×

ที่ดินเขากระโดง เผือกร้อน รมว.คมนาคม รอวันสิ้นสุด

โดย THE STANDARD TEAM
11.11.2024
  • LOADING...
เขากระโดง

ประเด็นที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 

 

สำนักงานที่ดินบุรีรัมย์ร่วมกับเจ้าหน้าที่จาก รฟท. ร่วมกันลงพื้นที่ชี้แนวเขตและทำการรังวัดที่ดินบริเวณเขากระโดง 5,083 ไร่ และส่งข้อมูลให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ชุดดังกล่าวพิจารณา 

 

มติ คกก. สวนทางคำพิพากษาคดี

 

ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนฯ กลับมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน รฟท. บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท. พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน จึงส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าการ รฟท. เพื่อแจ้งผลดังกล่าว

 

แต่ผลที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นปัญหาเลย หากที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของ รฟท.!

 

เพราะที่ผ่านมาคำพิพากษาของศาลหลายรอบในจังหวัดบุรีรัมย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกา ระหว่างปี 2557-2563 ชี้ขาดหลายครั้งว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. ไม่สามารถขอออกโฉนดได้ ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน 

 

รฟท. จะไม่ยอมเสียที่ดินแม้แต่ 1 ตารางวา

 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้กำกับดูแล รฟท. ออกมาให้สัมภาษณ์วันนี้ (11 พฤศจิกายน) ว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ ถ้าที่ดินตรงนั้นเป็นของ รฟท. แม้กระทั่ง 1 ตารางวาก็เสียไปไม่ได้ จึงให้ รฟท. ไปตรวจสอบดู และวานนี้ (10 พฤศจิกายน) รฟท. ยื่นให้ศาลปกครองกลางพิจารณาหรือไต่สวน กำหนดวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในการร่วมกันชี้แนวเขตที่ดินของ รฟท. 

 

โดยให้เหตุผลว่า อธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติตามคำพิพากษาไม่ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาศาลปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 75/3 จึงเห็นควรแถลงข้อเท็จจริงเพื่อให้พิจารณาในประเด็นคำสั่งดังกล่าวต่อไป

 

ขณะเดียวกันผู้ว่าการ รฟท. ทำหนังสือไปยังกรมที่ดินเพื่อคัดค้านหนังสือของอธิบดีกรมที่ดินตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง ในข้อกฎหมายระบุว่าต้องยื่นภายใน 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันพรุ่งนี้ (12 พฤศจิกายน) 

 

แม้ไม่ได้รับปากว่าปัญหาที่ดินเขากระโดงที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานจะเคลียร์จบในสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่ แต่สุริยะยืนยันว่าทุกอย่างต้องทำตามกฎหมาย และจะไม่ล่าช้า รวมถึงเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องพูดคุยกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเป็นเรื่องในระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ 

 

ที่ดินเขากระโดงเชื่อมโยงการเมือง

 

ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการเอื้อผลประโยชน์ เพราะปี 2513 มีที่ดินจำนวน 12 แปลงเป็นของตระกูลชิดชอบ ซึ่ง ชัย ชิดชอบ อดีตนักการเมืองผู้ล่วงลับ บิดาของ เนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่ค่ายสีน้ำเงิน ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดิน และชัยก็ยอมรับว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. และทำหนังสือขออาศัย รฟท. ก็ยินยอม ต่อมา พ.ต.อ. ทวีสอดส่อง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ฝ่ายค้านในขณะนั้น เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าตรวจพบการครอบครองที่ดินเขากระโดงเพิ่มอีก 12 แปลง และนำมาตีแผ่ในที่ประชุมรัฐสภาด้วย

 

พ.ต.อ. ทวี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ดินเขากระโดงว่า เริ่มมีนักวิชาการออกมาพูดว่า คำสั่งทางปกครองของของกรมที่ดินใหญ่กว่าคำพิพากษาศาลฎีกา และขัดกันชัดเจน ซึ่งคำสั่งศาลฎีกาในประเทศไทยถือว่าเป็นศาลสูงสุด ถ้าจะเปลี่ยนคำวินิจฉัยของศาลฎีกาต้องให้ศาลฎีกาเปลี่ยนคำวินิจฉัย จะไม่มีใครใหญ่กว่าคำพิพากษาศาลฎีกาได้

 

พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า ตามมาตรา 66 ชี้ว่าที่ดินแห่งนี้เป็นที่ดินของรัฐอยู่แล้ว เราต้องอยู่ในหลักนิติธรรม หลักนิติธรรมต้องมีข้อยุติ เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดคือศาลฎีกา ก็ต้องยุติตามนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่ศาลฎีกาอย่างเดียว กฤษฎีกาก็วินิจฉัยแล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็วินิจฉัยแล้ว ถือว่าสิ้นสุด ที่สำคัญมีการบังคับคดีและยึดที่คืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดิน 5,083 ไร่เป็นของ รฟท. จึงเป็นเรื่องของ รฟท. ที่ต้องดำเนินการต่อไป

 

ในปี 2515 ตระกูลชิดชอบนำที่ดินดังกล่าวไปออกโฉนดเลขที่ 3466 และขายให้ ละออง ชิดชอบ ในปี 2535 ก่อนจะนำไปขายต่อให้บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ ต่อมามีคำพิพากษาของศาลให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างและชดเชยให้กับ รฟท. แต่กระบวนการนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน และที่ดินเขากระโดงยังไม่กลับสู่ รฟท. 

 

เพราะอีกหนึ่งคดีที่คู่ขนานกันไป คือกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ กรณีไม่สั่งการให้ รฟท. ฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินเขากระโดง รวมถึงตรวจสอบความผิดตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงของเจ้าตัว กรณีมีบ้านพักบนที่ดินของ รฟท. บริเวณเขากระโดง ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ เพื่อประโยชน์ธุรกิจตนเองและเครือญาติอีกด้วย

 

ถึงสุริยะจะออกมาระบุว่า ไม่อยากให้ขยายเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นทางการเมือง ไม่อยากให้เชื่อมโยงว่าใครอยู่พรรคไหนหรือมีความขัดแย้งกัน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเมืองเข้ามาพัวพันกับเรื่องนี้อย่างแน่นอน

 

เผือกร้อนรอวันเย็นตัว

 

มหากาพย์ที่ดินเขากระโดงที่ดูเหมือนกำลังจะปิดฉากลง หลังจากเป็นปมขัดแย้งมาเกือบ 55 ปี อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด และยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องพัดพาเผือกร้อนที่ถูกส่งต่อมาให้คลายตัวเย็นลงจนสามารถประคองให้อยู่ในอุ้งมือ ปิดจบความขัดแย้งแบบสวยงาม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X