×

จารึกประวัติศาสตร์ ในหลวง ร.10 โปรดเกล้าฯ วัน ยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร 18 ต.ค. นี้

13.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2560
  • การจัดสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบพระเมรุมาศ ดำเนินการเสร็จแล้วมากกว่า 90% ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ 100% ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้
  • การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน ดำเนินการเสร็จแล้ว 100% โดยกรมศิลปากร หลังจากนั้นจะเชิญนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในการประกอบพิธีบวงสรวงราชรถ ราชยาน ในวันที่ 21 กันยายนนี้

      งวดเวลาเข้ามาทุกขณะ สำหรับพระราชพิธีที่คนไทยทั้งแผ่นดินต่างรอคอย และเฝ้ารอชื่นชมพระเกียรติยศผ่านการถวายงานการจัดสร้างพระเมรุมาศ เพื่อให้สมพระเกียรติยศของพระผู้เป็นดั่งดวงใจไทยทั้งผอง นั่นคือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

      การเตรียมการในพระราชพิธีด้านต่างๆ เริ่มต้นมาตั้งแต่พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ล่วงเข้าสู่ พ.ศ. 2560 และจะมีพระราชพิธีอย่างเป็นทางการในห้วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 25-29 ตุลาคม พ.ศ. 2560

      ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ในวันที่ 18 ตุลาคม เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

 

 

      และวันนี้เป็นโอกาสอันดีอีกครั้งหนึ่งที่ THE STANDARD ได้ติดตาม พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

      เพื่อมาตรวจความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศฯ ณ ท้องสนามหลวง โดยมีนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร รายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน ดังนี้  

 

 

     1. งานก่อสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ ภาพรวมขณะนี้คืบหน้ามากกว่าร้อยละ 90 ประกอบด้วย

  • พระเมรุมาศ

      บุษบกทั้งเก้ายอดติดตั้งองค์ประกอบทั้งหมดแล้วเสร็จ รวมทั้งดาวเพดานภายในบุษบกประธาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกอบสะพานเกรินทางทิศเหนือของพระเมรุมาศ ส่วนงานตกแต่งด้วยผ้าทองย่น ได้ดำเนินการบริเวณฐานชาลาชั้นที่สองและสามแล้ว และกำลังขึ้นติดตั้งรอบฐานบุษบก รวมทั้งผนังภายในและภายนอกของบุษบกประธาน ซ่าง และหอเปลื้อง

 

 

  • พระที่นั่งทรงธรรม

      โดยติดตั้งรวยระกาและหน้าบันส่วนมุขประธาน พร้อมทั้งตกแต่งภายในโถงกลางและปีกอาคารทั้งหมดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบปรับอากาศ รวมทั้งงานตกแต่งภายในห้องประทับและห้องรับรองต่างๆ

  • ศาลาลูกขุน

      ศาลาลูกขุน 1 และ 2 ได้ติดตั้งองค์ประกอบสถาปัตยกรรม ระบบแสงสว่าง ดาวเพดาน ลวดลายผ้าทองย่นและลายตบสีภายในและภายนอกอาคารแล้ว อยู่ระหว่างตกแต่งรายละเอียดขั้นสุดท้ายและติดตั้งระบบระบายน้ำฝน ผ้าใบกันฝน ส่วนศาลาลูกขุนแบบที่ 3 โครงสร้างทั้งหมด รวมทั้งกั้นผนัง ทำลูกฟักและทาสีแล้ว อยู่ระหว่างตกแต่งรายละเอียดและงานระบบ

      นอกจากนี้ ยังมีทับเกษตร ทิม พลับพลายกสนามหลวง พลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท

      พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และเกยลา รวมถึงงานภูมิสถาปัตยกรรม อยู่ระหว่างดำเนินการ

 

 

     2. งานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ได้แก่

  • งานประติมากรรม

      โดยรายการที่ปั้นหล่อและเขียนสีแล้วเสร็จ ได้แก่ ประติมากรรมมหาเทพ พระพรหม พระนารายณ์ เทวดานั่งและยืน ครุฑ สัตว์ประจำทิศ ช้าง ม้า โค สิงห์ นาคราวบันได เทพนมและเทพชุมนุมรอบฐานพระเมรุมาศ

 

 

  • งานจิตรกรรมฉากบังเพลิงและจิตรกรรมโครงการพระราชดำริ

      ฉากบังเพลิงลงสีรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการผนึกชิ้นงานลงบนฉาก และเก็บรายละเอียด ส่วนงานจิตรกรรมฝาผนังโครงการพระราชดำริสำหรับติดตั้งบนพระที่นั่งทรงธรรม มีขนาดสูง 9 เมตร จำนวน 3 ผนัง ขณะนี้ได้ลงสีภาพจิตรกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำแหน่งที่ 2 (บริเวณด้านทิศใต้ของพระที่นั่งทรงธรรม) และตำแหน่งที่ 3 (บริเวณด้านทิศเหนือของพระที่นั่งทรงธรรม) แล้วเสร็จ สำหรับภาพจิตรกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำแหน่งที่ 1 (บริเวณผนังกึ่งกลางพระที่นั่งทรงธรรม) อยู่ระหว่างตัดเส้นเก็บรายละเอียด

  • งานจัดสร้างฉัตรโลหะฉลุลายกลีบบัวและฉัตรผ้าทองย่น

      อยู่ระหว่างประกอบลายฉัตรผ้าทองย่น

 

 

     3. งานประณีตศิลป์ในงานพระราชพิธี ได้แก่

  • งานจัดสร้างพระโกศจันทน์

      ดำเนินการประกอบลวดลายบนพระหีบจันทน์และพระโกศจันทน์แล้วเสร็จ คงเหลือการเก็บรายละเอียดเรื่องการปิดทอง  

  • งานจัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิ

      มี 4 แบบ จำนวนรวม 6 องค์ ขึ้นหุ่นพระโกศโลหะและกลึงถ้ำศิลาแล้วเสร็จ

  • งานออกแบบและจัดทำเครื่องสังเค็ด

     พัดรอง ผ้ากราบ ย่าม ตู้หนังสือ ธรรมมาสน์ปาติโมกข์ หีบพระปาติโมกข์ จัดทำแบบและขยายแบบทั้งหมดแล้วเสร็จ

 

 

     4. งานบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ประกอบด้วย

  • การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและราชยาน

      พระมหาพิชัยราชรถและพระที่นั่งราเชนทรยาน ได้รับการอนุรักษ์ ปิดทองประดับกระจกแล้วเสร็จ ส่วนราชรถน้อยอยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดงานปิดทองประดับกระจก

 

 

  • การจัดสร้างราชรถปืนใหญ่

      สำหรับอัญเชิญพระบรมศพเวียนอุตราวัฏ และ การจัดสร้างพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย สำหรับอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากมณฑลพิธีท้องสนามหลวง กลับสู่พระบรมมหาราชวังรอบพระเมรุมาศ ดำเนินการแล้วเสร็จ

 

 

      จัดนิทรรศการ ให้พสกนิกร มีโอกาสถวายความอาลัยอย่างใกล้ชิด

      พลเอกธนะศักดิ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นการประชุมภาพใหญ่ และได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 เกือบ 100% ภายใต้ชื่อ ‘นิทรรศการพระผู้ทรงเป็นนิรันดร์’ ซึ่งจัดขึ้นบริเวณภายในอาคารพระที่นั่งทรงธรรม แบ่งเป็น 5 โซน ดังนี้

      โซนที่ 1 เมื่อเสด็จอวตาร

      โซนที่ 2 รัชกาลที่ร่มเย็น

      โซนที่ 3 เพ็ญพระราชธรรม

      โซนที่ 4 นำพระราชไมตรี

      โซนที่ 5 พระจักรีนิวัตฟ้าตรี

      โดยแบ่งผู้เข้าชมเป็น 4 กลุ่ม คือ ประชาชนทั่วไป ผู้พิการ นักท่องเที่ยว และพระสงฆ์ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2560 ตั้งแต่เวลา 07.00-21.00 น. ของทุกวัน โดยจะจัดรถรับส่งตลอด 4 มุมเมือง รวมถึงมีอาสาสมัครคอยให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่ม

      ซึ่งจากการทดลองเดินชมนิทรรศการ หากเดินแบบเร่งรีบจะใช้เวลารอบละประมาณ 14 นาที อย่างไรก็ตาม จะต้องประเมินอีกครั้งว่าจะเปิดให้เข้าชมครั้งละหลายคน หรือจัดเป็นรอบๆ ส่วนการแสดงมหรสพ เริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น. ซึ่งจะมีการแสดงโขนดนตรีสากล ศิลปะพื้นบ้าน ปี่พาทย์บรรเลง และวงดนตรีจากศูนย์สังคีตศิลป์

      ด้านการอำนวยความสะดวกจะมีทั้งผู้ที่ต้องนั่งรถเข็น ผู้สูงอายุ และผู้พิการทางสายตา นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงพระเมรุมาศจำลองในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมีการจัดแสดงนิทรรศการเช่นเดียวกันเพื่อให้ประชาชนสามารถรับชมอย่างทั่วถึง และลดความคับคั่งของประชาชนที่จะเข้าชมนิทรรศการบริเวณท้องสนามหลวง

 

 

แจกแผ่นพับ 3 ล้านแผ่น คาดประชาชนเข้าชมวันละแสนคน

      ส่วนในพื้นที่นิทรรศการบริเวณท้องสนามหลวง จะมีการจำลองพระเมรุมาศสัตว์หิมพานต์ประกอบพระเมรุมาศในรูปแบบที่สามารถสัมผัสได้ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้มีโอกาสสัมผัสความงดงามของพระเมรุมาศ รวมถึงมี QR code แสดงรายละเอียดเนื้อหาของนิทรรศการ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ภาพที่จัดแสดงในนิทรรศการในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อให้ประชาชนศึกษารายละเอียดของนิทรรศการได้โดยไม่ต้องเข้าชม มาตรการนอกจากนี้สำหรับผู้เข้าชมนิทรรศการ จะมีการแจกแผ่นพับจำนวน 3 ล้านแผ่น เนื่องจากคาดว่าจะมีประชาชนเข้าชมนิทรรศการวันละ 1 แสนคน

      การรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกจะมีจุดคัดกรอง 3 จุดได้แก่ บริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผม กรมการรักษาดินแดน และท่าช้าง หลังจากประชาชนผ่านจุดคัดกรองแล้วจะมาที่บริเวณจุดพักคอยด้านในสนามหลวง ซึ่งจะตรงกับช่วงโค้งด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง เนื่องจากเป็นบริเวณที่สามารถมองเห็นพระเมรุมาศได้สวยสดงดงาม ประชาชนสามารถถ่ายรูประหว่างที่พักรอ รวมทั้งจะมีการจัดรถรับส่งประชาชนเบื้องต้น 6 จุด

 

 

คืบหน้าสร้างพระเมรุมาศ แล้วเสร็จทันสิ้นเดือนนี้

      ขณะที่ความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศ และอาคารประกอบพระเมรุมาศ ดำเนินการเสร็จแล้วมากกว่า 90% ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ 100% ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้อย่างแน่นอน ขณะที่การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน ดำเนินการเสร็จแล้ว 100% โดยกรมศิลปากร หลังจากนั้นจะเชิญนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในการประกอบพิธีบวงสรวงราชรถ ราชยาน ในวันที่ 21 กันยายนที่จะถึงนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising