อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร แถลงผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2562 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มธุรกิจได้รับผลกระทบจากสภาวะของตลาด ทั้งการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าและภัยแล้ง ทำให้ธนาคารเลือกที่จะเติบโตอย่างระมัดระวัง โดยธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ขนาดสินเชื่อของธนาคารยังเติบโตที่ 2.1% โดยเฉพาะกลุ่มของสินเชื่อบรรษัทเติบโต 17% สินเชื่อลอมบาร์ดเติบโต 3.9% และสินเชื่อธุรกิจเติบโต 0.6% ตามลำดับ
สำหรับสินเชื่อลูกค้ารายย่อยยังขยายตัวเกือบทุกประเภทเช่นกัน มีเพียงสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อธุรกิจ SME ที่ชะลอการเติบโต โดยมุ่งรักษาคุณภาพสินเชื่อ เพื่อลดการก่อตัวของหนี้เสียในสถานการณ์เศรษฐกิจหดตัว อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นการปรับตัวตามคาดการณ์อยู่แล้ว
ส่วนธุรกิจตลาดทุน บล.ภัทร ยังมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ขณะที่ธุรกิจวาณิชธนกิจคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังและปี 2563 จะมีรายได้จากธุรกรรมใหญ่หลายรายการที่ บล.ภัทร ได้รับเลือกให้ดำเนินการ และธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำเพิ่มขึ้นเป็น 5.47 แสนล้านบาท โดยยังคงเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความซับซ้อนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจจัดการกองทุนที่ดำเนินการผ่าน บล. ภัทร มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการของกองทุนรวมเป็นจำนวนเกือบ 7 หมื่นล้านบาท
โดยผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ของธนาคารเกียรตินาคินและบริษัทย่อยว่ามีกำไรสุทธิไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยราว 2.7 พันล้านบาท ลดลง 11.9% จากงวดเดียวกันของปี 2561 เป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุนจำนวน 327 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิกว่า 5.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิอยู่ที่ 2.14 พันล้านบาท ลดลง 2.7% และรายได้อื่นราว 1 พันล้านบาท รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 9,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7%
ด้าน ฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้แบ่งยุทธศาสตร์ธุรกิจออกเป็น 4 ส่วนคือ 1. การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นตัวเลือกของผู้บริโภคอย่างแท้จริง 2. การพัฒนาขอบเขตและขีดความสามารถทางด้านไอที 3. การให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้บริโภคที่ครบวงจรทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และ 4. การพัฒนาและสร้างแรงจูงใจให้แก่บุคลากรที่มีคุณภาพ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า