×

“วันนี้ขอให้นิสิตเป็นกันเอง…” รัชกาลที่ 9 ทรงใช้ ‘ดนตรี’ สร้างความผูกพันกับประชาชนอย่างไร?

โดย สะเลเต
20.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เสียงดนตรีของพระองค์ไม่เพียงสร้างความสุขให้แก่ผู้ฟัง หรือช่วยสร้างสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงความรู้สึกของ ‘ประชาชน’ ให้เกิดความรักความผูกพันต่อ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ มากยิ่งขึ้น
  • บทเพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้แม้จะผ่านกาลเวลามานานหลายสิบปี แต่ท่วงทำนองที่คุ้นเคยก็ยังโลดแล่นอยู่เสมอ เช่นเดียวกับความรักความผูกพันของปวงชนชาวไทยที่มีต่อพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

     ทันทีที่ล่วงเข้าสู่เดือนตุลาคม บรรยากาศแห่งความโศกเศร้าได้เข้าปกคลุมประเทศไทยไปทุกหนทุกแห่ง เพราะเราทุกคนต่างรู้ดีว่าอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะถึงเวลาของการถวายอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

     การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของคนไทย โดยมากรู้สึกไม่ต่างจากการสูญเสียร่มโพธิ์ร่มไทรในครอบครัว ด้วย ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ มิได้ทรงเป็นเพียงพระมหากษัตริย์ผู้ครองแผ่นดิน หากแต่ยังครองใจปวงชนชาวไทยตลอด 70 ปีที่ผ่านมา

     ‘เรารักในหลวง’ มาตั้งแต่จำความได้ ยิ่งเมื่อเติบโตขึ้น ได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจก็ยิ่งเทิดทูน ด้วยจะมีพระมหากษัตริย์สักกี่พระองค์ในโลกที่ทรงงานหนักตลอดพระชนม์ชีพเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน

     ที่สำคัญ ทรงเป็นต้นแบบอันดีงามของคนไทย เพราะไม่ว่าจะเป็นพระอัจฉริยภาพด้านการบริหาร เศรษฐศาสตร์ การพัฒนา เทคโนโลยี กีฬา ศิลปะ งานช่าง หรือแม้กระทั่งดนตรี พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างล้วนนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติได้ทั้งสิ้น

“ผมเชื่อว่าถ้าพระองค์ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์จะทรงเป็นหัวหน้าวงดนตรีชั้นนำได้เลยทีเดียว”

 

วงดนตรี ‘พระราชา’ เชื่อมใจ ‘ประชาชน’

     “พวกเรารู้สึกแปลกใจมากที่พระองค์ทรงดนตรีแจ๊ซและสามารถเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม ทรงเป็นนักดนตรีที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นเพลงในจังหวะวอลซ์ โพลก้า หรือมาร์ช ก็ทรงพระราชนิพนธ์ได้ดีเยี่ยมในทุกจังหวะ  

     “ผมเชื่อว่าถ้าพระองค์ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์จะทรงเป็นหัวหน้าวงดนตรีชั้นนำได้เลยทีเดียว” เลส บราวน์ นักดนตรีแจ๊ซชาวอเมริกัน กล่าวยกย่องพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ไว้ในภาพยนตร์สารคดี ‘คีตราชัน’ ที่เคยออกฉายเมื่อปี 2539

     ความเห็นดังกล่าวไม่แตกต่างจากความคิดของพสกนิกรชาวไทยและชาวต่างชาติที่ประจักษ์ชัดในพระอัจฉริยภาพ ซึ่งเสียงดนตรีของพระองค์ไม่เพียงสร้างความสุขให้แก่ผู้ฟัง หรือช่วยสร้างสัมพันธไมตรีกับนานาอารยประเทศเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงความรู้สึกของ ‘ประชาชน’ ให้เกิดความรักความผูกพันต่อ ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ มากยิ่งขึ้น

 

 

จาก ‘ลายคราม’ สู่วงดนตรี ‘อ.ส. วันศุกร์’

     เป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่พระชนมายุ 13 พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงเรียนทั้งการเขียนโน้ต การบรรเลงดนตรีสากลต่างๆ ในแนวทางของเพลงคลาสสิก และเมื่อทรงสนพระราชหฤทัยในดนตรีแจ๊ซจึงได้ทรงฝึกด้วยพระองค์เองโดยทรงเป่าแซกโซโฟนสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีชื่อดังจนกระทั่งเกิดความชำนาญ นอกจากนี้ยังทรงฝึกเปียโนและกีตาร์เพิ่มเติมในภายหลังเพื่อใช้ประกอบการพระราชนิพนธ์เพลงและทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์

     สำหรับวงดนตรีที่ทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อครั้งเสด็จนิวัติประเทศไทยในปี 2494 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต คราแรกนั้นใช้ชื่อว่า ‘วงลายคราม’ ตามสมาชิกในวงที่ล้วนเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ซึ่งทรงคุ้นเคยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยนิยมบรรเลงแนวดิกซีแลนด์แจ๊ซที่สนุกสนานเบิกบาน ต่อมาภายหลัง แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ได้ดำเนินการหาสมาชิกมาถวายงานเพิ่มเติม เพราะนักดนตรีกิตติมศักดิ์ทรงพระชรา ไม่สามารถร่วมบรรเลงฝีมือได้อย่างเต็มที่ ซึ่งพระองค์พระราชทานชื่อวงใหม่ว่า ‘วง อ.ส. วันศุกร์’

 

 

     อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2595 กรมประชาสัมพันธ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องส่งวิทยุกำลังส่ง 100 วัตต์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงทรงก่อตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการให้ความบันเทิง สาระประโยชน์ ตลอดจนข่าวสารต่างๆ แก่ประชาชน รวมถึงออกอากาศการบรรเลงดนตรีของวงลายคราม (หรือในยุคหลังคือ วง อ.ส. วันศุกร์) เป็นประจำทุกวันศุกร์อีกด้วย     

     และไม่เพียงแต่ร่วมทรงดนตรีกับสมาชิกในวงเท่านั้น พระองค์ยังทรงจัดรายการเพลงและทรงเปิดแผ่นเสียง โดยบางครั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการโทรศัพท์เข้ามาขอเพลงและทรงรับสายด้วยพระองค์เอง เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น หรือเมื่อเกิดเหตุวาตภัยแหลมตะลุมพุก วงดนตรีก็ถูกใช้เป็นช่องทางในการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย กลายเป็นจุดกำเนิดของ ‘มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์’  

 

 

‘วันทรงดนตรี’ เชื่อมประสานคนสองรุ่น

     นอกจากจะเป็นสื่อกลางสร้างความผูกพันระหว่าง ‘พระราชา’ กับ ‘ประชาชน’ วงดนตรีสถานี อ.ส. ยังเป็นสิ่งประสานเชื่อมโยงให้ ‘ผู้ใหญ่’ ได้มีโอกาสใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนทัศนะกับ ‘คนรุ่นใหม่’ ผ่านวันทรงดนตรีอีกด้วย

     โดย ‘วันทรงดนตรี’ มีที่มาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิสิตจุฬาฯ 4,000 คนเข้าเฝ้าฯ ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2500 เพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ประสูติในวันที่ 4 กรกฎาคม 2500 ซึ่งตรงกับวันพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ

     ในวันนั้นตรงกับวันออกอากาศของวงดนตรีสถานี อ.ส. พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้นิสิตจุฬาฯ ร่วมฟังการบรรเลงดนตรีและร่วมเล่นดนตรี โดยทรงมีพระราชดำรัสว่า

 

 

     “ดนตรีวงนี้เล่นอย่างเป็นกันเอง…เล่นอย่างกันเอง อย่างที่นายแมนรัตน์ นายวง เขาพูดบ่อยๆ ว่าเป็นกันเองกับผู้ฟังดี วันนี้ขอให้นิสิตเป็นกันเอง…” และก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระองค์ทรงมีรับสั่งว่าจะนำวงดนตรีลายครามมาบรรเลงที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นที่มาของงานวันทรงดนตรีครั้งแรกที่จุฬาฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2501

     จากนั้นพระองค์ได้เสด็จฯ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อทรงดนตรีและทรงสังสรรค์ร่วมกับนิสิตนักศึกษาเป็นการส่วนพระองค์ รวมทั้งยังได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่นิสิตนักศึกษา ซึ่งภายหลังเมื่อทรงมีพระราชกรณียกิจต่างๆ มากยิ่งขึ้น การเสด็จฯ ทรงดนตรีจึงได้ยุติลงในที่สุด

     อย่างไรก็ตาม ด้วยพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี รวมถึงพระราชจริยวัตรอันงดงาม ทรงเป็นกันเอง ไม่ถือพระองค์ ทรงมีพระอารมณ์ขัน ทำให้บรรยากาศวันทรงดนตรีเหล่านั้นเป็นไปอย่างสนุกสนานครึกครื้น ทั้งยังทำให้นิสิตนักศึกษาและกลุ่มคนรุ่นใหม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อย่างมิอาจลืมเลือน แม้เวลาจะล่วงเลยมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม

 

 

‘ยิ้มสู้’ และ ‘พรปีใหม่’ บทเพลงพระราชนิพนธ์ ตัวโน้ตที่เปี่ยมกำลังใจ

     แสงเทียน, ยามเย็น, สายฝน, ใกล้รุ่ง, ชะตาชีวิต, ดวงใจกับความรัก, มาร์ชราชวัลลภ, อาทิตย์อับแสง, เทวาพาคู่ฝัน, พรปีใหม่, ยิ้มสู้, ความฝันอันสูงสุด ฯลฯ

     ตัวอย่างบทเพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้จากทั้งหมด 48 บทเพลง เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักและคุ้นเคยกันดี ซึ่งหลายบทเพลงนอกจากไพเราะกินใจ ยังเปี่ยมไปด้วยกำลังใจจากผู้ทรงพระราชนิพนธ์

     ดังเช่นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 16 ‘ยิ้มสู้’ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ในปี 2495 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทยเพื่อปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่คนตาบอด แล้วพระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานสมาคมคนตาบอด ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2495

 

เพลงพระราชนิพนธ์ ‘ยิ้มสู้’

 

     โดยพระองค์ทรงคำนึงว่าคนตาบอดต้องใช้ความจำและความสามารถมากกว่าคนทั่วไปในการเล่นดนตรี จึงทรงพระราชนิพนธ์เป็นทำนองที่จำง่าย ฟังแล้วให้อารมณ์เบิกบาน มีกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไปในอนาคต

       

     หรืออย่างเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ‘พรปีใหม่’ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนธันวาคม ปี 2494 เมื่อเสด็จนิวัติพระนคร โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอวยพรปีใหม่ เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยบทเพลง

 

เพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’

 

     จากนั้นจึงพระราชทานบทเพลงแก่วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อนำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 1 มกราคม 2495

     โดยบทเพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้แม้จะผ่านกาลเวลามานานหลายสิบปี แต่ท่วงทำนองที่คุ้นเคยก็ยังโลดแล่นอยู่เสมอ เช่นเดียวกับความรักความผูกพันของปวงชนชาวไทยที่มีต่อพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

     ไม่ว่าเมื่อใด ธ สถิตอยู่ในใจไทยนิรันดร์…

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X