×

ฟ่านปิงปิง คิง เพาเวอร์ และดีล 1.4 หมื่นล้านของมหานคร

12.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ดีลใหญ่ธุรกิจสัปดาห์นี้คือ กลุ่มคิง เพาเวอร์ ทุ่มเงิน 1.4 หมื่นล้านซื้อโครงการมหานครจาก เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นไปตามคาด
  • อาณาจักรธุรกิจของคิง เพาเวอร์ ยิ่งใหญ่นับแสนล้านบาท วันนี้ขับเคลื่อนโดย อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเจ้าสัววิชัย
  • นักท่องเที่ยวจีนคือขุมทรัพย์สำคัญของธุรกิจดิวตี้ฟรี และคิง เพาเวอร์ยังยืนยันว่าไม่ได้ทำธุรกิจแข่งกับห้างสรรพสินค้า

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนใหญ่ ‘คิง เพาเวอร์’ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาน่าจับตาอย่างยิ่ง ทั้งการขายหุ้นแอร์เอเชียกลับคืนด้วยดีลกว่า 8 พันล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2560 เปิดตัวอาณาจักรดิวตี้ฟรีที่ซอยรางน้ำใหม่ช่วงต้นปี 2561 ใช้งบประมาณกว่า 2.5 พันล้านบาท และล่าสุดเข้าซื้อโครงการมหานครด้วยเงินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท

 

ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าคิง เพาเวอร์ คิดจะทำอะไร คำตอบคงอยู่ในใจของ วิชัย ศรีวัฒนประภา นักธุรกิจซูเปอร์คอนเน็กชัน และลูกชายคนสุดท้อง อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ที่ตอนนี้เป็นหน้าฉากสำคัญของตระกูล สำนักข่าว THE STANDARD จึงไล่เลียงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ซึ่งได้ทั้งคำตอบและเกิดคำถามใหม่ๆ ในตัว

 

 

ซูเปอร์คอนเน็กชันสู่ซูเปอร์ดีลหมื่นล้าน

เมื่อ 1 ปีก่อน (มีนาคม 2560) อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ให้สัมภาษณ์ว่าต้องการผลักดันให้คิง เพาเวอร์ ติด Top 5 ของดิวตี้ฟรีทั่วโลก มีแผนระยะสั้น 5 ปีคือการเพิ่มรายได้ให้แตะ 1.4 แสนล้านบาท และวางแผนใช้เงินลงทุนกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจ โดยมองไกลถึงการเปิดธุรกิจดิวตี้ฟรีในกลุ่มประเทศอาเซียน และตั้งเป้ายอดขายสินค้าปลอดภาษีออนไลน์เป็น 10% จากรายได้ทั้งหมดด้วย

 

สำหรับภาพรวมธุรกิจของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ในปัจจุบัน เมื่อค้นจากเว็บไซต์ www.kingpower.com ยังแจ้งว่ามี 6 บริษัทในเครือ ประกอบด้วย

 

1. King Power International ประกอบกิจการร้านดิวตี้ฟรีในเมือง 3 แห่งคือ ซอยรางน้ำ พัทยา และถนนบางนา-ตราด บริหารงานโรงละครอักษรา ห้องอาหาร Ramayana และ La Moon

 

2. King Power Duty Free ประกอบกิจการร้านดิวตี้ฟรี 5 แห่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่

 

3. King Power Tax free ประกอบธุรกิจร้านขายของที่ระลึกและร้านสินค้าไทยปลอดภาษีทั้งขาเข้าและขาออกของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง

 

4. King Power Suvarnabhumi ประกอบธุรกิจบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Commercial Space) ที่ไม่ใช่ร้านค้าดิวตี้ฟรี เช่น พื้นที่สำหรับร้านอาหาร ร้านกาแฟ สาขาย่อยธนาคาร เป็นต้น ซึ่งเป็นคนละสัญญาประมูลกับร้านดิวตี้ฟรีที่มีอยู่

 

5. King Power Marketing and Management ประกอบธุรกิจขายสินค้าปลอดภาษีบนเครื่องบินให้กับการบินไทย ไทยสมายล์ ไทยแอร์เอเชีย และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์

 

6. King Power Hotel Management ประกอบธุรกิจโรงแรมหรู The Pullman Bangkok King Power ที่ซอยรางน้ำ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ

 

และล่าสุดกับ King Power MahaNakhon บริษัทที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ ถือหุ้นถึง 99.97% ซึ่งเพิ่งจดทะเบียนไม่นานก่อนหน้านี้ และปิดดีลใหญ่ระดับ 1.4 หมื่นล้านบาทกับโครงการอันลือเลื่องอย่าง ‘มหานคร’ ของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ที่ล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควรกับโปรเจกต์นี้

 

 

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสรุปได้ว่ากลุ่มคิง เพาเวอร์ ทำธุรกิจอะไรบ้าง นอกจากธุรกิจดิวตี้ฟรี โรงแรม บริหารจัดการพื้นที่พาณิชย์ในสนามบิน แล้วยังมีสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ สนามแข่งโปโล ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ประเทศอังกฤษ และล่าสุดกับบทบาทของการเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กับดีลมหานคร ข้อมูลที่ PACE แจ้งกับตลาดหลักทรัพย์คือ คิง เพาเวอร์ มหานคร ประกอบธุรกิจโรงแรม ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกลุ่มคิง เพาเวอร์ เข้าซื้อทรัพย์สินที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วม โรงแรม จุดชมวิว Observation Deck พื้นที่รีเทล 4 ชั้น อาคารรีเทลมหานครคิวบ์ และสัญญาทั้งหมดของโครงการมหานคร จุดไข่แดงสำคัญย่านใจกลางเมืองของประเทศไทย

 

 

อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ให้ข้อมูลว่าต้องการต่อยอดธุรกิจและพัฒนาให้เป็นโครงการไลฟ์สไตล์ โดยมีเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งอาคารมหานครเป็นหนึ่งในตึกที่สูงที่สุดของประเทศไทย ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านสาทร เชื่อว่าจะดึงดูดผู้คนจำนวนมาก และเป็นผลดีกับธุรกิจอย่างแน่นอน

 

สิ่งที่อัยยวัฒน์พูดนี้หมายถึงอะไรกันแน่

 

ค้าปลีกและขุมทรัพย์นักท่องเที่ยวจีนคือจิ๊กซอว์ตัวสำคัญ

รายได้ถึง 90% ของกลุ่มคิง เพาเวอร์ มาจากร้านค้าดิวตี้ฟรี ซึ่งเติบโตตามจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย อัยยวัฒน์ประกาศชัดเจนว่ากลุ่มเป้าหมายสำคัญของคิง เพาเวอร์ คือลูกค้าชาวจีน ซึ่งจากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า ปี 2560 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาที่ประเทศไทยถึง 9.8 ล้านคน เติบโต 12% จากปี 2559 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 5.2 แสนล้านบาท เติบโตเกือบ 16% และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนจะทะลุ 10 ล้านคนในปีนี้อย่างแน่นอน

 

‘ฟ่านปิงปิง’ คือคำตอบที่ชัดเจน

 

 

เดือนมกราคมที่ผ่านมา คิง เพาเวอร์ จัดงานเปิดตัว The New King Power Rangnam: Explore Endless Journey อย่างอลังการ ซึ่งใช้งบประมาณในการปรับปรุงอาณาจักรดิวตี้ฟรีใหม่เป็นเงินถึง 2.5 พันล้านบาท บนพื้นที่ 2.2 หมื่นตารางเมตร เชิญบุคคลสำคัญและเซเลบริตี้ทั่วฟ้าเมืองไทยไปร่วมงาน ลงทุนถึงขนาดขึ้นเต็มหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ธุรกิจชื่อดังได้

 

คิง เพาเวอร์ เปิดตัว ฟ่านปิงปิง ในฐานะ Global Brand Ambassador ซึ่งเธอเป็นสุดยอดนักแสดงขวัญใจชาวจีนทั่วโลก ขณะเดียวกันยังมี หวังหย่ง มนตรีแห่งรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีน มาร่วมแสดงความยินดีอีกด้วย ค่อนข้างชัดเจนทีเดียวว่าคิง เพาเวอร์ มองไกลขนาดไหน และหวังผลพอสมควรสำหรับขุมทรัพย์นักท่องเที่ยวชาวจีน

 

จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพบว่า นักท่องเที่ยวจีนจะใช้เงินกับการจับจ่ายสินค้าและบริการถึง 40% ของงบประมาณที่มี ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนทั่วโลก เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ นักท่องเที่ยวจีนนิยมซื้อสินค้าจากร้านดิวตี้ฟรี และทำให้ยอดขายโดยรวมของยุโรปในปี 2560 เพิ่มขึ้นกว่า 11% ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนกว่า 32% เลือกซื้อสินค้าที่ร้านปลอดภาษีเหล่านี้ โดยสินค้าที่นิยมซื้อมากที่สุดคือ น้ำหอม เครื่องสำอาง และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

 

นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น โอกาสขายสินค้าดิวตี้ฟรีก็เพิ่มขึ้น นั่นคือรายได้ของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และถ้าแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ เป้ารายได้ 1.4 แสนล้านบาทก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมเลย

 

คิง เพาเวอร์ จะข้ามเส้นมาแข่งกับค้าปลีกในเมืองหรือไม่

เป็นคำถามที่ท้าทายมาก ก่อนหน้านี้ทางคิง เพาเวอร์ ออกมายืนยันว่าไม่ได้ทำธุรกิจแข่งกับห้างสรรพสินค้า เพราะผู้ที่ใช้บริการร้านดิวตี้ฟรีเป็นนักท่องเที่ยว เป็นคนเดินทางที่มีการวางแผนอยู่แล้ว ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจค้าปลีกสองเจ้าใหญ่ที่ทำตลาดนี้มานาน แต่ด้วยเงินทุน รายได้ แถมยังมี ‘ซูเปอร์คอนเน็กชัน’ ขนาดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่แบรนด์ต่างๆ จะวางใจได้ง่ายๆ

 

ถ้าพิจารณาแต่กลุ่มสินค้าหรูหราทั้งของแบรนด์เนมและเครื่องสำอางนำเข้าที่สร้างยอดขายมหาศาลให้กับวงการค้าปลีก รวมถึงร้านดิวตี้ฟรีด้วย ท่าทีล่าสุดที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยืนยันข้อเสนอลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยลงจากเดิมสูงถึง 30% ให้เหลือ 5% นั่นหมายถึงราคาสินค้าหรูหราที่ขายในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองจะลดลงและจูงใจให้ซื้อมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางก็ซื้อของที่ต้องการในราคาถูกลงได้ มีหรือที่ธุรกิจดิวตี้ฟรีจะไม่กระทบ? ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีมานานแล้ว แต่ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมได้

 

นี่เป็นหนึ่งในท่าทีที่กลุ่มผู้ค้าปลีกพยายามหาช่องทางอื่นๆ เพื่อรักษาความได้เปรียบของธุรกิจ

 

และดีลหมื่นล้านล่าสุดอย่างโครงการมหานครนี้ ต้องจับตาเป็นพิเศษว่าคิง เพาเวอร์ จะใช้แลนด์มาร์กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลนี้สร้างประโยชน์กับธุรกิจได้อย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่ทุนยักษ์แห่งซอยรางน้ำจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจค้าปลีกในอนาคต และธุรกิจค้าปลีกจะปรับตัวและรักษาพื้นที่ของตนอย่างไร

 

เดอะมอลล์ กรุ๊ปและเครือเซ็นทรัลน่าจะทราบเรื่องนี้ดี

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X