเล็กทำถวาย ภาพในสมุดมีหลายอย่าง เช่น รูปครอบครัว เช่น ภาพลูกๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนโตขึ้นเป็นระยะๆ ตัวข้าพเจ้าเองเคยมีรับสั่งว่าถ่ายภาพได้ยากมาก เพราะว่าซุกซน อยู่ไม่สุข นอกจากนั้นยังมีภาพสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระราชพิธี ภาพรามเกียรติ์ที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพทิวทัศน์หรือสิ่งที่ทรงพบเห็นในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในที่ต่างๆ มีทั้งภาพสถานที่ ราษฎรที่มาเฝ้า ภาพธรรมชาติที่งดงาม” (พูน เกษจำรัส, 2532 : คำนำ)  (จากหนังสือ งานช่างของในหลวง)

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2505

 

     ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ามองลึกเข้าไปในแง่มุมแบบ ‘แฟมิลี่แมน’ นอกจากภาพถ่ายแล้ว เมื่อได้ถอดคำให้สัมภาษณ์บางส่วนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งที่ทรงพระราชทานสัมภาษณ์เป็นภาษาฝรั่งเศสแก่สถานีวิทยุโทรทัศน์ RTS (Radio Télévision Suisse) ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1960 ซึ่งก็ทำให้พบกับมิติของ ‘สุภาพบุรุษ’ ในฐานะ KING ที่มีต่อ PRINCE ได้อย่างน่าสนใจ

     “การเป็นกษัตริย์ (KING) คืออาชีพที่ค่อนข้างที่จะมีลักษณะพิเศษ เพราะว่าไม่มีการเรียน การสอนให้เป็นกษัตริย์ แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมจึงต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ชำนาญ และก็ต้องรู้ในทุกๆ เรื่องอย่างละนิด เพื่อที่จะสามารถทำความเข้าใจปัญหาที่มีในทุกๆ ด้าน”  

พระราชโอรส และพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทั้ง 4 พระองค์ เมื่อปี 2510 (จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

 

     “สำหรับลูกๆ ของผมนั้น ผมได้ศึกษาถึงปัญหานี้ เป็นปัญหาที่ใหญ่มากครับ เพราะเด็กควรจะมีชีวิตแบบเด็กธรรมดา หมายความว่าเด็กควรจะมีความสุข ได้เล่นสนุก และก็ไปโรงเรียนเพื่อเรียนวิชาต่างๆ

     “แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็มีตำแหน่ง ‘เจ้าฟ้า’ (Prince) และก็เช่นเดียวกับประเทศที่มีประชาธิปไตยอย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คำว่าเจ้าฟ้า หรือกษัตริย์เป็นคำที่มีความหมายอย่างมาก มีความพิเศษ ประชาชนไม่พิจารณาเราเหมือนมนุษย์ทั่วไป นี่แหละครับคือสิ่งที่ยากลำบาก เพราะว่าเด็กเป็นเด็ก เป็นมนุษย์ แต่ทุกคนมองมาที่เค้าเช่น เจ้าฟ้า เหมือนในนิทาน

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ปี 2509

 

     “ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนคงอยากเป็นเหมือนในนิยาย เป็นเรื่องที่แปลกครับ ผู้คนมองว่าเรารวย เรามีความสุขเหมือนกษัตริย์ เหมือนเจ้าชาย แต่นั่นไม่จริงไปซะทั้งหมดหรอกครับ”

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ปี 2511

 

     “ประชาชนทั่วไปจะมีกรอบในการดำเนินชีวิต พวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หมายความว่าหากพวกเขาทำผิดกฎหมาย ก็จะมีตำรวจ มีศาลและอีกหลายอย่าง แต่กับกษัตริย์นั้น พวกเราอยู่เหนือกฎหมาย สิ่งที่ผมสอนลูกชายมาเสมอคือ กษัตริย์นั้นจะต้องรู้ว่าสิ่งใดดีและสิ่งใดไม่ดี ด้วยตัวเอง”

 

:: 2

The Romantic Personality

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จังหวัดเชียงใหม่ 5 กุมภาพันธ์ 2517

 

     พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 นั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก นับร้อย นับพัน นับหมื่นภาพ แต่ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าพระบรมฉายาลักษณ์ที่สวยที่สุดของพระองค์นั้นทรงเกิดขึ้นจากฝีพระหัตถ์ของ ‘สุภาพบุรุษ’ ที่พระองค์ทรงร่วมเดินทางเคียงข้างไปทั่วทุกหนแห่งทั้งในฐานะราชินีและสตรีอันเป็นที่รักของ ‘พระราชา’ ที่เดินทางสมบุกสมบันมากที่สุดแห่งประวัติศาสตร์ราชวงศ์ จากเหนือ จรดใต้ จากอีสาน จนถึงริมฝั่งทะเล พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 นั้นน่าประทับใจเสมอ ซึ่งนั่นทำให้ราษฎรของพระองค์สัมผัสได้ถึงแง่มุมโรแมนติกผ่านทาง ‘กิจกรรม’ ถ่ายภาพที่ทั้งสองพระองค์มักจะทำคู่กันอยู่เสมอ

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 อ่างเก็บน้ำ จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2515

 

     ผู้เขียนเคยได้ยินคำพูดประมาณว่า “รูปที่สวยนั้นผู้ถูกถ่ายไม่ได้ยิ้มให้กับกล้อง แต่เธอยิ้มให้กับคนที่อยู่ข้างหลังกล้อง” …ซึ่งพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่ถูกบันทึกไว้ผ่านฝีพระหัตถ์ฯ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นก็เต็มไปด้วยความรู้สึกนั้นด้วยเช่นกัน

 

     สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ประเทศเดนมาร์ก 4 กันยายน 2509

 

     เช่นนั้นก็ทำให้อ้างอิงได้ถึงครั้งที่สำนักข่าวบีบีซีไทย เคยรวบรวมบันทึกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เคยได้พระราชทานสัมภาษณ์ไว้แก่บีบีซีในสารคดี Soul of a Nation – The Royal Family of Thailand (ศูนย์รวมใจของชาติ – พระราชวงศ์ไทย) ซึ่งได้นำออกมาเผยแพร่ไว้จำนวนทั้งหมด 6 ตอน และหนึ่งในนั้นคือตอนที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงประทานสัมภาษณ์ ตรัสถึง ‘รักแรกพบ’ ต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจะว่าไปทุกครั้งที่ได้อ่าน ได้ยินเรื่องราว รวมถึงภาพถ่าย ผู้เขียนอดเสียมิได้ที่จะนึกไปถึงเรื่องราวแสนโรแมนติกในนวนิยายชื่อดังอยู่บ่อยครั้ง

 

ภาพภายในรถพระที่นั่ง ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศออสเตรีย อย่างเป็นทางการ 2509

 

     “มันเป็นความเกลียดแต่แรกพบ ในฝ่ายของข้าพเจ้า เพราะพระองค์ตรัสว่าจะเสด็จมาถึงในเวลาสี่โมงเย็น แต่กลับเสด็จมาถึงในเวลาหนึ่งทุ่ม ทรงปล่อยให้ฉันยืนรออยู่ตรงนั้น และได้แต่ซ้อมถอนสายบัว ซ้อมแล้วซ้อมอีก ดังนั้นจึงเป็นความเกลียดแต่แรกพบ จากนั้นมันก็คือความรัก เป็นสิ่งธรรมดาที่คุณเคยได้ยิน รักแรกพบ

     “ฉันไม่รู้ว่าพระองค์ทรงรักฉัน เพราะขณะนั้นฉันมีอายุเพียง 15 ปี และตั้งใจว่าจะเป็นนักเปียโน นักเปียโนคอนเสิร์ต”

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ 4 กุมภาพันธ์ 2517

 

หลังจากนั้นพระองค์ (หมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช) ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ใช่ไหมครับ เกิดอะไรขึ้นครับ

     “พระองค์ประชวรอย่างหนัก และพำนักอยู่ในโรงพยาบาล ตำรวจโทรแจ้งพระราชชนนีของพระองค์ และพระราชชนนีเสด็จไปทันที แต่แทนที่จะตรัสทักทายพระราชชนนี พระองค์ทรงหยิบรูปของฉันออกมาจากกระเป๋า โดยที่ฉันไม่ทราบเลยว่าทรงมีรูปของฉันอยู่ และตรัสว่าช่วยไปตามเธอมา ฉัน.. ฉันรักเธอ ช่วยไปตามเธอมา

 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จังหวัดขอนแก่น พฤศจิกายน 2498

 

     “ฉันคิดเพียงว่าจะอยู่กับชายที่ฉันรักเท่านั้น ไม่ได้คิดถึงเรื่องหน้าที่และภาระในฐานะพระราชินีเลย”

 

ขอขอบคุณ

  • นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2560 – 7 มกราคม 2561)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X