×

อาชญากรรมสีกากี ประมวลคดีดังจากฝีมือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ประจำปี 2566

14.12.2023
  • LOADING...
อาชญากรรมสีกากี

ในปี 2566 ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา วงการตำรวจไทยหรือวงการสีกากี ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ผู้มีหน้าที่รักษากฎหมาย ได้สร้างเรื่องราวมากมายที่เผยให้เห็นถึงเบื้องลึกเบื้องหลังผู้อยู่เหนือกฎหมาย ปมปัญหาที่ฝังรากลึกจนยากที่จะแก้ ซึ่งแม้หลายเรื่องที่ถูกเปิดโปงไปถึงไส้ในแค่ไหนก็แก้ไม่หาย

 

THE STANDARD ประมวลเหตุการณ์สำคัญผ่านคดีอาชญากรรมที่มีตำรวจเป็นผู้ต้องหาหลักมานำเสนอ เพื่อให้ร่วมวิเคราะห์ว่าปัจจัยใดเป็นแรงจูงใจให้ลงมือทำ

 

ถึงจะมีหลายคดีที่สิ้นสุดจนตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด แต่ก็มีหลายคดีเช่นกันที่ยังเกิดคำถามค้างคาในสังคมว่า จับถูกคน? ลงโทษเหมาะสม? เป็นการตัดตอนคดีหรือไม่?

 

(ภาพประกอบตัวอย่างด่านตรวจเพื่อให้เข้าใจบริบทของเนื้อหา ไม่ใช่ด่านตรวจที่มีปัญหาตามข่าว)

 

 

เตือนภัยจากดาราสาว ใครจะมาประเทศไทยระวังด่านรีดไถ

ต้นปี 2566 ในเดือนมกราคม นักแสดงสาวชาวไต้หวัน อันหยูชิง หรือ Charlene An ได้โพสต์ข้อความผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นการเตือนภัยสำหรับใครก็ตามที่คิดจะมาเที่ยวประเทศไทยว่า ขอให้ระวังด่านตรวจของตำรวจให้ดี เพราะนอกจากไม่ได้สร้างความปลอดภัยแล้ว ยังมีพฤติกรรมรีดไถ ยัดของกลางให้นักท่องเที่ยวเพื่อเรียกเงินค่าปรับ

 

หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ แน่นอนว่านำมาสู่การสืบสวน พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้น สั่งการให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง

 

ในขั้นแรกมีการมุ่งประเด็นไปที่ข้อสงสัยว่าดารารายนี้มาเที่ยวไทยจริงหรือไม่? มีการตั้งด่านตรวจในวันเกิดเหตุจุดใดบ้าง? และให้เจ้าหน้าที่พยายามติดต่อผู้เสียหายมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม

 

‘ดาราสาวมาไทยจริง-มีด่านตรวจจริง-แต่ไม่มีการเรียกเก็บค่าปรับ’ สามคำตอบนี้คือผลการสอบสวนในช่วงสิ้นเดือนมกราคมที่ตำรวจออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน

 

แต่เรื่องไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อมีตัวละครใหม่อย่าง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งในปี 2566 เขาคนนี้มีบทบาทในอีกหลายๆ คดีในฐานะผู้กุมความลับและข้อมูลสำคัญ และคดีนี้ก็เป็นอีกคดีที่ชูวิทย์เปิดหน้าสู้อย่างไม่เกรงกลัว

 

โดยชูวิทย์เปิดตัวผู้จ่ายค่าปรับที่ด่านตรวจในวันเกิดเหตุ พาบินลัดฟ้ามาตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจงสาระสำคัญว่า วันนั้นตำรวจของสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ห้วยขวาง เรียกเงินจากตัวเขาและดาราสาวทั้งหมด 27,000 บาท

 

ตำรวจที่ด่านให้เหตุผลว่าเป็นการปรับเงินค่าไม่พกพาหนังสือเดินทาง 3 เล่ม และค่าพกพาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งภายหลังปรากฏข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันนี้นั้นตำรวจส่งให้ผู้เสียหายเป็นคนถือและบันทึกภาพ

 

พยานรายนี้ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลทำให้เส้นเรื่องเดิมเปลี่ยนไปทันที จากตำรวจผู้เพียรปฏิบัติหน้าที่ยามวิกาล ตั้งด่านสกัดผู้กระทำผิดกฎหมาย กลายเป็นผู้ต้องหา ฐานความผิดเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์ฯ และเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ ในท้ายที่สุดผลการตัดสินเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ศาลฯ สั่งลงโทษตามพยานหลักฐาน จำคุกผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงรายละ 5 ปี

 

 

เมื่อเงินซื้อตำรวจไทยได้ บริการทุกระดับสุดประทับใจตั้งแต่ประตูเครื่องบินจนถึงประตูโรงแรมจึงเกิดขึ้น

“ตำรวจไทยใช้เงินซื้อได้ทุกอย่างตามคำร่ำลือจริงหรือไม่? สุดขำ มีตำรวจไปรับถึงประตูเครื่องบิน เดินนำทาง ยกกระเป๋า เปิดประตูรถให้ ขับรถนำเปิดไฟฉุกเฉินไซเรน จักรยานยนต์ 6,000 บาท รถเก๋ง 7,000 บาท แป๊บเดียวถึงที่พัก สะดวกสมคำร่ำลือจริงๆ”

 

ข้อความเหล่านี้คือคำบรรยายประกอบคลิปไวรัลจากนักท่องเที่ยวจีนรายหนึ่งที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย เป็นการรีวิวในเชิงแฉบริการสุดประทับใจจากตำรวจไทย

 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม โดยนักท่องเที่ยวจีนรายหนึ่งเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย เธอติดต่อซื้อบริการการดูแลพิเศษจากตำรวจ สิ่งที่จะได้รับในแพ็กเกจเมื่อจ่ายเงินเพียงหลักพันบาท ประกอบด้วย การถือป้ายต้อนรับเมื่อเดินทางมาถึง การใช้ช่องทางพิเศษตรวจคนเข้าเมืองที่ให้บริการสุดรวดเร็ว และบริการรถนำจากสนามบินสู่โรงแรม

 

เหตุการณ์นี้กลายเป็นเรื่องที่ตอกย้ำในสังคมไทยว่าเงินซื้อตำรวจได้ เมื่อเรื่องแดงขึ้นมาได้นำมาซึ่งการชี้แจงจากหน่วยงานต้นสังกัดอย่างตำรวจท่องเที่ยว เพราะตัวละครหลักคือผู้ใต้บังคับบัญชาของหน่วยงานนี้ และร้อนมาถึงหัวขบวนอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้แต่ย้ำแล้วย้ำอีกว่าตำรวจไม่ว่าหน่วยไหนก็ไม่สามารถไปอำนวยความสะดวกเพื่อแลกผลประโยชน์ส่วนตัวได้

 

แต่ด้วยหลักฐานภาพ-เสียงที่รัดตัวแน่น การหาตัวคนผิดจึงไม่ใช่เรื่องยาก ท้ายที่สุดจึงมีคำสั่งลงดาบนายตำรวจชั้นปฏิบัติการไป 3 ราย

 

ขณะที่ชูวิทย์ออกมาเปิดเผยขยี้ซ้ำว่าบริการสุดวีไอพีนี้มีมานานแล้ว ในสายตาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาติจีนมองว่าประเทศไทยเป็นเมืองที่ไกลปืนเที่ยง ระบบกฎหมายไม่เข้มแข็ง เพียงเงินไม่กี่บาทก็สามารถยกระดับให้นักท่องเที่ยวธรรมดาเป็นนักท่องเที่ยวชั้นวีไอพีได้

 

 

พันตำรวจโทคลุ้มคลั่งยิงปืนในบ้าน กับประวัติการทดสอบสภาวะจิตใจ

เหตุการณ์ต่อเนื่อง 2 วัน 1 คืน ช่วงกลางเดือนมีนาคม เกิดภายในบ้านพักเขตสายไหมของพันตำรวจโทอายุ 51 ปี สังกัดศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอาการคลุ้มคลั่งก่อเหตุยิงปืนหลายนัด ทำให้ต้องมีการสนธิกำลังจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษอย่างอรินทราช 26 เข้าไประงับเหตุ

 

เนื่องจากตัวผู้ก่อเหตุอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบและไม่ใช่ตำรวจธรรมดา แต่มีความรู้ยุทธวิธีพอสมควรเพราะได้รับการฝึกสยบไพรีพินาศมาโดยตรง

 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ ผบ.ตร. ในขณะนั้น ได้ติดตามเหตุการณ์นี้ด้วยตัวเอง โดยพยายามพูดคุยไกล่เกลี่ยกับพันตำรวจโท ก่อนจะให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าผู้ก่อเหตุพูดจาไม่รู้เรื่องแล้ว พูดแต่เรื่องความเชื่อซ้ำไปมา เกรงว่าจะมีสัญญาณของการป่วยทางจิต

 

คำตอบชุดนี้ของ ผบ.ตร. ทำให้สังคมเริ่มมีข้อกังวลว่าตำรวจผู้ที่มีอาวุธปืนในครอบครองทุกคนได้รับการตรวจคัดกรองสภาพจิตใจดีพอหรือไม่? เพราะผู้ก่อเหตุรายนี้เองก็ไม่เคยมีรายงานการป่วยด้านใดๆ แต่สุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์นี้

 

วันที่สองของเหตุการณ์ หลังผ่านการวิเคราะห์จากหลายหน่วยงานลงความเห็นว่าผู้ก่อเหตุน่าจะมีท่าทีอ่อนลงพอให้ควบคุมตัว ชุดปฏิบัติการที่ตั้งรับมานานจึงบุกเข้าประชิดตัว แต่แล้วเหตุความสูญเสียได้เกิดขึ้น มีการต่อสู้กลับและท้ายที่สุดพันตำรวจโทรายนี้เสียชีวิตจากการถูกยิง 6 นัด

 

 

สติกเกอร์ส่วย-ส่วยทางหลวง ผลประโยชน์รู้กันที่มีมานานเกือบ 30 ปี

ผลประโยชน์ สติกเกอร์ส่วย หรือส่วยทางหลวง มีการพูดถึงมานานเกือบ 30 ปีแล้ว เริ่มต้นมาจากรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ตั้งแต่ปี 2539 (ปัจจุบันเท่ากับ 27 ปี) เรื่องนี้เกิดแดงขึ้นอีกครั้งเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ผ่านการขับเคลื่อนของตัวละครหลัก 2 ภาคส่วน คือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล และ อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย

 

ใจความหลักที่ถูกนำเสนอต่อสังคมมาจากข้อร้องเรียนของผู้ประกอบการรถบรรทุกที่ทนไม่ไหวกับการเรียกสินบนของตำรวจทางหลวง ลุกลามถึงขั้นที่พนักงานสอบสวนร่วมมือกับอัยการเพื่อจำหน่ายคดีออกหลังจากได้รับสินบนที่น่าพอใจ

 

วิโรจน์เปิดเผยว่า ขบวนการสติกเกอร์ส่วยหรือส่วยทางหลวงเริ่มต้นจากกลุ่มบริษัทขายหินทรายจ่ายสินบนให้ตำรวจทางหลวง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่กรมทางหลวง เพื่อให้รถบรรทุกในบริษัทสามารถหลีกเลี่ยงการตรวจจับการบรรทุกน้ำหนักเกิน

 

บริษัทใดที่จ่ายเงินเสร็จสมบูรณ์จะติดสติกเกอร์ในรูปแบบ สี หรือข้อความต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ไว้ที่รถ ซึ่งส่วนมากนิยมติดที่กระจกด้านหน้าสุดเพื่อเจ้าหน้าที่สังเกตเห็นได้ง่าย ฉะนั้นเมื่อรถบรรทุกคันใดมีสติกเกอร์ก็จะเป็นที่รู้กันว่าเคลียร์เรียบร้อย ขับผ่านได้

 

ซึ่งเรตราคาสติกเกอร์แต่ละดวงจะต่างกันตามเส้นทางและจำนวนด่านที่ผ่าน มีราคาตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน บางพื้นที่อาจแพงถึงหลักหมื่นบาท

 

โดยรายงานจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ระบุว่า ในแต่ละปีมีรถบรรทุกวิ่งบนถนนหลวงราว 5 แสนคัน หากรถบรรทุกจ่ายส่วยเฉลี่ย 3,500 บาทต่อเดือน จะรวมเป็นมูลค่า 1,750 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 21,000 ล้านบาทต่อปี

 

เมื่อเรื่องทุจริตเกิดขึ้น ขั้นตอนที่ขาดไม่ได้คือการตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งชุดสอบข้อเท็จจริง นำโดย พล.ต.อ. วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ในขณะนั้น เป็นผู้รับผิดชอบ และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) แต่งตั้งคณะทำงาน มี พล.ต.ต. วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก. เป็นหัวหน้า

 

ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้หลังผ่านมาหลายเดือนมีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่กองบังคับการตำรวจทางหลวง โดยแยกกลุ่มผู้กระทำความผิดเป็นหลายกลุ่ม มีผู้เกี่ยวข้องที่เป็นตำรวจรวมทั้งสิ้น 29 ราย

 

 

แก๊งตำรวจตบทรัพย์เว็บพนันออนไลน์ ผู้มากับวลี “เป้รักผู้การเท่าไร ให้เป้เขียนมาเลย”

เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน กลุ่มผู้ต้องหาเว็บไซต์พนันออนไลน์ตัดสินใจรวมตัวกันร้องขอความเป็นธรรมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากถูก พล.ต.ต. กัมพล ลีลาประภาภรณ์ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี (อดีตผู้การฯ ชลบุรี) กับพวกรวม 7 คน พร้อมด้วยพลเรือนอีก 2 คน ทำการรีดทรัพย์หรือตบทรัพย์

 

โดยเรื่องราวต้นเหตุเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ชุดเฉพาะกิจในนามศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.) ของตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี นำหมายจับและหมายค้นเข้าไปค้น 3 จุดที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 คน ชื่อเป้

 

เป้ถูกคุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีแทนการพาตัวไปส่งดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในท้องที่ ทำให้ได้พบกับ พล.ต.ต. กัมพล ทั้งสองฝ่ายมีการเจรจาทางคดี โดยฝ่าย พล.ต.ต. กัมพล ยื่นข้อเสนอให้เป้จ่ายเงินแทนการถูกดำเนินคดี จนเป็นที่มาของวลี “เป้รักผู้การเท่าไร ให้เป้เขียนมาเลย”

 

หลังเจรจา เป้ให้การว่ามีพลเรือนอีก 2 คนมาข้องเกี่ยวในลักษณะรีดทรัพย์จากข้อมูลคำให้การของเป้ สรุปได้ว่ามีการเรียกเงินรวมแล้วกว่า 140 ล้านบาท

 

ด้วยยอดเงินที่สูงทำให้เป้และกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีจึงรวมตัวกันร้องขอความเป็นธรรม

 

ในขั้นการดำเนินคดี ตำรวจสถานีตำรวจภูธร (สภ.) คูคต ได้ดำเนินคดี พล.ต.ต. กัมพล และผู้ใต้บังคับบัญชารวม 10 คน จากนั้นจึงมีการตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมอบหมายให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน

 

แต่ในข้อกฎหมายการกระทำความผิดที่เข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหาย นั้นจะต้องมีพนักงานอัยการเข้าไปร่วมสอบสวนกับตำรวจในชั้นสอบสวนด้วย

 

ซึ่งเดิมทีเป็นอำนาจของสำนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี แต่เนื่องด้วยคดีนี้มีการเกิดเหตุในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ ปทุมธานี และเชียงราย ทางสำนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานีจึงทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด และได้มีคำสั่งให้สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ทำคดีร่วมสอบสวนกับตำรวจ

 

ซึ่งข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานทำสำนวน

 

 

จากงานเลี้ยงอดีตกำนัน สูญเสีย-ซับซ้อน-พัวพัน ล้างบางตำรวจยกชุด

หนึ่งในคดีที่ถือว่าอุกอาจและเป็นการกระทำที่ท้าทายอำนาจผู้รักษากฎหมายแห่งปี 2566 คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเป็นคดีที่มีตัวเอกของเรื่องคือ ประวีณ จันทร์คล้าย หรือกำนันนก (ปัจจุบันพ้นตำแหน่งแล้ว) ผู้มีอิทธิพลย่านจังหวัดนครปฐม อายุ 34 ปี

 

จุดเริ่มต้นจากงานเลี้ยงแบบบ้านๆ ของอดีตกำนัน เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ตำบลตาก้อง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ซึ่งจัดขึ้นเพื่อพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นระหว่างผู้มีอิทธิพลกับตำรวจที่ทำงานในพื้นที่และตำรวจที่มีความสนิทสนมแบบพิเศษ

 

จากงานรื่นเริงครื้นเครง สถานการณ์กลับตาลปัตรทันทีเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. อดีตกำนันมีปากเสียงกับ พ.ต.ต. ศิวกร สายบัว เจ้าหน้าที่ตำรวจตำแหน่งสารวัตร สถานีตำรวจทางหลวง กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจทางหลวง หลังจากไหว้วานให้โยกย้ายตำรวจในสังกัดให้ แต่ พ.ต.ต. ศิวกร ไม่ยินยอมที่จะทำ เนื่องจากมองว่าไม่เหมาะสม

 

ไม่ว่าจะด้วยโทสะหรือความมึนเมาจากการกินเลี้ยงตั้งแต่ช่วง 15.00 น. อดีตกำนันสั่งให้ ธนัญชัย หมั่นมาก หรือ หน่อง มือปืนคนสนิท ลั่นไกใส่ พ.ต.ต. ศิวกร ทันที และเกิดลูกหลงทำให้ พ.ต.ท. วศิน พันปี รองผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจทางหลวงได้รับบาดเจ็บด้วย

 

ความจริงถูกเฉลยภายหลังการสืบสวนจากหลายหน่วย โดยชุดทำคดีพบว่าหลังเกิดเหตุมีตำรวจส่วนน้อยในงานเท่านั้นที่รีบพา พ.ต.ต. ศิวกร และ พ.ต.ท. วศิน นำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาล

 

ขณะที่ตำรวจในงานที่เหลือเลือกที่จะคุ้มกันอดีตกำนันและมือปืนออกจากที่เกิดเหตุ และตำรวจอีกกลุ่มต่างช่วยกันทำลายหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นคราบเลือดหรือกล่องดำของกล้องวงจรปิดที่ถูกนำไปทิ้งน้ำ

 

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ พ.ต.ต. ศิวกร เสียชีวิต ด้านอดีตกำนันจนมุมขอเข้ามอบตัว และมือปืนถูกวิสามัญฆาตกรรม

 

การสอบสวนเป็นไปอย่างเข้มข้นเนื่องจากเป็นคดีที่มีผู้มีอิทธิพลเป็นผู้ต้องหาสำคัญ เป็นคดีที่เกิดขึ้นในที่ที่มีตำรวจรวมกันมากกว่า 30 คน เกิดคำถามจากประชาชนมากมาย เช่น

 

ทำไมตำรวจต้องไปร่วมงานเลี้ยง? ทำไมตำรวจในงานต้องช่วยเหลืออดีตกำนัน? อดีตกำนันมีอิทธิพลมากมายขนาดไหน ทำธุรกิจถูกต้องหรือไม่? วัฒนธรรมตำรวจกินข้าวกับผู้มีอิทธิพลคือสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่? ตำรวจในงานที่เหลือจะถูกจัดการอย่างไร? คดีนี้เกี่ยวกับเรื่องส่วยอะไรบ้าง? และชุดทำคดีจะทำคดีที่เกิดขึ้นให้เป็นตัวอย่างกับผู้มีอิทธิพลที่มีพฤติการณ์เลี้ยงตำรวจแบบนี้อย่างไร?

 

จากนั้นไม่นาน วันที่ 11 กันยายน ได้เกิดความสูญเสียขึ้นอีกครั้งจากผลพวงในคดีนี้ โดย พ.ต.อ. วชิรา ยาวไทยสงค์ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง หนึ่งในผู้ร่วมงานเลี้ยงอดีตกำนัน ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองที่บ้านพัก เนื่องจากเครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ พ.ต.ต. ศิวกร ซึ่งเป็นรุ่นน้องสารวัตร โดยผลการสืบสวนทางวิทยาศาสตร์ยืนยันได้ว่า พ.ต.อ. วชิรา กระทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่การตัดตอนคดีแต่อย่างใด

 

กระทั่งวันที่ 16 พฤศจิกายน คดีของอดีตกำนันและตำรวจในงานเลี้ยงเดินทางมาถึงขั้นส่งต่อให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต สั่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยแบ่งกลุ่มตามส่วนความผิดได้ดังนี้

 

  • คดีอดีตกำนันนกมีพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม 67 ปาก ตำรวจมีพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ยืนยันการกระทำความผิดของอดีตกำนันนก มีความเห็นสั่งฟ้องในข้อหา ‘เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาด’ ส่วนความผิดของธนัญชัย (มือปืน) มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปด้วยเหตุธนัญชัยถึงแก่ความตาย

 

  • คดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ มีพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม 44 ปาก มีพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ยืนยันการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละราย มีความเห็นสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 21 ราย (อยู่ในเรือนจำ 6 ราย และแจ้งข้อหาโดยไม่ควบคุม 15 ราย) ในข้อหา ‘เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ’

 

นอกจากนี้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มลูกน้องอดีตกำนันและตัวของอดีตกำนัน ฐานผู้สนับสนุนการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ และทำลายซ่อนเร้นพยานหลักฐานอีก 7 ราย

 

 

ยุทธการ ‘Big Cleaning Day’ ค้นบ้านแคนดิเดต ผบ.ตร. กวาดล้างลูกน้องข้างกายฐานเอี่ยวเว็บพนัน

เช้าตรู่ของวันที่ 25 กันยายน ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) นำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือเข้าตรวจค้นบ้านพัก 3 หลังในหมู่บ้านแห่งหนึ่งหลังสโมสรตำรวจ ซอยวิภาวดีรังสิต 60 เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ หลังมีข้อมูลว่าผู้พักอาศัยในบ้านทั้ง 3 หลังมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มพนันออนไลน์

 

ในการเข้าค้นบ้านครั้งนี้ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษขึ้นมาทันที เพราะบ้านหลังดังกล่าวคือบ้านที่ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. จัดไว้ให้ตำรวจติดตามพักอาศัย และในวันตรวจค้น พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ก็อยู่ในบ้านดังกล่าวด้วย

 

การเข้าค้นในครั้งนั้น พล.ต.ท. วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ต้องมารายงานหมายค้นด้วยตัวเอง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ จึงเปิดทางนำค้น แต่เมื่อภารกิจค้นเสร็จสิ้น ไม่พบสิ่งต้องสงสัย

 

เรื่องราวจากยุทธการนี้กลับไม่จบลง เพราะมีการขยายผลสอบสวนนายตำรวจชุดติดตามที่เปรียบเหมือนมือซ้าย-ขวาของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ทั้งหมด 8 คน เนื่องจากการข่าวระบุว่าทั้ง 8 คนนี้อาจเกี่ยวพันกับเครือข่ายพนันออนไลน์

 

ต้องย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะมีการขยายผล ช่วงประมาณวันที่ 20 มิถุนายน ชุดปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตำรวจ PCT) ทำการขยายผลเว็บพนันออนไลน์ นำไปสู่การจับกุม พงษ์ศิริ ฐาราชวงศ์ศึก หรือ บอสตาล ประธานทีมฟุตบอลลำพูน วอริเออร์ ฐานเป็นเจ้าของเว็บพนันออนไลน์และฟอกเงินซื้อทีมฟุตบอล

 

ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม ทำการจับกุมบุคคลในเครือข่ายต่อ โดยมุ่งไปที่มินนี่ ซึ่งเป็นบุคคลที่ทำให้หลักฐานเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดติดตามของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เพราะมินนี่กับนายตำรวจในชุดดังกล่าวปรากฏภาพการร่วมงานเลี้ยงและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน

 

ยุทธการ Big Cleaning ที่เกิด นำมาสู่การโต้ตอบครั้งใหญ่ของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่าง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ โดยรอง ผบ.ตร. ตั้งข้อสังเกตว่าการจับกุมครั้งนี้มีข้อพิรุธมากมาย เช่นว่าชุดจับกุมจะไม่ทราบได้อย่างไรว่าบ้านที่เข้าค้นคือบ้านของรอง ผบ.ตร.? หมายจับผู้เกี่ยวข้องเว็บพนันที่เป็นชื่อตำรวจเหตุใดไม่ใส่ยศ และไม่สืบสาวให้ดีว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของรอง ผบ.ตร.?

 

พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ หลายครั้งในทิศทางว่ายุทธการนี้คือการเมืองภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมตัดสินใจเปิดตัวทนายความ ผู้ที่จะมาไขความจริงให้กระจ่างว่าเกิดความอยุติธรรมกับการตรวจค้นบ้านและลูกน้องใต้บังคับบัญชา

 

ส่วนมินนี่ที่ถูกระบุว่าเป็นเจ้าของเว็บพนันก็ออกมาพูดความจริงในฝั่งของตัวเองที่ไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อน ทั้งเรื่องการพนัน ความสัมพันธ์กับตำรวจชุด พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กระแสโต้กลับแรงอยู่ได้พักหนึ่งแต่จากนั้นก็เลือนรางไปเพราะการตัดสินใจกลับมามุ่งปฏิบัติหน้าที่ในหน้างานของรอง ผบ.ตร.

 

“นี่เป็นการสกัดขา ตัดโอกาสสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร. หรือไม่?” เป็นคำถามที่เกิดขึ้นจากสังคม เพราะช่วงเวลาที่ถูกค้นบ้าน ช่วงเวลาคับขันบังเอิญเกิดขึ้นก่อนวันประชุมข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) วาระเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. เพียง 3 วันเท่านั้น

 

ไม่ปล่อยเวลาให้สังคมได้สงสัย หรือสัมผัสถึงรอยร้าวของการช่วงชิงตำแหน่งผู้นำองค์กรในสำนักงานตำรวจแห่งชาตินานเกินควร วันที่ 29 กันยายน มีการเผยแพร่ภาพยืนยันความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่าง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กับ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 13 อดีต 2 แคนดิเดต ผบ.ตร. ยืนเคียงข้างกันอย่างกลมเกลียว หวานชื่น

 

 

หากพิจารณาทั้งเกือบ 7 คดีความที่ THE STANDARD นำมารวบรวม ซึ่งมีตำรวจผู้พิทักษ์รักษากฎหมายเป็นตัวละครหลัก เรื่องราวต่างๆ ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัย 2 อย่างเท่านั้น คือเงินและอำนาจ

 

มีหลายเรื่องที่เกิดขึ้นและถูกสืบเสาะกลายเป็นเครื่องสะท้อนตอกย้ำให้สังคมมั่นใจว่าที่ที่เราอยู่มีผู้ (พยายาม) อยู่เหนือกฎหมาย และผู้รักษากฎหมายหากไม่ซื่อสัตย์ในหน้าที่ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นกฎหมายที่เฝ้ารักษากลับมาเล่นงานตัวเอง

 

ปี 2566 ที่ผ่านมายังมีคดีต่างๆ มากมายที่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง แต่เฉพาะแค่ 7 เรื่องนี้ที่เราหยิบมาตั้งเป็นประเด็นก็แทบจะได้คำตอบแบบสมบูรณ์แล้วว่าความเชื่อมั่นศรัทธาต่อหน่วยงานนี้มีขนาดไหน

 

สุดท้ายนี้หากเราพูดถึงเรื่องราวของตำรวจที่ไม่ดี ที่ต้องกำจัดทิ้ง หนึ่งวลีที่เป็นแนวทางจัดการปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง ก็คือวลีของ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีต ผบ.ตร. ที่เคยกล่าวไว้ว่า “ตำรวจไม่ดีเหมือนเนื้อร้าย วิธีกำจัดคือต้องตัดทิ้ง”

 

มาถึงวันนี้เรามีนิ้วดีเหลือไว้บนมืออีกเท่าไร?

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X