ถึงแม้จะเคยเป็นเจ้าของเหรียญรางวัลโอลิมปิกที่กรุงรีโอเดจาเนโรเมื่อปี 2016 แต่สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ คิเมีย อลิซาเดห์ ยอดนักกีฬาเทควันโดหญิง ตัดสินใจแล้วว่าเธอจะลงแข่งขันในสีธงชาติใหม่ที่ไม่ใช่ธงของประเทศอิหร่านอันเป็นแผ่นดินเกิด แต่เป็นธงสีขาวของทีมชาติอพยพแทน
อลิซาเดห์ซึ่งเป็นนักกีฬาหญิงแค่คนเดียวของประเทศอิหร่าน และเก่งกาจในการเล่นเทควันโดถึงขั้นเป็นเจ้าของเหรียญทองแดงในการแข่งขัน ‘ริโอเกมส์’ ตกเป็นข่าวใหญ่ เมื่อมีข่าวว่าเธอได้หายตัวไปเมื่อปีกลายโดยไม่มีใครรู้ว่าไปที่ไหน
ก่อนที่สุดท้ายจะมีการเปิดเผยว่าเธอตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศอิหร่านเพื่อมาอาศัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนี เนื่องจากมีข้อเสนอให้ลงแข่งขันในหลายรายการ ทั้งที่เนเธอร์แลนด์ แคนาดา เบลเยียม และบัลแกเรีย
โดยเหตุผลจริงๆ ในการตัดสินใจจะทิ้งแผ่นดินเกิดมาจากความเบื่อหน่ายที่เธอถูกใช้เป็น ‘เครื่องมือ’ ของทางการ เพราะความเป็นจริงแล้วเธอเองก็ไม่ได้ต่างจากหญิงสาวอีกหลายล้านคนในอิหร่านที่ถูกกดขี่
“เทควันโดเปลี่ยนชีวิตของฉัน” อลิซาเดห์กล่าวกับสำนักข่าว Reuters “เมื่อฉันได้รับเหรียญรางวัล ฉันก็กลายเป็นนักกีฬาคนแรกในอิหร่านที่ได้รับเหรียญ และจากนั้นทุกคนก็รู้จักฉัน…และมันก็เป็นเรื่องยาก
“ฉันต้องสวมใส่ทุกอย่างที่พวกเขาบอกให้ฉันใส่ และทำในสิ่งที่พวกเขาสั่ง ทุกประโยคที่ฉันพูดคือประโยคที่พวกเขาสั่งให้ฉันพูดตาม สำหรับพวกเขาแล้ว ไม่มีใครที่มีความหมายกับพวกเขา เราเป็นเพียงแค่เครื่องมือ”
ปัจจุบันนักเทควันโดสาววัย 22 ปีตัดสินใจเดินทางมาอาศัยอยู่ในเมืองอาสชาฟเฟินเบิร์ก เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี และได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว
และแม้จะต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่เธอไม่เคยละทิ้งความฝันของการเป็นยอดนักกีฬาเทควันโด โดยยังคงฝึกซ้อมอย่างหนักกับสามีของเธอที่เป็นคู่ซ้อม ซึ่งจะมีคิวในการลงแข่งขันเพื่อชิงตั๋วแข่งโอลิมปิกในการแข่งขันรอบคัดเลือกของทวีปยุโรปที่จะเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่กรุงโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย
หากได้สิทธิ์ในการแข่งขันที่กรุงโตเกียว เธอตั้งใจแล้วว่าจะไม่ขอใช้สิทธิ์ในฐานะตัวแทนนักกีฬาของประเทศอิหร่าน และไม่ใช่ในฐานะนักกีฬาทีมชาติเยอรมนีด้วย
แต่เธอจะขอแข่งขันใต้ธงสีขาวในนามทีมชาติของผู้อพยพที่จะมีการคัดเลือกในเดือนมิถุนายน โดยจะมีนักกีฬา 55 คนลงแข่งขันใน 12 ประเภทกีฬา ซึ่งทีมชาติผู้อพยพนี้เพิ่งเริ่มมีครั้งแรกในการแข่งขันริโอเกมส์ โดยมีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้แก่นักกีฬาผู้มีความสามารถ แต่ประสบปัญหาใดๆ ก็ตามที่ไม่สามารถจะลงแข่งในนามทีมชาติของตัวเองได้
เพราะต่อให้สีธงชาติอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่หัวใจของนักกีฬายังไม่เคยเปลี่ยนไป
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: