ถือเป็นครั้งแรกหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิดที่ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้ออกมาพบเจอสื่อมวลชนเพื่อบอกถึงเป้าหมายทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้
การระบาดของโควิดส่งผลกระทบอย่างหนักต่อคิง เพาเวอร์ ซึ่งมีธุรกิจหลักเป็นร้านค้าปลอดภาษี หรือ Duty Free ที่อยู่ในสนามบินต่างๆ สะท้อนได้จากรายได้ที่ลดลงจนพลิกจากกำไรเป็นขาดทุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘คิง เพาเวอร์’ เขย่าโครงสร้างธุรกิจใหม่ ขยับจาก 4 เป็น 8 แกนหลัก พร้อมลงทุน 3 พันล้านบาท เสริมทัพ Duty Free อีก 10,000 ตารางเมตร
- ยังไม่ใช่ Red Ocean! ‘คิง เพาเวอร์’ เอาด้วยตลาดน้ำวิตามิน ส่ง ‘วิตมอรส์’ ลุยสังเวียน 3.5 พันล้านบาท
- King Power ขายคืนหุ้น AirAsia ธรรศพลฐ์ถือมากสุด พร้อมเดินหน้าต่อ
อย่างเช่น บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ที่ปี 2562 มีรายได้ 6,732 ล้านบาท กำไร 2,343 ล้านบาท ก็ลดลงเหลือ 282 ล้านบาท ขาดทุน 42 ล้านบาทในปี 2564 ส่วน บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ปี 2562 รายได้ 38,554 ล้านบาท กำไร 756 ล้านบาท ด้านปี 2564 มีรายได้ 1,608 ล้านบาท ขาดทุน 2,814 ล้านบาท
“2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ยากลำบากของทุกคน ทั้งภาคธุรกิจ สังคม เศรษฐกิจ รวมถึงคิง เพาเวอร์เอง” อัยยวัฒน์กล่าว “แต่บริษัทเล็งเห็นความเป็นไปได้ต่างๆ ท่ามกลางวิกฤตนั้น โดยเปลี่ยนพนักงานกว่า 12,000 คน สู่นักขายออนไลน์ จนเติบโตกว่า 1,100% และฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นนับ 100%”
ทิศทางต่อจากนี้ของ คิง เพาเวอร์ คือการขยายฐานลูกค้าใหม่ให้เข้าถึงทุกวัยและคนรุ่นใหม่ โดยตั้งเป้าลูกค้าโต 20%
“ที่ผ่านมาเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลูกค้าพบว่าลูกค้ายังคงชอบการมาหน้าร้านสาขา ชอบมาห้าง แต่พบอีกว่าลูกค้ามีทางเลือกเยอะขึ้น บริษัทต้องถามตัวเองว่าจะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร และจะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดได้อย่างไร”
คิง เพาเวอร์ได้มีการเขย่าโครงสร้างธุรกิจใหม่จากเดิม 4 เป็น 8 แกนหลัก ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจสินค้าปลอดอากร (Travel Retail), กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (Retail), กลุ่มธุรกิจอาหาร (Dining), กลุ่มธุรกิจโรงแรม (Hospitality), กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภค (Consumer Products), กลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ประสบการณ์ (Travel Experiences), กลุ่มธุรกิจกีฬา (Sports) และกลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR)
มีการลงทุน 3,000 ล้านบาท เสริมทัพ Duty Free ใหม่อีก 2 แห่งคือ ที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite Building 1) รองรับผู้โดยสารได้ราว 151,000 รายต่อวัน และอีกแห่งบนทำเลธุรกิจใจกลาง CBD ตั้งเป้ารองรับนักท่องเที่ยวราว 50,000 คนต่อวัน
“เราคาดหวังว่า Duty Free ในปีนี้จะมีสัดส่วน 80% เมื่อเทียบกับปี 2562”
กระนั้นความท้าทายของคิง เพาเวอร์ คือการที่ลูกค้าชาวจีนเพิ่งกลับมาได้ราว 30% ในขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ตั้งเป้านักท่องเที่ยวจีน 7-8 ล้านคน
หากเป็นไปตามนี้จะทำให้ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแตะ 30 ล้านคน สร้างรายได้รวม 2.38 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของตัวเลขในปี 2562
ขณะเดียวกันได้มีการเปิดตัว THE POSSIBILITIES MAKERS! เจเจ, ต้าเหนิง, 4EVE และเจฟ ซาเตอร์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีคาแรกเตอร์โดดเด่น สดใส เข้าถึงได้ และชื่นชอบการเดินทาง ซึ่งจะเข้ามาสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางให้กับผู้บริโภคและนักเดินทางทุกคน
โดยคิง เพาเวอร์ มุ่งหวังขยายฐานผู้บริโภคไปยังคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z ที่มีกำลังซื้อ เพิ่มเติมจากฐานลูกค้าเดิมที่ส่วนใหญ่เป็น Gen X และ Baby Boomer และเพื่อสร้างความผูกพันและประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์ในระยะยาว
พร้อมกันนี้ยังได้วางเป้าหมายของช่องทางออนไลน์ ภายในปี 2568 จะมีสัดส่วน 30% ของรายได้รวมของกลุ่ม จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 10% โดยมีการปรับกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ โดยการผนวกแอปพลิเคชัน FIRSTER.COM เข้ามาอยู่ใน KINGPOWER.COM ทำให้มีสินค้า 2.5 แสนรายการ ซึ่งจะเข้ามาเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน