วันนี้ (14 พฤศจิกายน) โครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์ไอเดียสุขภาวะ หรือคิดดีไอดอล ในพื้นที่ภาคใต้ ได้นำกิจกรรมผลงานเด่นจาก 12 พื้นที่ปฏิบัติการสร้างสรรค์สื่อ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเสี่ยงด้านสุขภาพในกลุ่มเด็ก ระหว่างช่วงอายุตั้งแต่ 4-15 ปี จำนวน 1,478 คน ผ่านการลงพื้นที่จัดกิจกรรมของเยาวชนแกนนำในพื้นที่จำนวน 188 คน จาก 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, สตูล, สงขลา, ยะลา และปัตตานี พร้อมสื่อสารผ่านช่องทางสังคมออนไลน์
ฮาริส มาศชาย ผู้จัดการโครงการฯ ได้กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ‘คิดดีไอดอล’ เพื่อเปิดพื้นที่ทางความคิดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสู่ชุดประสบการณ์ในพื้นที่ปฏิบัติการจำนวน 12 พื้นที่ ใน 7 จังหวัดของพื้นที่ภาคใต้ โดยดำเนินกิจกรรมผ่านแกนนำเยาวชนสู่การเป็นนักสื่อสารสร้างสรรค์สุขภาวะภายใต้ประเด็นหลักคือ เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางกาย ป้องกันปัญหาเด็กอ้วนผ่านการชวนออกมาเล่น เพิ่มผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน พร้อมทานอาหารด้วยสูตร 2:1:1 คือผัก 2 ส่วน เนื้อ 1 ส่วน ข้าว 1 ส่วน และการเท่าทันสุขภาพในการดูแลตนเองจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการทิ้งขยะให้ถูกสุขอนามัย เป็นต้น
ฮาริสกล่าวอีกว่า ประเด็นดังกล่าว กลุ่มแกนนำเยาวชนโครงการคิดดีไอดอล ได้ออกแบบผ่านการมองสถานการณ์ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อสร้างผลงานสื่อที่ใช้ในการสื่อสารผ่านการจัดกิจกรรม โดยได้สะท้อนมุมมองความคิดในการดำเนินงานสร้างสรรค์เพื่อหวังสร้างการเปลี่ยนแปลง พร้อมสร้างความร่วมมือทั้งจากภายในทีมและภายนอก
ขณะที่ พิมศิภัทดิ์ บัณฑโต ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา ได้กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ตนได้เห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่สามารถใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร หลายประเด็นเป็นเรื่องยากในการสื่อสารออกมาให้เข้าใจได้ แต่น้องๆ ของกลุ่มคิดดีไอดอลได้ผลิตสื่อและสื่อสารได้อย่างน่าประทับใจ โดยจากการได้รับชมในครั้งนี้มีหลายผลงานที่สามารถสร้างการรับรู้และเข้าใจในประเด็นสุขภาพเพิ่มขึ้น
ด้าน อาบู ฮาแย ตัวแทนแกนนำที่ร่วมโครงการจากจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนเองรู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวเองหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการคิดดีไอดอล เพราะก่อนที่จะเข้าร่วมกิจกรรม ตนเองเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว สนุกกับการอยู่หน้าจอมือถือจนกลายเป็นเด็กติดเกม พอได้มารู้จักกับโครงการนี้ผ่านรุ่นพี่ และได้มาร่วมเวทีพัฒนาศักยภาพที่ทางโครงการได้จัดขึ้น ทำให้ตนได้เปิดมุมมองของการใช้สื่อที่มากกว่าการเล่นเกม แต่เป็นการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรม จึงได้เกิดไอเดียการสร้างสรรค์สื่อผ่านชุด Board Game สู้โควิด-19 ผ่านมุมมองการเล่นสนุกอย่างสร้างสรรค์ สร้างการเข้าถึงสุขภาวะในการป้องกันและดูแลตนเองในช่วงของการแพร่ระบาดและรับมือกับโควิด-19
อาบูกล่าวต่อไปว่า โดยเฉพาะน้องๆ ที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงและขาดการเข้าถึงข้อมูล ตนและทีมงานในกลุ่มจึงมีความสนใจในการผลิตสื่อผลงานชิ้นนี้ ซึ่งหลังจากที่ใช้สื่อชิ้นนี้เป็นเครื่องมือจัดกิจกรรมให้กับกลุ่มน้องๆ ในโรงเรียนบ้านปงตา ตำบลบือมัง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา จำนวน 40 คน พร้อมแกนนำจำนวน 15 คน น้องๆ มีผลตอบรับจากสื่อในครั้งนี้อย่างมาก ด้วยกิจกรรมที่ทางกลุ่มได้จัดและออกแบบตัวกิจกรรมที่หลากหลาย ด้วยสื่อ Board Game for Kid@Home สามารถเล่นกับเพื่อนหรือผู้ปกครองได้ พร้อมได้มอบชุดสื่อชิ้นนี้ให้กับโรงเรียน เพื่อใช้และเผยแพร่ในวงกว้างให้เกิดประโยชน์ต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล