วันนี้ (31 สิงหาคม) พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย, อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส. ยะลา พรรคพลังประชารัฐ และ รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. พร้อมองค์กรเครือสิทธิมนุษยชนปาตานี เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ รวมถึงครอบครัวผู้ถูกซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหาย ร่วมกันแถลงข่าวแสดงความยินดีที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย
โดย พญ.เพชรดาวกล่าวว่า วานนี้ (30 สิงหาคม) เป็นวันผู้สูญหายสากล หลายครอบครัวยังรอการกลับมาของบุคคลที่สูญหาย ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม ทาง กมธ. วิสามัญร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ผลักดันผ่านสภา ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ แม้ผ่านสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แล้วจะไม่ถูกใจทั้งหมดอย่างที่คาดหวัง แต่ก็ดีกว่าไม่มีกฎหมายรองรับ
“ถึงคุณปู่ที่ถูกบังคับให้สูญหายไปเมื่อ 68 ปีที่แล้ว ด้วยการฆาตกรรมและทิ้งทะเล นับเป็นกลุ่มอุ้มฆ่ารายแรกๆ ในประเทศไทย ไม่กี่วันมานี้ ตนได้รับคำขอโทษเป็นครั้งที่ 2 จากคนในตระกูลชุณหะวัณ ที่มีอำนาจในขณะนั้น ได้กล่าวขอโทษในนามครอบครัวของผู้กระทำ คำขอโทษคำเดียวที่ส่งต่อจากรุ่นมีคุณค่าทางจิตใจ และมีความหมายต่อผู้ถูกกระทำ การให้อภัยเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ กฎหมายนี้ไม่ใช่คำภีร์พิเศษที่จะหยุดยั้งการกระทำ เราต้องร่วมกันติดตามการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ลืมดูแลเยียวยากับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ กฎหมายนี้เป็นของทุกคนและทุกพรรคการเมือง ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง และเมื่อความจริงปรากฏ ความเท็จย่อมมลายหายสิ้น” พญ.เพชรดาวกล่าว
ด้านอาดิลันระบุว่า ร่างกฎหมายนี้อยู่ระหว่างที่สภาส่งไปให้รัฐบาลเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ใน 20 วัน ตามกรอบกฎหมาย โดยสาระสำคัญของกฎหมายจะเปลี่ยนแปลงกระบวนการสืบสวนสอบสวน สามารถให้ฝ่ายปกครองและอัยการร่วมสอบสวนได้ และผู้บังคับบัญชาต้องมีส่วนรับผิดชอบ รวมถึงการบันทึกภาพขณะควบคุมตัวและจับกุม เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน พร้อมย้ำการบันทึกภาพเป็นการปกป้องเจ้าหน้าที่ผู้ที่ปฏิบัติงานโดยสุจริต มีหลักฐานคุ้มครองหากถูกร้องเรียน
ขณะที่รังสิมันต์กล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐทุกรูปแบบ พร้อมย้ำว่า ความเจ็บปวดนี้ถือเป็นส่วนผลักดันให้เกิดกฎหมาย แม้อาจยังไม่สมบูรณ์ทั้งหมด แต่ถือเป็นชัยชนะของภาคประชาชน และเป็นกฎหมายที่มีฉันทามติรวมกันของทั้ง ส.ส. ฝ่ายค้านและรัฐบาล ซึ่งอาจมีบางช่วงบางตอนที่ดีกว่านี้ได้ ถ้าหากมีโอกาสเข้ามาสภาอีกก็จะเข้ามาแก้ไข และหากใครจะนำประเด็นนี้ใช้หาเสียงทางการเมือง ก็ควรจะต้องมีความมุ่งมั่นผลักดันให้กฎหมายดีกว่าเดิม
ด้านตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ สมศักดิ์ ชื่นจิตร ที่บุตรชายถูกเจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานและได้ต่อสู้มากว่า 13 ปี ระบุว่า ที่ผ่านมาตนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอันพึงมี ซึ่งต้องขอบคุณสภาที่ผ่านร่างกฎหมายนี้ แม้จะไม่เต็มร้อยแต่ก็ดีกว่าไม่มี โดยเชื่อว่ากฎหมายนี้จะทำให้ประชาชนมีหลักประกันความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ลุแก่อำนาจ กระทำให้เกิดแพะ และตนเชื่อว่าแพะไม่มีทางหมด แต่จะน้อยลงไปถ้ากฎหมายนี้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง