×

ขุนแผน ฟ้าฟื้น กล้าหาญ ทะเยอทะยาน เพื่อสร้างจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ไทย

09.10.2019
  • LOADING...
ขุนแผน ฟ้าฟื้น

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นจากความรู้สึกแฟนคลับผลงานกำกับภาพยนตร์ยุคแรกๆ ของโขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ อย่าง ลองของ (2548), ไชยา (2550), เฉือน (2552) และอันธพาล (2555) อีกทั้งยังเคยพูดคุยกับเขาอยู่หลายครั้งถึงความตั้งใจที่จะปั้นโปรเจกต์ ขุนพันธ์ ให้กลายเป็นจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ของไทย  

 

ถึงแม้ว่าทุกครั้งที่ดู ขุนพันธ์ ทั้ง 2 ภาคจบ เราจะกลับมาด้วยความที่รู้สึกไม่สมหวังเท่าไรนัก แต่ก็ยังเอาใจช่วย เพราะเชื่อมั่นในฝีมือและความตั้งใจว่า สักวันหนึ่งผู้ชายคนนี้จะต้องสร้างจักรวาลฮีโร่ที่ตัวเองอยากเห็นได้สำเร็จ

 

และในเวลานี้ เราคิดว่าเขากำลังขยับเข้าใกล้จุดนั้นขึ้นมาอีก 1 ระดับจาก ขุนแผน ฟ้าฟื้น ผลงานเรื่องล่าสุดที่กำลังจะเข้าฉายในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ 

 

ขุนแผน ฟ้าฟื้น

 

ก่อนหน้านี้โขมอาจจะถูกจำกัดด้วยประวัติศาสตร์ ด้วยข้อจำกัดบางอย่างของหนังไทย หรืออาจจะด้วยภาพลักษณ์ที่ทำให้คนต้องคาดหวังว่าจะได้เห็น ‘ความดาร์ก’ ทุกครั้งที่เห็นชื่อ ก้องเกียรติ โขมศิริ ปรากฏขึ้นมา 

 

แต่ใน ขุนแผน ฟ้าฟื้น เรารู้สึกได้ถึงความปลอดโปร่ง และพาตัวเองออกมาจากข้อจำกัดเหล่านั้น จนกลายเป็นหนัง Parody ที่ล้อเลียน จิกกัดสังคม (รวมทั้งหนังของตัวเอง) ด้วยการหยิบป๊อปคัลเจอร์ทั้งหลายมาตีความใหม่ด้วยความเคารพ

 

เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนบริบทของกรุงศรีอยุธยาให้เป็น ‘อยูทาห์’ (อยู่ท่าน้ำ) มหานครแห่งความฝันที่ผู้คนสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น มีการจัดงาน Expo ยิ่งใหญ่, มีสถานบันเทิงที่รื่นเริงด้วยแสงสีและเพลงสายย่อ, มีเครื่องวัดแอลกอฮอล์ที่ประยุกต์ตามยุคสมัย, มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจด้วยความ ‘ซื่อสัตย์’ ไปจนถึง ‘เกี้ยวรับจ้าง’ ที่ตะโกนบอกว่าว่างแต่ปฏิเสธผู้โดยสารเพราะต้อง ‘ไปส่งรถ’ 

 

ขุนแผน ฟ้าฟื้น

 

ไปพร้อมๆ กับการตีความตัวละคร แก้ว (มาริโอ้ เมาเร่อ) ให้กลายเป็น เด็กหนุ่มความจำเสื่อม จอมกะล่อน หากินด้วยการลักเล็กขโมยน้อย และตัดสินใจสมัครทหารเพราะอยากทำให้ผู้หญิงประทับใจ

 

พิม (ฟ้า-ยงวรี งามเกษม) ที่ถูกเพิ่มน้ำหนักความสัมพันธ์ระหว่างแก้วและช้าง ที่ทำให้เธอเป็นฝ่ายมีสิทธิ์ตัดสินใจ ‘เลือก’ คนรักมากขึ้นกว่าการถูกประณามว่าเป็น ‘นางวันทองสองใจ’ เพราะถูกบังคับเพียงอย่างเดียว 

 

และ ช้าง (ฟิลลิปส์-ณัทธนพล ทินโรจน์) หนุ่มหล่อร่างกายกำยำ ที่ดำเนินชีวิตด้วย ‘ความรัก’ มากกว่าความใคร่ กลายเป็นตัวละครสีเทาจนเกือบขาวที่ทำให้ผู้ชมรักได้ไม่แพ้แก้วที่เป็นพระเอก เป็นตัวละครที่ตีความใหม่ได้น่าสนใจที่สุด ราวกับต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับขุนช้างที่เราเคยรู้จัก รวมทั้งหนังเรื่อง ขุนแผน (2545) ที่โขมเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทเองด้วย 

 

ขุนแผน ฟ้าฟื้น

 

รวมทั้งตัวละครรายล้อมที่นำวัฒนธรรมสมัยใหม่ไปจับอย่าง เพชร (โจเซฟ-สิรินัฎฐ์ อภิจันทร์เดช) หนุ่มผิวสีผมหยิก หน้าฝรั่ง แต่เชื่อว่าตัวเองมาจากเมืองจีน, ราม (หรั่ง-อภิวิชญ์ เรียร์ดอน) นักประดิษฐ์ขี้สงสัยที่มี ‘มด’ เป็นทีเด็ด, อาจารย์เดช หมอผีไฮเทค (ต๊อก-ศุภกร กิจสุวรรณ) ที่สอนวิชาให้แก้ว และ มะนาว (รถบัส-ภคพล ตัณฑ์พาณิชย์) กุมารน้อยสุดน่ารักที่อ้าปากครั้งเดียวคนขำลั่นทั้งโรง ฯลฯ ก็ช่วยสร้างสีสันได้เป็นอย่างดี 

 

ขุนแผน ฟ้าฟื้น

 

ส่วนตัวร้ายที่แม้จะไม่ได้มีมิติของตัวละครที่ลึกเท่าไรนัก นอกจากความแค้นของ แสนตรีเพชรกล้า (ปราโมทย์ แสงศร) จอมเวทย์มนตร์ดำที่เคยถูกกลุ่มอาตมาท 35 นักรบผู้ปกป้องกรุงอยูทาห์ทำร้าย ก็ถูกชดเชยด้วยสเปเชียลเอฟเฟกต์กลุ่มหมอกดำที่ดูน่ากลัว 

 

ลูกน้องอย่าง เหมรัศมีสีจันทน์ (เจด-แองเจลิน่า โฟรม็องโต้) ก็มีอาวุธ ลูกเล่น และคิวบู๊ที่สวยงามมาชดเชย โดยเฉพาะชายในหน้ากากบุคลิกลึกลับและเซอร์ไพรส์คนดูได้เป็นอย่างดี 

 

ถึงแม้ในภาพรวมทั้งหมด ขุนแผน ฟ้าฟื้น อาจไม่ใช่หนังที่เราจะเรียกว่าสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะยังมีบาดแผลและช่องโหว่เล็กๆ น้อยๆ อย่างการบิลด์อารมณ์ในบางฉากได้ไม่สุด แถมบางจังหวะยังมีมุกตลกที่ต่อไม่ติด การตัดต่อ และลำดับเรื่องที่กระโดดไปมาให้เห็นอยู่บ้าง ฯลฯ 

 

ขุนแผน ฟ้าฟื้น

 

แต่อย่างน้อยเราก็สามารถพูดได้ว่า ขุนแผน ฟ้าฟื้น เป็นหนังที่ ‘บันเทิง’ ที่สุดได้อย่างเต็มปาก ความผิดพลาดทั้งหมดที่เกิดขึ้นถูกลบล้างได้จากความตั้งใจและทะเยอทะยานที่จะผลักดันให้หนังเรื่องนี้หลากหลายและท้าทายความเชื่อในการทำหนังไทยไปไกลกว่าที่หลายๆ เรื่องเคยทำเอาไว้ 

 

เราได้เห็นการทำฉากมิวสิคัลแบบ La La Land, เห็นละครเพลงที่โด่งดังในหนังอินเดีย, เห็นฉากพรมวิเศษจาก Aladdin ที่มีเพลง ลาลาลอย (100%) ของ The TOYS มาประกอบ, เห็นการใช้แอนิเมชันมาช่วยเล่าเรื่องในตอนต้น, เห็นงาน CG ฉายภาพมุมสูงของเมืองอยูทาห์ที่พัฒนาขึ้นไปอีกระดับ

 

เห็นฉากต่อสู้ที่คิดว่าคนออกแบบน่าจะเป็นเกมเมอร์ที่เคยผ่านประสบการณ์ในเกมตระกูล Dark Soul หรือ Bloodbourne มาก่อน, เห็นฉากสมัยใหม่ซ้อนทับกับโลกในอดีต ฯลฯ ที่บางฉากก็ถึงขั้น ‘กาว’ หลุดโลก เหมือนตอนอ่านการ์ตูนกินทามะหรือคุโร่มาตี้ที่ทำให้เราคิดขึ้นมาในหัวว่า จะเอาแบบนี้จริงๆ เหรอ! อยู่ตลอดเวลา 

 

เห็นความพยายามสร้างจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ไทยอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่า ‘ความเป็นไทย’ ไม่ได้มีอยู่แค่ในประวัติศาสตร์ แต่อยู่ที่การตีความ ปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่อง และวิธีการนำเสนอให้เข้ากับยุคสมัย ตอกย้ำความเชื่อที่โขมเคยพูดเอาไว้ว่า “ถ้า Marvel มีซูเปอร์ฮีโร่ของเขาได้ ประเทศไทยก็ต้องมีซูเปอร์ฮีโร่ในแบบของเราได้เหมือนกัน” 

 

ฮีโร่ไทยที่ไม่จำเป็นต้องเครียด ขึงขัง และ ก้องเกียรติ โขมศิริ ก็ไม่จำเป็นจะต้องทำหนังที่ ‘ดาร์ก’ ออกมาได้อย่างเดียว แถมยังมีเซนส์ของความโรแมนติกและคอเมดี้ที่เข้าถึงคนจำนวนมากได้เป็นอย่างดี 

 

อย่างที่บอกไปว่า ขุนแผน ฟ้าฟื้น อาจยังไม่ถึงขั้นเป็นหนังที่สมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยก็ดีพอที่เราอยากเอาใจช่วยและกล้าออกปากชวนให้ทุกคนไปดู 

 

และไม่ใช่แค่ว่าเราควรสนับสนุนด้วยประโยคคลาสสิกอย่าง ‘เป็นคนไทยต้องสนับสนุนหนังไทย’ แต่เป็นเพราะว่าเรารักใน ‘ความทะเยอะทะยาน’ ของผู้กำกับและทีมงานทุกคนในเรื่องนี้จริงๆ

 

https://www.youtube.com/watch?v=-4VvZTmqDjU

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X