วันนี้ (27 ธันวาคม) บริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด (KHON KAEN FISHING NET: KKF) ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวผู้ต้องขังในไทยถูกบังคับให้ผลิตอวนกับบริษัทเอกชน โดยระบุว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวและรายงานผู้ต้องขังในไทยถูกบังคับให้ผลิตอวนกับบริษัทเอกชนภายใต้การถูกข่มขู่และทารุณกรรม
ซึ่งในรายงานมีการกล่าวถึงบริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด นั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อบริษัท ดังนั้นผู้บริหารของบริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด จึงขอแถลงการณ์ให้ข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้
- บริษัทมีความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยนโยบายการปฏิบัติงานภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการผลิต ด้านแรงงาน ด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อม เป็นต้น
- บริษัทได้มีการมอบงานจัดจ้างให้ผู้ต้องขังผลิตแหอวนจริง เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามโครงการของกรมราชทัณฑ์ คือ ‘สร้างงาน สร้างอาชีพ’ ให้กับผู้ต้องขัง โดยการนำชิ้นงานหรือสินค้าของบริษัทเอกชนเข้าไปสร้างงานและฝึกทักษะอาชีพในเรือนจำ เช่น สินค้าสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ หรือสินค้าแหอวน ตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับโครงการ ‘คืนคนดีสู่สังคม’ หลังจากผู้ต้องขังพ้นโทษแล้วกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวด้วยทักษะอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำต่อไป
- บริษัทได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรมราชทัณฑ์อย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องการจ่ายค่าจ้าง ระยะเวลาการทำงาน หรือลักษณะงานตามมาตรฐานที่สามารถจัดจ้างได้ตามข้อกำหนด รวมทั้งได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ครูฝึกเข้าไปช่วยฝึกทักษะการทำงานให้กับผู้ต้องขัง และได้มีการประเมินทักษะจนมั่นใจก่อนให้ผู้ต้องขังปฏิบัติงาน
บริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปฎิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน การใช้แรงงานบังคับ (Forced Labor) หรือแม้กระทั่งการปฏิบัติที่อาจเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่มีการตรวจสอบแล้วพบว่าเรือนจำ สังกัดกรมราชทัณฑ์ ได้มีการบังคับขู่เข็ญหรือทำร้ายผู้ต้องขังเพื่อให้ทำงานอย่างไม่เป็นธรรมและขัดต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ต้องขังที่ไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกรมราชทัณฑ์แล้วนั้น บริษัทจะดำเนินการยกเลิกการว่าจ้างงานกับเรือนจำดังกล่าวทันที โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ทีมข่าว THE STANDARD ต่อสายไปยัง บดินทร์ เสรีโยธิน ผู้อำนวยการสายการตลาด เพื่อสอบถามในรายละเอียดเพิ่มเติมถึงกรณีดังกล่าว โดยบดินทร์ระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการร่วมมือกับเรือนจำหรือกรมราชทัณฑ์หลายแห่งในไทย โดยยืนยันว่าเจตนาจริงๆ คือการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับกลุ่มนักโทษในเรือนจำ ให้มีอาชีพอาชีพที่สุจริตในชีวิตหลังเรือนจำ
ส่วนกรณีที่มูลนิธิ Thomson Reuters รายงานว่าปีที่แล้วบริษัทส่งออกอวนจำนวน 2,364 ตัน ตีเป็นมูลค่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 404.18 ล้านบาท ทางบดินทร์บอกว่า ไม่เป็นความจริง โดยตัวเลขการส่งแหอวนออกไปยังสหรัฐอเมริกาของบริษัท มีเพียง 4 ตัน คิดเป็นเงิน 1 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ ในปีนี้เป็นศูนย์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ของบริษัทสามารถตรวจสอบได้ พร้อมยืนยันว่าบริษัทไม่มีการบังคับขู่เข็ญให้นักโทษในเรือนจำต้องผลิตแหอวนโดยไม่เต็มใจ เนื่องจากสายงานผลิตหลักของบริษัทมีอยู่ตามโรงงานอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องบังคับให้นักโทษในเรือนจำต้องมาผลิตแหอวนตามที่มีรายงานออกมา