×

สรุปเหตุ #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ เรารู้อะไรแล้วบ้าง

โดย THE STANDARD TEAM
05.07.2021
  • LOADING...
สรุปเหตุ #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ เรารู้อะไรแล้วบ้าง

เวลา 03.10 น. หรือเช้ามืดของวันที่ 5 กรกฎาคม มีรายงานรับแจ้งเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในโรงงานผลิตโฟมแห่งหนึ่งในซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทราบชื่อภายหลังคือบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด

 

จากเหตุเพลิงไหม้โรงงานแห่งหนึ่ง กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ดึงความสนใจของผู้คนท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่กำลังระบาดหนักอยู่ในขณะนี้

 

เรารู้อะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้บ้าง

 

  1. ไม่ใช่เหตุไฟไหม้โรงงานธรรมดา แต่มีสารเคมีอันตรายเป็นอุปสรรค และยังไม่รู้สาเหตุ
    • เหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกแห่งนี้ แม้เจ้าหน้าที่จะเข้าควบคุมสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา แต่การควบคุมเพลิงก็ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ 
    • หนึ่งในเหตุผลหลักเป็นเพราะโรงงานแห่งนี้เป็นที่เก็บสารเคมีที่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเม็ดพลาสติกจำนวนมาก
    • จากข้อมูลของ Hsu Cheng Cheng ผู้จัดการโรงงานหมิงตี้ ที่เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนในช่วงบ่าย แจ้งว่า โรงงานมีวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติกดังนี้

 

      • เพนเทน 60-70 ตัน
      • สไตรีนโมโนเมอร์ประมาณ 1,600 ตัน
      • น้ำประมาณ 300 ตัน

 

    • เมื่อมีสารเคมีเป็นจำนวนมาก การควบคุมเพลิงจึงจำเป็นต้องใช้โฟมเข้ามาดับไฟ โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ต้องระดมความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อระดมโฟมดับไฟจำนวนรวมกว่า 66,000 ลิตร และใช้เฮลิคอปเตอร์ KA-32 ของกองทัพบก โปรยสารเคมีทางอากาศ และสนธิกำลังกับหน่วยงานภาคพื้นดินเข้าฉีดพ่นโฟมดับเพลิงเพื่อเสริมกำลังกัน
    • แม้จะผ่านไปนานกว่า 15 ชั่วโมงนับจากเหตุเพลิงไหม้ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมเพลิงได้
    • ส่วนสาเหตุของเพลิงไหม้ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป

 

  1. สารเคมีในโรงงานอันตรายแค่ไหน
    • สำหรับสารอันตรายที่ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้เลวร้ายกว่าที่ตาเห็นคือสารสไตรีนโมโนเมอร์ ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตโฟม ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟง่าย
    • ประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สารดังกล่าวเมื่อถูกความร้อนสูงจะให้สาร 2 ชนิด คือ สไตรีนและเบนซีน โดยเบนซีนเป็นสารพิษอันตราย มีความเป็นพิษสูง และเป็นสารก่อมะเร็งตา
    • อาการของผู้ได้รับเบนซีน เมื่อหายใจเข้าไปในระดับสูง ในระยะแรกจะทำให้เกิดอาการซึม วิงเวียน คลื่นไส้ หมดสติ และใจสั่น 
    • และเมื่อสูดดมเป็นเวลานาน จะทำให้เป็นโรคมะเร็งเลือดได้
    • ด้าน สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ให้ข้อมูลว่า สารสไตรีนโมโนเมอร์เป็นสารระเหย หากหายใจเข้าไปจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา หากได้รับสารในปริมาณสูง จะชักและเสียชีวิตได้

 

  1. ความเสียหายกินวงกว้างจากแรงระเบิดและควันพิษ
    • นับตั้งแต่เกิดเหตุช่วงเช้ามืด ภาพความเสียหายของอาคารบ้านเรือนที่ได้รับแรงกระแทกจากการระเบิดถูกแชร์ลงในโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง ทั้งกระจกที่แตกร้าวและข้าวของภายในบ้านที่กระจัดกระจาย
    • ทำให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องประสานกับจังหวัดสมุทรปราการ เพื่ออพยพประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรเป็นการด่วน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดเหตุระเบิดซ้ำระหว่างที่ยังควบคุมเพลิงไม่ได้
    • โดยในรัศมี 5 กิโลเมตร ประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรม 301 แห่งที่ต้องปิดดำเนินการอย่างไม่มีกำหนด มีชุมชนอีก 243 ชุมชนรายล้อมอยู่ 
    • เบื้องต้นสำรวจพบบ้านเรือนเสียหายกว่า 155 หลัง รถยนต์ 6 คัน และรถจักรยานยนต์ 2 คัน 
    • ประชาชนและอาสาสมัครได้รับบาดเจ็บไม่น้อยกว่า 30 ราย และมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตแล้ว 1 ราย 
    • นอกจากแรงระเบิดแล้ว ยังมีกลุ่มควันสีดำเป็นจำนวนมากลอยไกลจากที่เกิดเหตุ
    • โดยกรมอุตุนิยมวิทยาเปิดเผยว่า จากการสำรวจทิศทางลมพบว่า จากจุดเกิดเหตุลมจะพัดกลุ่มหมอกควันจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปยังจังหวัดฉะเชิงเทราและนครนายก อีกทั้งประกาศเตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เพราะหากมีฝนตกลงมาชะล้างกลุ่มควัน อาจทำให้เกิดสารพิษตกลงไปในแม่น้ำ ลำคลอง หรือบ่อน้ำ จึงต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

  1. รู้จัก ‘หมิงตี้ เคมิคอล’
    • สำหรับบริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ด้วยทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท ประกอบธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น หรือผลิตเม็ดโฟม
    • รายชื่อคณะกรรมการประกอบไปด้วย 4 คน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด โดยในช่วง 5 ปีมานี้ พบว่ารายได้อยู่ในระดับพันล้านบาท ส่วนกำไรอยู่ในหลักสิบล้านบาท 
    • ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าบริษัทดังกล่าวทำประกันไว้ 3 กรมธรรม์ รวมวงเงินมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท
    • ขณะที่มูลค่าความเสียหายยังไม่มีการประเมิน

 

  1. คำถามที่ยังรอคำตอบ
    • นอกจากสาเหตุของต้นเพลิงที่ยังคงเป็นปริศนา 
    • ยังมีอีกหลายคำถามที่ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
    • ทั้งการจัดการผังเมือง ซึ่งเบื้องต้น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตอบข้อสงสัยว่า โรงงานแห่งนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 และขอใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงานตั้งแต่ยังไม่มีชุมชนเกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องตั้งคำถามถึงการจัดการผังเมืองว่าเหตุใดจึงเกิดชุมชนจำนวนมากรายล้อมโรงงานอุตสาหกรรมแห่งนี้
    • ไปจนถึงการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่ ขณะที่อุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ยังขาดความพร้อม เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยที่มีจำนวนไม่มาก
    • การจัดการมลพิษทางอากาศที่ตกค้าง
    • การเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอาคารบ้านเรือนของประชาชน 
    • และการหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวแบบนี้อีก
    • ซึ่งยังคงต้องหาคำตอบและถอดบทเรียนต่อไป 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X