×

สงครามยังไม่จบ! KFC-Starbucks ในอินโดนีเซียและมาเลเซียขาดทุนหนัก หลังถูกแบนสินค้ามากว่า 1 ปีเต็ม

02.01.2025
  • LOADING...
kfc-starbucks-losses-indonesia-malaysia-ban

สงครามยังไม่จบ จะไปต่อหรือพอแค่นี้! KFC และ Starbucks ในอินโดนีเซีย-มาเลเซียขาดทุนหนัก หลังนักเคลื่อนไหวแบนสินค้ามากว่า 1 ปีเต็ม จนต้องทยอยปิดสาขา หนุนแบรนด์ร้านอาหารท้องถิ่นโตกระฉูด

 

Nikkei Asia รายงานว่า หลังจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียรณรงค์ให้เลิกบริโภคสินค้าจาก Starbucks และ KFC เพื่อประท้วงที่สองบริษัทออกตัวสนับสนุนกองทัพอิสราเอล จนทำให้แบรนด์ร้านอาหารท้องถิ่นในอินโดนีเซียและมาเลเซียสร้างรายได้เติบโตขึ้นต่อเนื่อง

 

โดยแบรนด์ KFC และ Starbucks สูญเสียลูกค้าให้กับแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง Almaz Fried Chicken ซึ่งเป็นร้านไก่ทอด มีความคล้ายกันกับ KFC และ ZUS Coffee ก็เป็นแบรนด์ร้านกาแฟคู่แข่งกับ Starbucks ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 แบรนด์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ออกตา วิราวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร้าน Almaz Fried Chicken กล่าวว่า จากโอกาสการเติบโตดังกล่าว บริษัทจึงเร่งขยายเครือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดไปกว่า 37 แห่งในอินโดนีเซีย และคาดว่าจะสามารถทำกำไรได้ในช่วง 7 เดือนหลังจากเปิดให้บริการ และเราเตรียมจะบริจาค 5% ของกำไรให้กับการกุศล รวมถึงการช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ด้วย

 

ด้าน วิโก โลมาร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Fore Coffee กล่าวว่า บางครั้งการบอยคอตอาจช่วยให้คนท้องถิ่นหันมารักสินค้าในประเทศมากขึ้น โดยตั้งแต่เกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส Fore Coffee ก็ได้รับใบรับรองฮาลาลเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ เพื่อรองรับลูกค้าในอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

เช่นกันกับมาเลเซีย ผู้บริโภคหันมาใช้บริการร้านกาแฟท้องถิ่น เช่น ZUS Coffee, Gigi Coffee แทนการเข้าร้าน Starbucks สอดรับกับพนักงานบาริสต้าประจำร้าน Artisan Roast Coffee ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มมีการบอยคอตมากว่า 1 ปี ทำให้ร้านกาแฟของเรามีลูกค้าเพิ่มขึ้น และมียอดขายเพิ่มขึ้น 10-22% ท่ามกลางกระแสคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาดื่มกาแฟมากขึ้น

 

เมื่อมาดูผลสำรวจผู้บริโภคที่เผยแพร่โดย GlobalData พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งทั่วโลกมีส่วนร่วมในการบอยคอตสินค้าบางแบรนด์อยู่ประมาณ 70% หนึ่งในนั้นคือ เรณี เลสตารี พนักงานบริษัทเอกชนในอินโดนีเซีย ที่เคยใช้สินค้าจากแบรนด์ Unilever ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปซื้อสินค้าของบริษัทท้องถิ่น เช่น Wings Group

 

“แม้ความพยายามของเราอาจไม่ได้ช่วยเหลือผู้คนในฉนวนกาซาโดยตรง แต่ในฐานะที่เป็นมุสลิม เรารู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง และการบอยคอตระยะยาวหวังว่าจะสามารถกดดันสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยตรง” เรณีย้ำ

 

ด้าน โมฮัมหมัด ฮิดายาตุรเราะห์มาน อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวีราราชา ประเทศอินโดนีเซีย แสดงความเห็นว่า จากนี้การบอยคอตสินค้าแบรนด์ข้ามชาติจะยังดำเนินต่อไป เนื่องจากปัจจุบันอิสราเอลยังคงโจมตีปาเลสไตน์ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้แบรนด์ใหม่ๆโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะเข้ามาเจาะตลาดในประเทศมุสลิม

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของแนวคิดทางสังคมและการเมืองที่มีต่อพฤติกรรมการบริโภค มีส่วนทำให้ผู้บริโภคมองว่าการเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ท้องถิ่นเป็นวิธีหนึ่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ และหลีกเลี่ยงการสนับสนุนบริษัทที่อาจเกี่ยวข้องกับบางประเทศที่มีนโยบายต่างกัน

 

แน่นอนว่าหลังจากนี้แบรนด์ต่างชาติ ทั้ง KFC, McDonald’s, Pizza Hut, Starbucks และ Unilever ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อกลับมาสร้างการเติบโตให้ได้ เพราะหลังจากถูกผู้บริโภคในอินโดนีเซียและมาเลเซียแบนสินค้านั้นยอดขายของหลายๆ แบรนด์ก็เริ่มลดลง

 

เห็นได้จาก Fast Food Indonesia ผู้ดำเนินการร้านอาหาร KFC ในอินโดนีเซีย รายงานผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้น 4 เท่า จนส่งผลให้บริษัทต้องปิดร้าน 50 สาขา และเลิกจ้างพนักงานประมาณ 2,000 คน รวมถึง MAP Boga Adiperkasa ผู้ดำเนินการร้าน Starbucks รายงานว่าบริษัทขาดทุน 7.9 หมื่นล้านรูเปียห์ ในขณะที่ Unilever Indonesia กำไรลดลงถึง 28% เหลือเพียง 3 ล้านล้านรูเปียห์

 

ไม่เว้นแม้แต่ QSR Brands ผู้ดำเนินการร้าน KFC และ Pizza Hut ในมาเลเซีย ได้ยกเลิกแผนการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) เนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก

 

ทั้งนี้ การขาดทุนของบริษัทต่างๆ เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด ยกตัวอย่าง McDonald’s ที่แจกเบอร์เกอร์ฟรีให้กับทหารอิสราเอล ทำให้ผู้บริโภคไม่พอใจ จนทำให้หลายแบรนด์ต้องเผชิญความยากลำบากและอยู่ระหว่างหาวิธีปรับตัวรับมือกับสถานการณ์เพื่อให้กลับมาฟื้นตัวให้เร็วที่สุด

 

ภาพ: Dr.David Sing / Shutterstock, Nedikusnedi / Shutterstock

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X