หลังมีการเปิดใช้ธนบัตรรูปแบบใหม่ หรือแบบ 17 ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีธนบัตรชนิดราคา 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท ส่วน 500 บาท และ 1,000 บาท เตรียมออกใช้วันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยวิธีสังเกตธนบัตรที่เพิ่งออกใช้เพื่อป้องกันธนบัตรปลอม
โดยธนบัตรแบบ 17 นี้ ภาพประธานด้านหน้าเป็นพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และด้านหลังจะเป็นพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี จุดสังเกตในธนบัตรมีอยู่ 8 แห่ง ประกอบด้วย
- ลวดลายเส้นนูนภาพตราประจำพระองค์ฯ คำว่า ‘รัฐบาลไทย’ ตัวอักษรและตัวเลขแจ้งชนิดราคาจะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ
- ลายน้ำพระสาทิสลักษณ์และตัวเลขแจ้งชนิดราคามีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ มองเห็นได้ชัดเจนทั้งสองด้านเมื่อยกส่องกับแสงสว่าง
- ภาพซ้อนทับรูปพระครุฑพ่าห์ด้านหน้าและด้านหลังพิมพ์ในตำแหน่งที่ตรงกัน เมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่างจะซ้อนทับกันสนิท
- หมึกพิมพ์ชนิดพิเศษ ชนิดราคา 100 บาท ลายดอกประดิษฐ์ จะเห็นเป็นประกายเมื่อพลิกธนบัตรไปมา
- แถบสีฝังในเนื้อกระดาษ มีบางส่วนของแถบปรากฏให้เห็นเป็นระยะ เมื่อเปลี่ยนมุมมองจะเปลี่ยนสี และชนิดราคา 100 บาทจะเห็นภาพเคลื่อนไหว ภายในแถบมีข้อความบอกชนิดราคา สามารถอ่านได้เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง
- ตัวเลขแฝง ตัวเลขแจ้งชนิดราคาซ่อนไว้ในลายประดิษฐ์ มองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสงสว่าง
- สำหรับผู้บกพร่องทางสายตา รูปดอกไม้พิมพ์ด้วยลวดลายเส้นนูนแทนสัญลักษณ์แจ้งชนิดราคาในอักษรเบรลล์จะรู้สึกนูนสะดุด เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ
- ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง (UV) ลายประดิษฐ์บริเวณตอนกลางธนบัตร ตัวเลขแจ้งชนิดราคาและหมวดเลขหมายจะเรืองแสง ปรากฏเส้นใยเรืองแสงสีเหลือง แดง และน้ำเงินในเนื้อกระดาษ
สำหรับประชาชนที่ต้องการแลกธนบัตร ยังคงสามารถทยอยมาแลกธนบัตรตามสถาบันการเงินที่เปิดให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนธนบัตรทุกแบบที่ออกใช้ก่อนหน้านี้ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ โดยไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด
Photo: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์