×

ทำไมฐานทัพสหรัฐฯ ในจอร์แดนถูกโจมตี สัญญาณความขัดแย้งตะวันออกกลางขยายวง?

29.01.2024
  • LOADING...

เหตุโดรนโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในจอร์แดน จนส่งผลให้มีทหารอเมริกันเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 34 นาย กลายเป็นประเด็นใหญ่จนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องออกมาประกาศตอบโต้กลุ่มติดอาวุธผู้ก่อเหตุ ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มต่อต้านเพื่ออิสลาม (Islamic Resistance) ในอิรัก ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน

 

โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังตึงเครียด ขณะที่การโจมตีในดินแดนของจอร์แดนกลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองด้วยความกังวลว่า ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะ ‘ขยายวง’ หรือไม่ และจะยกระดับไปไกลถึงขั้นทำให้เกิดการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างคู่ปรปักษ์อย่างสหรัฐฯ และอิหร่านเลยหรือเปล่า

 

ฐานทัพที่ถูกโจมตีสำคัญอย่างไร?

 

จุดที่เกิดเหตุโจมตีนั้นคือฐานทัพสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า Tower 22 ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์บริเวณชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจอร์แดน ซึ่งติดกับชายแดนซีเรียและอิรัก โดยคาดว่ามีทหารประจำการไม่มากนัก แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่แน่ชัด

 

ฐานทัพนี้อยู่ใกล้กับฐานทัพสหรัฐฯ อีกแห่งในฝั่งซีเรียที่ชื่อว่าฐานทัพอัลทานฟ์ (Al-Tanf) ซึ่งเป็นอีกฐานทัพสำคัญที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้ในการต่อสู้กับกลุ่มไอเอส หรือกลุ่มรัฐอิสลาม และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่คอยควบคุมการเสริมกำลังทหารของอิหร่านในพื้นที่ภาคตะวันออกของซีเรียด้วย

 

โดยฐานทัพ Tower 22 นั้นอยู่ใกล้กับฐานทัพอัลทานฟ์ ในระยะที่สามารถช่วยสนับสนุนกำลังทหารได้ ขณะเดียวกันยังช่วยเฝ้าระวังกลุ่มไอเอส หรือช่วยรับมือกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านได้

 

ต้นตออาจไม่ใช่แค่เรื่องอิสราเอล-ฮามาส

 

นับตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม กองทัพสหรัฐฯ ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุนทั้งในอิรักและซีเรีย โดยถูกโจมตีด้วยโดรน จรวด กระสุนปืนครก รวมกันมากกว่า 150 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บรวมกว่า 70 คน

 

แต่การโจมตีเมื่อวันอาทิตย์ ‘เป็นครั้งแรก’ ที่มีทหารอเมริกันเสียชีวิต

 

กลุ่มต่อต้านเพื่ออิสลามในอิรักระบุในประกาศแสดงความรับผิดชอบการโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในจอร์แดนว่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อต้านการยึดครองของกองทัพสหรัฐฯ ในอิรักและภูมิภาค และตอบโต้การสังหารหมู่ของกลุ่มไซออนิสต์ต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา พร้อมทั้งเผยว่า การโจมตีด้วยโดรนนั้นเกิดขึ้นในฐานทัพ 3 แห่งในซีเรีย และอีกแห่งในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง แต่ไม่ระบุชัดเจนว่ารวมถึงฐานทัพ Tower 22 ด้วยหรือไม่ 

 

ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดสงครามอิสราเอลและฮามาส กลุ่มนี้ออกมาอ้างความรับผิดชอบการโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ทั้งในอิรักและซีเรียแล้วหลายสิบครั้ง 

 

ด้าน ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ “เรื่องที่เกิดขึ้นขณะนี้อาจไม่ได้มีชนวนเหตุแค่การสู้รบในฉนวนกาซา” แต่ยังรวมถึงอีกเรื่องคือ “กระแสความต้องการให้สหรัฐฯ ถอนฐานทัพออกจากอิรักและกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง”

 

เขาชี้ว่า สหรัฐฯ นั้นมีฐานทัพแทบทุกประเทศในตะวันออกกลาง โดยกรณีอิรักก็มีฐานทัพอยู่จนกระทั่งถอนกำลังไปในปี 2011 แต่ในปี 2014 เกิดกลุ่มไอเอสขึ้นมา อิรักจึงขอให้สหรัฐฯ เข้ามาช่วยปราบปราม การคงอยู่ของฐานทัพสหรัฐฯ จึงยังมีอยู่ แต่มีไว้เพื่อการให้คำปรึกษา

 

แต่หลังเกิดกรณีสหรัฐฯ โจมตีทางอากาศสังหารพลเอก กอเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ขณะอยู่ในกรุงแบกแดด เมื่อปี 2020 สร้างความไม่พอใจแก่อิรักอย่างมาก จนมีการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนฐานทัพออกจากอิรัก สอดคล้องกับความต้องการของบรรดากลุ่มติดอาวุธในอิรักที่ไม่อยากให้มีฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศของตน

 

หวั่นความขัดแย้งยกระดับสู่ภูมิภาค

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุการณ์โจมตีด้วยโดรนที่เกิดขึ้นนั้น ทางอิหร่านออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง และชี้ไปว่ากลุ่มต่อต้านเพื่ออิสลามในอิรักก่อเหตุโจมตีเพื่อตอบโต้การก่ออาชญากรรมสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซา และยืนยันว่ากลุ่มนี้ไม่ได้รับคำสั่งจากอิหร่าน แต่เป็นการตัดสินใจก่อเหตุด้วยหลักการและเหตุผลของตัวเอง 

 

ผศ.ดร.มาโนชญ์ มองว่า โอกาสที่เหตุโจมตีครั้งนี้จะนำมาซึ่งการยกระดับความขัดแย้งในตะวันออกกลางหรือไม่นั้น ต้องดูที่การตอบโต้ของสหรัฐฯ ว่าจะตอบโต้ไปที่กลุ่มติดอาวุธ หรือตอบโต้ไปที่อิหร่านโดยตรง โดยสิ่งที่น่าสนใจอยู่ในแถลงการณ์ของไบเดนที่บอกว่าจะตอบโต้ในเวลาและวิธีการที่เหมาะสม

 

“ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ ครั้งนี้อเมริกาบอกว่าเป็นกลุ่มที่อิหร่านสนับสนุนอยู่ และมีกลุ่มในอิรักยอมรับ ความน่าสนใจคือสหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างไร ตอบโต้ไปที่กลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุน หรือตอบโต้ไปที่อิหร่านโดยตรง” ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าว

 

ขณะที่เขามองว่า สิ่งที่น่ากังวลคือกรณีที่ความขัดแย้งนั้นยกระดับจนเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ในขณะที่กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่อิหร่านสนับสนุน เช่น กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ก็มีเทคโนโลยีอาวุธที่ดีขึ้น 

 

นอกจากนี้ ผศ.ดร.มาโนชญ์ ชี้ว่า กลุ่มประเทศอาหรับในตอนนี้ก็มีความกังวลว่าสถานการณ์กาซาที่กำลังตึงเครียดจะขยายวง โดยหากเกิดการยกระดับไปสู่ภูมิภาค การมีฐานทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางก็จะเป็นสายล่อฟ้าดึงดูดการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธไปด้วย

 

ภาพ: Planet Labs PBC / Handout via Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising