×

‘สหรัฐฯ ยังไม่ไปไหน’ ย้ำอินโด-แปซิฟิกสำคัญ ประชุม Shangri-La Dialogue จัดท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดในทะเลจีนใต้-ช่องแคบไต้หวัน

โดย THE STANDARD TEAM
02.06.2024
  • LOADING...

“สหรัฐฯ จะมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อเอเชียมั่นคง” 

 

ประโยคนี้ตอกย้ำจุดยืนของสหรัฐฯ ว่ายังคงให้ความสำคัญกับอินโด-แปซิฟิกเป็นลำดับแรก และยืนยันว่าสหรัฐฯ ยังไม่ไปไหน โดยเวลานี้กลับมาโฟกัสที่จีน แม้ว่าที่ผ่านมาจะถูกตั้งคำถามว่า สหรัฐฯ กำลังถูกเบนความสนใจไปที่การให้ความช่วยเหลือยูเครนในสงครามกับรัสเซีย และสนับสนุนอิสราเอลทำสงครามกับฮามาสในฉนวนกาซา

 

ในวันที่ 2 ของการประชุมความมั่นคง Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ (1 มิถุนายน) ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เน้นย้ำว่า อินโด-แปซิฟิกยังคงเป็นภูมิภาคที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมสหรัฐฯ ยังคงมีตัวตนอยู่ในภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน

 

“แม้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งในยุโรปและตะวันออกกลาง แต่อินโด-แปซิฟิกก็ยังคงเป็นพื้นที่ปฏิบัติการที่สำคัญที่สุดของเรา” ออสตินกล่าว 

 

การประชุมความมั่นคงปีนี้จัดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน หลังประธานาธิบดีไต้หวันคนใหม่เพิ่งสาบานตนรับตำแหน่งและยืนยันท่าทีต่อต้านการถูกคุกคามจากปักกิ่ง ซึ่งนำไปสู่การซ้อมรบใหญ่รอบเกาะไต้หวันของจีนเพื่อส่งสัญญาณเตือนไม่ให้ไต้หวันคิดแยกตัวเป็นเอกราช ขณะที่ไต้หวันเป็นตัวแปรสำคัญในความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีความซับซ้อนระหว่างจีนและสหรัฐฯ 

 

วอชิงตัน-ปักกิ่ง ฟื้นการสื่อสารทางทหาร

 

เวที Shangri-La Dialogue ได้กลายเป็นตัวชี้วัดความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำหรับงานปีนี้มีสัญญาณบวกเมื่อออสตินได้ประชุมนอกรอบกับ ต่งจวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน เมื่อวันศุกร์ (31 พฤษภาคม) ซึ่งเป็นการเจอกันแบบตัวต่อตัวครั้งแรกของผู้นำด้านกลาโหมของสองประเทศในรอบ 18 เดือน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความขัดแย้งในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ไต้หวันไปจนถึงกิจกรรมทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้

 

ก่อนหน้านี้สองมหาอำนาจได้ตัดช่องทางการสื่อสารทางทหารระหว่างกันตั้งแต่ปี 2022 เพื่อตอบโต้การเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้น

 

ออสตินกล่าวว่า สหรัฐฯ และจีนจะกลับมาสื่อสารทางทหารในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่ปักกิ่งขานรับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่าง 2 ประเทศที่กำลังกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น

 

“ผมบอกรัฐมนตรีต่งว่า ถ้าเขาโทรหาผมในเรื่องเร่งด่วน ผมจะรับสาย” ออสตินกล่าวเมื่อวันเสาร์ “และผมหวังว่าเขาจะทำแบบเดียวกัน”

 

ฟิลิปปินส์ ศูนย์กลางแย่งชิงอำนาจระหว่างปักกิ่ง-วอชิงตัน

 

เพื่อต้านทานอำนาจและอิทธิพลทางการทหารที่เพิ่มขึ้นของจีนในทะเลจีนใต้ สหรัฐฯ พยายามเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฟิลิปปินส์ ซึ่งนอกจากการกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สหรัฐฯ ยังได้เพิ่มการซ้อมรบร่วม ตลอดจนส่งเรือรบและเครื่องบินรบไปยังช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้เป็นประจำ 

 

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ ประณามกิจกรรมทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย บีบบังคับ และก้าวร้าวรุกราน พร้อมกล่าวด้วยว่า การมีอยู่ของสหรัฐฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสันติภาพในภูมิภาค 

 

ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯ และความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับจีน กลายเป็นศูนย์กลางของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง โดยฟิลิปปินส์กลายเป็นจุดสนใจหลักของความพยายามของวอชิงตันในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรในภูมิภาคนี้

 

ออสตินกล่าวว่า การคุกคามที่ฟิลิปปินส์เผชิญในทะเลจีนใต้นั้นเป็นอันตราย และย้ำว่าสนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ (Mutual Defense Treaty) นั้นยังคงแข็งแกร่งเช่นเดิม พร้อมเสริมว่า เป้าหมายของสหรัฐฯ คือการสร้างความมั่นใจว่าความตึงเครียดระหว่างปักกิ่งกับมะนิลาจะไม่ลุกลามจนเกินควบคุม 

 

“อเมริกาจะยังคงมีบทบาทสำคัญในอินโด-แปซิฟิก ร่วมกับมิตรของเราทั่วทั้งภูมิภาคที่เราแบ่งปันและใส่ใจเป็นอย่างมาก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าว 

 

เซเลนสกีมาร่วมประชุมด้วย

 

อีกหนึ่งไฮไลต์ของการประชุม Shangri-La Dialogue ปีนี้ คือการเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตัวเองของ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน โดยเขาขึ้นกล่าวในวันนี้ (2 มิถุนายน) เกี่ยวกับสถานการณ์สงครามกับรัสเซีย รวมถึงขอแรงสนับสนุนจากนานาชาติ และจะเข้าร่วมวงประชุมย่อยเพื่อพูดคุยหาแนวทางสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคด้วย

 

ก่อนหน้านี้ผู้นำยูเครนได้เปิดเผยผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย X ว่า เขาเดินทางมาร่วมงานนี้เพื่อรวมเสียงสนับสนุนจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสำหรับการประชุมสุดยอดสันติภาพ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 15-16 มิถุนายน ที่สวิตเซอร์แลนด์ โดยเขามีแผนที่จะพบปะหารือกับผู้นำหลายคน ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีทาร์มาน ชานมูการัตนัม และนายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ โชเซ รามอส-ฮอร์ตา ประธานาธิบดีติมอร์-เลสเต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ตลอดจนนักลงทุนชาวสิงคโปร์

 

สำหรับการประชุม Shangri-La Dialogue โดย IISS นั้น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนด้านความมั่นคงระดับสูงของเอเชีย โดยมีเจ้าหน้าที่กลาโหมระดับสูง นายทหารระดับสูง นักการทูต ผู้ผลิตอาวุธ และนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจากทั่วโลกมารวมตัวกัน และบางครั้งก็มีผู้นำประเทศเข้าร่วมด้วย

 

ภาพ: USPACOM

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X