×

‘ชะตาชีวิต’ เพลงพระราชนิพนธ์ในความทรงจำของ บอย Imagine

07.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • บอยใช้เพลง ชะตาชีวิต เพลงเดียวในการฝึกทักษะการเล่นกีตาร์คลาสสิกมาตั้งแต่อายุ 15 ปี จนกระทั่งทุกวันนี้
  • เพลงพระราชนิพนธ์ในความรู้สึกของบอยคือบทเพลงที่มีมาตรฐานเทียบเท่าเพลงสากล แต่สามารถเข้าถึงได้ง่าย แม้ว่าจะไม่ได้มีทฤษฎีดนตรีมากนักก็ตาม
  • ตามปกติเวลาทำเพลงของตัวเอง บอยจะใช้เวลาอัดเพลงเพียง 1-2 รอบ แต่ ชะตาชีวิต คือเพลงที่ทำให้เขาต้องเข้าห้องอัดมากที่สุดในชีวิต เพราะต้องการเลือกเพลงที่ดีที่สุดออกมาให้ได้

 

 

     เมื่อปีที่แล้ว แคท เรดิโอ ได้สร้างโปรเจกต์ 49 บทเพลงพระราชนิพนธ์ โดย 49 ศิลปินที่คุณคุ้นเคย ด้วยการชวนศิลปินจากทั่วประเทศมาอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านการตีความรูปแบบใหม่ในสไตล์ของตัวเอง เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ และส่งต่อบทเพลงที่แสนไพเราะและเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพทางดนตรีให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของประชาชนสืบไป

     เวลาผ่านไป 1 ปี ทุกบทเพลงยังคงทำหน้าที่ขับกล่อมและเตือนความทรงจำในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างดีที่สุด THE STANDARD ได้เชิญตัวแทน 49 ศิลปินมาพูดคุยถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นตลอดการทำงานครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ความทรงจำอันทรงคุณค่าเหล่านี้จะยังคงอยู่กับพวกเขาไปอีกนานแสนนาน

 

 

ชะตาชีวิต (H.M. Blues) – บอย Imagine

     เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 5 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ

     รงค์ ดรุณ หรือบอย Imagine สถาปนิกผู้ออกแบบเสียงเพลงจากจังหวัดเชียงใหม่ เขาเติบโตมากับเพลง ชะตาชีวิต ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และใช้เพลงนี้ในการฝึกฝนทักษะกีตาร์คลาสสิกตั้งแต่อายุ 15 ปี มาจนถึงปัจจุบัน และในวันนี้เขาได้รับโอกาสครั้งสำคัญในการอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่เขาบรรเลงมาตลอดชีวิตเพื่อถ่ายทอดสู่ผู้ฟังในแบบฉบับของเขาเองจนกลายเป็นบทเพลงที่เขาตั้งใจมากที่สุดในชีวิต ในฐานะลูกที่ต้องบรรเลงบทเพลงของพ่อให้ดีที่สุด

 

บทเพลงที่อยู่ในทุกช่วงเวลาของชีวิต

     เพลงนี้อยู่กับผมมาตั้งแต่เด็กๆ เอาจริงๆ ไม่ใช่แค่ผม แต่เชื่อว่าทุกคนก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ตอนเด็กผมยังไม่ทันรู้ความลึกซึ้งของเพลงนี้ แต่พอโตมา ได้เห็นคนเล่นกีตาร์คลาสสิก เลยได้เห็นว่าเป็นเพลงที่เมโลดี้สวยมาก หลังจากนั้นผมก็เริ่มฝึกเล่นดนตรีคลาสสิกจากเพลงนี้เลย และเป็นเพลงเดียวที่เล่นด้วย ผมคิดว่าเป็นธรรมชาติของนักดนตรีที่เมื่อได้ฟังเพลงที่ดีแล้วอยากเล่นให้ได้ ซึ่งเพลงนี้เข้าข่ายเป็นเพลงที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย

     เวลาผ่านมา 20 กว่าปี เวลาผมอยากฝึกทักษะการเล่นกีตาร์คลาสสิกก็มักจะหยิบเพลงนี้มาเล่นอยู่ตลอด และคิดว่านักดนตรีคลาสสิกในไทยทุกคนน่าจะต้องมีพื้นฐานคล้ายๆ กันคือเริ่มฝึกจากเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ เพราะถ้าฟังเฉพาะเนื้อหาของดนตรีจะเห็นว่าเป็นเพลงที่มีมาตรฐานเทียบกับเพลงสากลอื่นๆ ได้เลย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเป็นไทยที่ฟังแล้วเข้าถึงได้ง่ายไปพร้อมๆ กัน

 

 

บทเพลงที่ลึกซึ้งไพเราะตั้งแต่ครั้งแรกที่ฟัง

     ผมไม่ได้รู้เรื่องทฤษฎีทางดนตรีมาก ฟังเพลงแจ๊ซหรือคลาสสิกมาไม่เยอะ แต่ถ้าพูดในฐานะประชาชนที่มีความรู้ทางดนตรีไม่มากอย่างผมยังรู้สึกถึงความไพเราะได้ตั้งแต่ครั้งแรกและทุกๆ ครั้งที่ฟังเพลงนี้ ถ้าเพลงที่ฟังยากๆ ของต่างประเทศอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการฟัง เพื่อที่จะเข้าถึงเพลงนั้นๆ บางเพลงต้องไปอ่านหนังสือ อ่านบทวิจารณ์ว่าวงนี้เจ๋ง เพลงนี้ดีแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งเอาจริงๆ บางเพลงเราก็ไม่ได้รู้สึกแบบที่เขาพูดกันไว้ บางเพลงก็ต้องฟังนาน ต้องใช้เวลาเยอะกว่าจะรู้สึกว่าเพลงนั้นเพราะ แต่กับเพลงพระราชนิพนธ์หลายๆ เพลง เราจะรู้สึกว่าเพราะได้ด้วย ทั้งด้วยตัวดนตรี เมโลดี้ เนื้อหาทุกอย่าง

 

บทเพลงแห่งพระมหากรุณาธิคุณ

     ทุกครั้งที่ผมฟังเพลงนี้ สิ่งที่คิดตลอดคือผู้ที่แต่งเพลงแบบนี้ได้ต้องมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากๆ การสร้างงานให้คนอื่นฟัง การสร้างรอยยิ้ม สร้างความสุขให้กับทุกๆ คน พอมาคิดดูดีๆ มีเหตุผลอะไรที่พระองค์จะต้องทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงให้คนอื่นฟัง แล้วยิ่งเป็นเพลงที่ไพเราะขนาดนี้ พระองค์ต้องตั้งใจมากขนาดไหน อย่างผมเป็นนักดนตรี เป็นเรื่องปกติที่ต้องแต่งเพลงให้คนอื่นฟัง แต่พระองค์เป็นถึงพระมหากษัตริย์ มีพระราชกรณียกิจต้องปฏิบัติมากมายอยู่แล้ว แต่ก็ยังใช้เวลาที่เหลือมาทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงเพื่อผู้อื่น นอกจากความไพเราะที่พูดถึงไปแล้ว ผมว่าพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้บทเพลงพระราชนิพนธ์มีความหมายมากๆ กับคนไทยทุกคน

     ความรู้สึกเวลาเล่นดนตรี คือไม่ว่าเราจะเล่นเพลงของใครก็ตาม เหมือนเราได้เข้าไปใกล้ชิดกับผู้ประพันธ์เพลงนั้นผ่านตัวโน้ตและเสียงดนตรี เพราะฉะนั้นเวลาเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ก็เป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้ผมได้ใกล้ชิดกับพระองค์ในฐานะผู้ทรงพระราชนิพนธ์มากที่สุด

     พอรู้ว่าจะได้เล่นเพลงนี้อย่างเป็นทางการ ความรู้สึกแรกคือกดดันมาก ตามปกติเวลาผมเข้าห้องอัดเพื่อทำเพลงของตัวเอง ผมจะใช้เวลาเร็วมาก ไม่เกิน 1 หรือ 2 รอบ เพลงนั้นก็เสร็จแล้ว แต่พอเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ผมต้องเข้าห้องอัดหลายรอบมาก เพราะว่าต้องตั้งใจทำออกมาให้ดีที่สุด ถ้าเป็นเพลงของตัวเอง เล่นตามความรู้สึกออกมาได้แค่ไหนผมก็เอาแค่นั้น แต่เพลงนี้เป็นครั้งแรกที่ผมต้องเล่นหลายรอบมากเพื่อหาเวอร์ชันที่ดีที่สุด แล้วผมใช้วิธีอัดใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบทุกครั้ง เพราะฉะนั้นถ้าผิดแค่นิดเดียว หรือมีจุดไหนที่ไม่ดีก็ต้องเล่นใหม่ทั้งหมด แต่กับเรื่องเนื้อหาของดนตรีไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะเพลงของพระองค์ทรงทำไว้ดีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ผมแค่รับหน้าที่เล่นเพลงของพ่อให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้เท่านั้นเอง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising