×

‘ยุคอันธพาล เปลี่ยนจุดอ่อนคู่แข่งเป็นจุดแข็งตัวเอง’ บทเรียนชีวิต 29 ปี ‘คมสันต์ ลี’ ปั้น ‘Flash Express’ เป็นยูนิคอร์นอย่างไร

27.05.2021
  • LOADING...
คมสันต์ ลี

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • คมสันต์ ลี ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Flash Express ใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้นในการพา Flash ผงาดขึ้นเป็น ‘สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น’ มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท และกลายเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร
  • หนึ่งในกลยุทธ์ที่คมสันต์ให้ความสำคัญกับ Flash คือการเปลี่ยนจุดอ่อนคู่แข่งมาเป็นจุดแข็งของเขา โดยในวันที่ธุรกิจยังกระท่อนกระแท่น งบประมาณยังมีอยู่จำกัด เขาเปลี่ยนพนักงานตัวเองให้เป็นสาขาเคลื่อนที่ วิ่งเข้าไปรับของที่หน้าบ้านแบบ Door-to-Door Service เพื่อแก้ปัญหาการไม่สามารถทุ่มงบตั้งสาขาหน้าร้านใหม่ๆ ของตัวเองได้
  • ในอนาคตยังเตรียมจะเปิด ‘Flash Pay’ หรืออีวอลเล็ต ช่องทางรับชำระค่าบริการให้กับลูกค้า และ ‘Flash Money’ ที่จะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะได้เห็นในเร็วๆ นี้ 

“สวัสดีครับ” เรากล่าวทักทาย คมสันต์ ลี ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Flash Express ที่เดินทางมาเยือนออฟฟิศของ THE STANDARD ในช่วงสายวันหนึ่ง เพื่ออัดพอดแคสต์รายการ THE SECRET SAUCE พลางแอบสังเกตเห็นว่า จู่ๆ สายตาของเขาก็หันไปจับจ้องโต๊ะไม้ตัวหนึ่งซึ่งตั้งตระหง่านพิงเสาใหญ่ใจกลางออฟฟิศ ก่อนจะพุ่งตรงปรี่เข้าไปสำรวจพัสดุน้อยใหญ่ที่วางเรียงรายอยู่บนโต๊ะตัวดังกล่าวด้วยการสาดส่องสายตาและท่าทีระมัดระวัง

 

“ไม่มีของ Flash เลยหนิ” เขาหันไปพูดกับทีมงานที่เดินทางมาด้วย พร้อมรอยยิ้มที่มุมปาก ซึ่งยากต่อการจะตีความเหลือเกินว่าเป็น ‘น้ำเสียงกึ่งหยอก’ หรือกำลังตอกย้ำว่ามีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นกันแน่?

 

ในวัย 29 ปี คมสันต์ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของยุคนี้ จากการพา Flash Express สตาร์ทอัพผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร ทะยานขึ้นสู่การเป็น ‘ยูนิคอร์น’ มูลค่า 3 หมื่นล้านบาทได้สำเร็จในช่วงระยะเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น

 

ทั้งๆ ที่ถ้าย้อนกลับไปช่วงก่อนเริ่มธุรกิจกับ Flash ใหม่ๆ เขาต้องล้มลุกคลุกคลานจนเกือบจะลุกไม่ขึ้น ถูกเอาเปรียบ ขโมยบรีฟและแผนงานไปรันธุรกิจเอง ผ่านการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน และเคยเกือบต้อง ‘หย่า’ กับภรรยาด้วยสาเหตุของการเดิมพันเส้นทางใหม่กับ Flash ที่มีเดิมพันคือความเป็นอยู่ที่สุขสบายของภรรยาและลูกๆ

 

แถมถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ชีวิตของชายหนุ่มที่มาจากดอยวาวีผู้นี้ก็ไม่ได้ราบรื่นสวยงามหรือมีต้นทุนชีวิตที่สวยหรูเหมือนใครๆ โดยเฉพาะหากเทียบกับเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน

 

อะไรทำให้คมสันต์สามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้สำเร็จ หลักคิดในการดำเนินธุรกิจของเขาตั้งแต่เด็กจนโต กระทั่งปั้น Flash ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งในแบรนด์ธุรกิจที่ร้อนแรง น่าจับตาสุดๆ ในชั่วโมงนี้คืออะไร THE STANDARD WEALTH และ THE SECRET SAUCE ชวนคุณมาถอดบทเรียนชีวิตของเขาไปด้วยกัน

 

 

บทเรียนที่ 1: อย่าให้โชคชะตามาขีดเส้นโอกาส ‘หมั่นสังเกต’ และวิเคราะห์เรื่องราวรอบตัวให้ออก

“ตอนผมเป็นเด็ก อาจารย์ให้เราขึ้นเวทีสุนทรพจน์ เพื่อนๆ ก็พูดกันว่าอยากเป็นตำรวจ เป็นทหาร หรือเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ผมบอกว่า ‘อยากเป็นคนมีเงิน’ ได้ยินแบบนั้นเพื่อนๆ เขาก็หัวเราะเรา แต่ในใจลึกๆ เราอยากจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ”

 

คมสันต์เล่าย้อนความหลังของเขาในวัยเด็ก ซึ่งเป็นคำตอบที่วาดภาพชีวิตในช่วงวัยนั้นของเขาให้เราได้เห็นเป็นอย่างดี

 

ในวัยเด็ก คมสันต์เติบโตมาในครอบครัวที่อาศัยบนดอยวาวีด้วยสถานภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก ไม่สู้ดี หรือมีต้นทุนชีวิตที่วิเศษเลิศเลอไปกว่าใครๆ คุณพ่อของเขาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาๆ ทั่วไป ส่วนคุณแม่เป็นคุณครูสอนภาษาจีน 

 

แต่แล้วชีวิตก็มาถึงจุดพลิกผัน เมื่อทั้งพ่อและแม่ของเขาตัดสินใจแยกทางกัน จนนำไปสู่การเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ที่เขาจะต้องเติบโตขึ้น เป็นผู้นำครอบครัวมากขึ้น เพื่อดูแลน้องชาย น้องสาว และครอบครัว ให้ยังสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างสุขสบาย

 

“ช่วงที่พ่อแม่ผมแยกทางกันใหม่ๆ ชีวิตผมแย่มาก แม้จะไม่ต้องการเป็นภาระให้กับครอบครัว แต่ในทางกลับกัน ผมก็อายุยังน้อย ไม่สามารถหารายได้เข้ามาช่วยเหลือครอบครัว ช่วงหนึ่งผมถึงขั้นที่ชีวิตหลงทาง พยายามหาจุดเด่นให้กับตัวเองด้วยวิธีการเรียกร้องความสนใจในทางที่ผิด ไปหาเรื่องทะเลาะ ดื่มเหล้า แล้วก็ถูกตำรวจจับอยู่หนึ่งคืน

 

“ผ่านช่วงนั้นมาได้ ผมก็มีโอกาสได้ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เอกธุรกิจระหว่างประเทศ ด้วยความที่คุณแม่ผมเป็นอาจารย์สอนภาษาจีน เราเลยได้ภาษาจีนมาตั้งแต่เด็กๆ สื่อสารรู้เรื่องเหมือนเป็นภาษาแม่ของเราอีกภาษา ตอนนั้นจำได้ว่าช่วงที่ผมเข้าไปเรียน มหาวิทยาลัยของผมมีนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากจีนจีนอยู่เกือบ 200 คน เลยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนแนวคิด ความคิดเห็นในการทำธุรกิจกับพวกเขาเยอะมากๆ”

 

ไม่นานนักหลังจากนั้น ในช่วงการเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง คมสันต์ตัดสินใจเปิดร้านขายของชำขึ้นมาเพื่อขายของให้กับนักศึกษาต่างชาติ เน้นไปที่เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคนำเข้าจากจีน โดยมีต้นทุนจากการเก็บหอมรอมริบในช่วงทำงานพิเศษตั้งแต่ยังเยาว์วัย ซึ่งทำกำไรได้ดีมากๆ เพราะได้รับความสนใจจากเพื่อนๆ นักศึกษาชาวจีนล้นหลาม (เป็นโอกาสที่สามารถนำความรู้การนำเข้าสินค้าและพิธีการทางศุลกากรจากเอกวิชาที่เลือกเรียน มาทดลองใช้ในสนามการทำงานจริงตั้งแต่ยังเรียนอยู่)

 

ไทม์ไลน์ไล่เลี่ยกัน คมสันต์ยังเริ่มต้นธุรกิจไฟแนนซ์คู่ขนานไปด้วย เพราะเห็นว่าร้านค้า ร้านอาหาร บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยนั้นมีเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ทุกร้านที่จะมีเงินทุนในมือเพียงพอต่อการบริหารร้าน ซื้อวัตถุดิบ เขาจึงเกิดไอเดียกลับสมการด้วยการ ‘รับอาสาไปซื้อวัตถุดิบมาส่งให้กับร้านรวงต่างๆ’ พร้อมออกทุนให้ก่อน แล้วค่อยมาเก็บเงินในช่วงเย็นวันนั้นพร้อมรับออร์เดอร์ในวันถัดไป เพราะเป็นช่วงที่พ่อค้าแม่ขายเริ่มมีรายรับเข้ากระเป๋าแล้ว โดยใช้เวลาถึง 2 เดือนในการเพิ่มลูกค้า ก่อนจะเริ่มรันโมเดลเก็บดอกเบี้ยในภายหลัง

 

จากนั้นชีวิตของเขาก็มีอันต้องพลิกผันอีกคำรบ จับพลัดจับผลูเข้าไปมีโอกาสได้ทำงานในบริษัทข้ามชาติจากจีนที่ทำธุรกิจเหมืองทราย ซึ่งเปรียบเสมือนสนามประลองด่านแรกๆ ที่ทำให้เขาเริ่มต้นได้ชิมลางงานบริหารอย่างจริงจัง กระทั่งได้ย้ายไปเชียงใหม่ จับธุรกิจนายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์ให้กับคนจีน

 

จุดนี้เองที่ทำให้คมสันต์เริ่มได้แตกไลน์ธุรกิจของตัวเองอีกครั้ง ด้วยเห็นว่าคนจีนจำนวนมากที่อาศัยในไทยก็ยังต้องการใช้สินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนอยู่ ส่วนญาติพี่น้องก็มีความต้องการสินค้าจากไทยส่งกลับไปในบางครั้งบางคราว เขาจึงปิ๊งไอเดียปั้นธุรกิจส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) และอู้ฟู่มากๆ จนทำให้มีกำไรแซงหน้าธุรกิจหลักอย่างอสังหาริมทรัพย์ไปแบบไม่รู้ตัว

 

ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ Flash Express ในปี 2017 ในช่วงที่เขาเพิ่งจะมีอายุแค่ 25 ปีเท่านั้น โดยอาศัยประสบการณ์จากการทำธุรกิจส่งสินค้าระหว่างประเทศ และการศึกษาดูงานที่จีน ซึ่งเป็นช่วงที่อีคอมเมิร์ซเริ่มบูม และบริการส่งสินค้าแบบ Last-Mile Delivery กำลังเป็นที่นิยมคึกคักพอดี

 

 

บทเรียนที่ 2: จับจังหวะให้ถูก ‘ไม่เร็วเกิน’ หรือช้าไป เปลี่ยน ‘จุดอ่อนคู่แข่ง’ มาเป็น ‘จุดแข็งเรา’

หากถามว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Flash Express ก้าวเข้ามาในสังเวียนธุรกิจโลจิสติสก์และอีคอมเมิร์ซ จนได้รับการยอมรับจากผู้คนจำนวนมาก ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยที่ตัดปัจจัยด้านกลยุทธ์ธุรกิจหรือฟีเจอร์เสริมพิเศษใดๆ ก็ตามออกไปก่อน คำตอบแรกที่เราจะได้รับจากคมสันต์ก็คือ ‘จังหวะที่ถูกต้องกับเวลาที่เหมาะสม’ 

 

“ผมคิดว่าเราโชคดีที่เข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ในเวลาที่ใช่มากๆ ถ้าผมเข้ามาก่อน อุตสาหกรรมจะเกิดหนึ่งปี มันก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่านี้ ต้องลงทุนมหาศาลเพื่อถางป่า ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่บริษัทเล็กๆ ระดับสตาร์ทอัพอย่างเราจะทำได้เลย แต่ถ้าเข้ามาหลังหรือช้าไปกว่านี้หนึ่งปี โอกาสนี้ก็อาจจะไม่ใช่ของผม เพราะจะมีผู้ให้บริการที่แข็งแกร่งจำนวนมากอยู่ในตลาด ผมกล้าพูดเลยว่าช่วงที่เริ่มทำ Flash เป็นเวลาที่เหมาะเจาะมากๆ” คมสันต์บอกกับเรา

 

เขาเริ่มเล่าต่อว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Flash สามารถโลดแล่นต่อกรกับคู่แข่งธุรกิจรายอื่นๆ ได้หวือหวาด้วยกำลังที่มีเพียงน้อยนิดนั้น มาจากการที่พวกเขาสามารถ ‘เปลี่ยนจุดอ่อน’ ของคู่แข่ง มาเป็นจุดแข็งของตัวเองได้อย่าลงตัว 

 

เช่น จากเดิม ในสถานการณ์ภาพรวมบริการโลจิสติสก์ในเวลานั้น ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ที่เป็นรายใหญ่ๆ ในตลาดจะให้บริการแค่วันทำการ จันทร์-ศุกร์ เน้นการขยายสาขาไปในพื้นที่ที่หลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าเดินทางเข้ามาส่งของ

 

คมสันต์จึงพลิกกระดานหมาก เปลี่ยนสมรภูมิการแข่งให้ Flash ได้เล่นในสนามที่ตัวเองได้เปรียบ ปรับมาให้บริการทุกวันแบบไม่มีหยุดพักตลอด 365 วัน แล้วพัฒนาบริการแบบ ‘Door-to-Door Service’ หรือให้พนักงานส่งของทำตัวเองเป็น ‘สาขาเคลื่อนที่’ เดินทางเข้าไปเคาะประตูรับของจากผู้ส่งด้วยตัวเองแทน

 

“อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ Flash ประสบความสำเร็จ ก็เพราะเราค้นหาจุดที่ผู้ให้บริการอื่นๆ ยังทำได้ไม่ดีพอเจอ หลายๆ บริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจก็มักมองว่าอุตสาหกรรมนี้ต้องการอะไร มีบริการอะไรบ้าง เขาก็ไปทำบริการแล้วทำให้มันดี แต่จริงๆ แล้วผมกลับมองต่างออกไป คิดว่าสิ่งที่คนอื่นทำได้ดีอยู่แล้ว เราไม่ควรทำ เพราะเราจะต้องใช้กำลังมากกว่าสองเท่า เพื่อทำให้ได้มาตรฐานเท่าคนอื่น 

 

 

“แต่สิ่งที่เราควรทำมากที่สุดคือศึกษาว่าอะไรที่คนอื่นยังทำได้ไม่ดี ถ้าคนอื่นทำได้ไม่ดี เราใช้กำลังเพียงเล็กน้อยก็จะสามารถแซงคนอื่นได้โดยอัตโนมัติ วันที่เราเข้ามาในตลาด ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ทำงานแค่วันจันทร์-ศุกร์ เราเป็นรายแรกที่ทำงาน 365 วัน 

 

“อย่างที่สองคือผู้บริโภคหรือผู้ให้บริการส่วนใหญ่ใช้วิธีการเปิดสาขาในทุกโลเคชัน จากนั้นให้ผู้บริโภคเดินทางไปจัดส่งสินค้าเองที่สาขาของผู้ให้บริการ ซึ่งในประเทศที่อีคอมเมิร์ซพัฒนาแล้ว ไม่มีประเทศไหนที่ต้องให้ผู้บริโภคเดินทางไปเอง ผมเชื่อว่าโลกของอดีตคือข้อมูลมันไม่ได้เชื่อมโยงเข้าถึงกัน ทำให้ผู้บริโภคต้องเดินทางเข้าไปหาธุรกิจ แต่วันนี้ในโลกของยุคอีคอมเมิร์ซและอินเทอร์เน็ต ธุรกิจต้องเข้าหาลูกค้า เราจึงเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่ให้บริการแบบ Door-to-Door Service เข้าไปรับของถึงบ้านผู้ส่งด้วยตัวเอง จนทำให้ลูกค้ามาใช้บริการเรามากขึ้น และที่สำคัญมากกว่านั้นคือ จุดแข็งที่สุดของคู่แข่งซึ่งเดิมทีคือสาขา กลับกลายเป็นจุดอ่อนของเขาทันที”

 

อธิบายแบบนี้ วิธีการและหลักคิดง่ายๆ ของคมสันต์ในตอนนั้นคือ ในเมื่อเขาไม่ได้มีต้นทุนที่มากเพียงพอ แทนที่จะไปทุ่มงบจัดตั้งสาขาหน้าร้านใหม่ๆ ซึ่งใช้ทุนที่สูงมากๆ ที่สำคัญการจะไปแย่งทำเลดีๆ มาจากผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ในตลาดหน้าเดิมๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย 

 

ดังนั้น Flash ซึ่งมีพนักงานอยู่ที่ราวๆ สองหมื่นคน จึงใช้วิธีการเปลี่ยนพนักงานส่งทุกคนของตัวเองให้กลายเป็นสาขาเคลื่อนที่สองหมื่นแห่งโดยอัตโนมัติไปเลย เพื่อต่อกรกับคู่แข่งผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ๆ ด้วยวิธีการที่ตัวเองถนัด และกระบวนท่าที่เป็นไปได้จริงมากที่สุด ณ เวลานั้นๆ

 

อีกจุดหนึ่งคือการที่เขาไม่มองว่าคู่แข่งเป็นคู่แข่งเสมอไป นั่นจึงทำให้ Flash Express เข้าไปขอจับมือกับไปรษณีย์ไทยในฐานะพาร์ตเนอร์ จนสามารถให้บริการครบ 77 จังหวัดได้สำเร็จในวันนี้

 

 

บทเรียนที่ 3: เริงระบำร่ายรำไปพร้อมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตได้จากการพูดคุยกับคมสันต์คือ เขามักจะเป็นคนทำธุรกิจที่อ่านสถานการณ์ต่างๆ รอบตัวได้ขาดเสมอ บางครั้งเรื่องที่เขาคิดและลงมือทำคือสิ่งที่เขาคาดการณ์ว่ามันมีความน่าจะเป็นที่จะประสบความสำเร็จหรือได้รับความนิยมในอนาคต

 

ไม่น้อยไปกว่ากัน เขายังปรับตัวได้เก่ง พลิกแพลงกลยุทธ์การทำธุรกิจได้คล่องตัวและยืดหยุ่นมากๆ ประหนึ่งว่ากำลังเริงระบำไปกับทุกท่วงทำนองความเปลี่ยนแปลง โดยที่ไม่สะดุดหรือตะกุกตะกักเลยด้วยซ้ำ

 

เขาเล่าให้เราฟังว่า หากจะต้องแบ่งยุคของการทำธุรกิจของ Flash Express ออกมาให้เห็นภาพง่ายๆ และชัดขึ้น ก็จะสามารถแบ่งออกมาได้ 3 ส่วน ประกอบด้วย

  1. ยุคอันธพาล
  2. ยุคกฎระเบียบ
  3. ยุคปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร

 

รูปแบบของ 1. ยุคอันธพาลก็คือ คมสันต์จะไม่สนใจ ‘วิธีการ’ แต่ให้ความสำคัญกับคำตอบหรือ ‘ผลลัพธ์’ นำโด่งมาเป็นอันดับแรก โดยการเริ่มแนะนำธุรกิจของ Flash ให้เป็นที่รู้จักในช่วงแรกจะใช้วิธีการแบบกองโจรที่คล่องตัว จ้างพนักงานกว่า 200 คนที่เป็นฝ่ายขายไปประจำการบริเวณหน้าสาขาของผู้ให้บริการรายอื่นๆ แล้วปิดการขายด้วยการพุ่งตัวเข้าไปแนะนำตัวเองกับพ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ที่เดินทางมาส่งของ แนะนำผลิตภัณฑ์ของ Flash ให้ทดลองส่งฟรี 20 ชิ้น เข้าไปรับถึงหน้าบ้าน ราคาถูกกว่าที่ 25 บาท (ราคาเฉลี่ยในวันนั้นของท้องตลาดคือ 60 บาท)

 

แต่ในแง่หนึ่ง ราคาที่ถูกกว่าตลาดทั่วไปที่ 25 บาท ก็กลายเป็น ‘ข้อเสียเปรียบ’ เหมือนกัน เพราะทำให้คนจำนวนมากระแวง ไม่กล้าใช้บริการ Flash พวกเขาจึงแก้เกมด้วยการใช้ ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี มาเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและเข้าถึงง่ายให้กับแบรนด์

 

เมื่อวางโครงสร้างทุกอย่างไว้แน่นหนารอบด้านมากพอ บวกกลยุทธ์การทำธุรกิจแบบอันธพาล ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ “มาร้อยรายก็เสร็จทั้งร้อยราย!”

 

2 ปีผ่านไป Flash และคมสันต์เริ่มปรับกลยุทธ์เข้าสู่ยุค ‘กฎระเบียบ’ อีกครั้งในปี 2020 หลังจากที่ปริมาณพัสดุเยอะขึ้น เจ้าหน้าที่และสาขามีไม่เพียงพอ นอกจากนี้เขายังประสบกับปัญหาคอร์รัปชันในองค์กรอีกด้วย เพราะว่าในช่วงที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ คมสันต์ให้ความสำคัญกับแค่ผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ จึงทำให้พนักงานส่วนใหญ่ใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ยอดที่ตัวเองถือ หรือปลายทางที่ตัวเองจะไป โดยไม่แยแสว่าวิธีการนั้นๆ จะเหมาะสมหรือไม่

 

“เราต้องเข้าสู่ยุคที่สองทันที ไม่อย่างนั้น Flash ตายแน่นอน เมื่อเข้าสู่ยุคของกฎระเบียบ พนักงานของ Flash โดยเฉพาะผู้บริหารลาออกเยอะมาก เพราะมีกฎระเบียบที่เขาต้องทำตามเยอะ วิธีการที่เดิมที่เขาเคยใช้แล้วได้ผลกลับไม่ได้ผลอีกต่อไป เราตั้งกฎเรื่องการเบิกเงิน การใช้จ่ายการตัดสินใจ จากเดิม ‘One Man Show’ ทำอะไรก็ได้ เปลี่ยนมาเป็นวิธีการที่มีขั้นตอนมากขึ้น มีการตรวจสอบมากขึ้น มีคนตรวจสอบบัญชี (Auditor) มีการคุมเข้มระเบียบทางการเงิน (Financial Control)

 

“แต่ข้อดีของมันคือ ทุกอย่างอยู่ในกฎมากขึ้น บริษัททำสิ่งที่ควรจะเป็น เราเองก็ได้คนที่เข้าใจองค์กร คนที่ทำงานเป็นทีมเวิร์ก เป็นมืออาชีพมากขึ้น แต่แน่นอนว่าสิ่งที่เราเสียไปก็คือคนที่เขาเริ่มต้นมากับเราบางส่วน คนที่มีฝีมือแต่ไม่ชอบอยู่ในกรอบ องค์กรของเราตอนนี้มีพนักงานเกือบ 30,000 คนแล้ว ถ้าเรายังไม่มีกรอบ คนเหล่านี้ก็จะเป็นมาเฟีย แล้วมาเฟีย 30,000 คนอยู่รวมกันจะเกิดอะไรขึ้น”

 

ปัจจุบันคมสันต์บอกกับเราว่า Flash Express กำลังอยู่ในยุคเตรียมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นภายในปีนี้หรือช่วงปีหน้า เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับองค์กร

 

 

บทเรียนที่ 4: คิดจะทำ ‘สตาร์ทอัพ’ ต้องกล้าตัดสินใจ ใจกว้าง ‘ล้มเหลว’ ให้เป็น

“ถ้าใครจะเข้ามาในวงการสตาร์ทอัพ ผมแนะนำว่าคุณต้องถามตัวเองก่อนเลยว่าคุณยอมรับความล้มเหลวได้ใช่ไหม ยอมรับความไม่เป็นส่วนตัวได้หรือเปล่า ปล่อยวางชื่อเสียง อำนาจได้หมดเลยใช่ไหม เพื่อสร้างสิ่งนี้ให้ประสบความสำเร็จ” คมสันต์เล่าถึงเส้นทางการฝ่าฟันและภาพความจริงที่ไม่สวยงามนักสักเท่าไรของการเริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์ทอัพ

 

เขาเริ่มพูดต่อว่า “เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่เดียวดายมาก ไม่มีใครเข้าใจคุณนอกจากตัวคุณเอง บางครั้งคุณเสียใจหรือดีใจก็ไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง ถ้าเสียใจ เล่าให้ใครฟัง เขาก็ตอกย้ำคุณ แต่ถ้าดีใจ เล่าให้ใครฟัง เขาก็บอกว่าคุณอวดโอ้ คุณต้องอยู่กับตัวเองให้ได้จริงๆ คุณต้องรับความเหงานี้ให้ได้จริงๆ 

 

“ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ สตาร์ทอัพ 100 บริษัท ผมว่ารอดไม่ถึง 5 บริษัท เรามั่นใจว่าเราเป็น 1 ใน 5 นั้นจริงๆ ใช่ไหม ถ้าไม่มั่นใจ ไปหาคนที่คิดว่าน่าจะมั่นใจได้ ไปจอยกับเขาดีกว่า ลำพังคนเดียวผมว่ายาก อย่างผมก็เหมือนกัน ผมไม่ได้มั่นใจว่าตัวเองจะสำเร็จ 100% ผมก็เลยต้องหาคนที่เก่งๆ มาจอยกับเรามากขึ้น”

 

ในจุดที่ Flash ยังไม่เติบโตสักเท่าไร คมสันต์ในฐานะผู้ประกอบการตัวเล็กๆ เคยเดินเข้าไปขอความช่วยเหลือไปรษณีย์ไทยในการทำธุรกิจและให้บริการจนครบทั้ง 77 จังหวัด ดังนั้นเขาจึงเชื่อในหลักการของการทำงานร่วมกันมากๆ จนทำให้ทุกวันนี้เมื่อ Flash ตัวใหญ่ขึ้น เขาจึงทำแบบเดียวกันกับที่ไปรษณีย์เคยช่วยเหลือพวกเขา นั่นคือการให้ความช่วยเหลือสตาร์ทอัพผู้ให้บริการขนส่งรายอื่นๆ

 

“ทำไมถึงไม่กลัวว่าเขาจะโตมาเป็นคู่แข่งกับพวกคุณ” เราถาม

 

“หลายๆ คนมักบอกว่า ถ้าเราเลี้ยงเสือให้โตแล้วตัวเองจะถูกเสือกิน แต่ในความจริงแล้วผมเชื่อว่าเลี้ยงเสือให้เชื่องจะดีกว่าไหม วันที่เขาต้องการพึ่งพาผมเป็นวันที่เขาขาดแคลน แต่วันที่เขามีแล้ว เขาจะพึ่งพาผมมากกว่าเดิม เหตุผลก็เพราะเราก็ต้องพัฒนาตัวเองให้มากกว่าเดิมด้วย” คมสันต์บอก

 

ในวันที่ Flash Express เดินทางมาถึงปีที่ 4 ของการเริ่มต้นก่อตั้งบริษัท ปัจจุบันพวกเขาสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจรอย่างเต็มปากเต็มคำ ไม่ใช่แค่การเป็นโลจิสติสก์หรือผู้ให้บริการขนส่งเท่านั้น (Flash Express) แต่ยกระดับตัวเองขึ้นมาให้บริการ Flash Fulfillment บริหารคลังสินค้าออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย 

 

โดยที่ในอนาคตยังเตรียมจะเปิด ‘Flash Pay’ หรืออีวอลเล็ต ช่องทางรับชำระค่าบริการให้กับลูกค้า และ ‘Flash Money’ ที่จะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะได้เห็นในเร็วๆ นี้ โดยที่ทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้การทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้าลงทุนใน Flash

 

“5 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ ผมคาดหวังว่าทุกๆ มุมของ 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ให้บริการในประเทศต่างๆ จะสามารถเข้าถึงบริการของ Flash ได้ทุกๆ ที่ ผมหวังว่าจะมีบริการของเราอยู่ที่นั่น”

 

นั่นคือเป้าหมายและภาพฝันที่คมสันต์วาดเอาไว้

 

ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไร Flash Express จะยังเฉิดฉาย ออกวิ่งส่งต่อความสำเร็จในทุกประเทศๆ ของอาเซียนตามความตั้งใจของเขาได้จริงแค่ไหน เราคงได้เห็นกัน!

 

ติดตามรายการพอดแคสต์ Flash Express ตอนที่ 1 ได้ที่ https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce389/ 

 

ติดตามรายการพอดแคสต์ Flash Express ตอนที่ 2 ได้ที่ https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce390/

 

ติดตามรายการพอดแคสต์ Flash Express ตอนที่ 3 ได้ที่  https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce391/

 

และสามารถรับชมผ่านทางช่องทาง Youtube ได้ที่

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X