เหตุใดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ในวันที่ 24 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในประเทศไทยไปอีกนาน หรืออย่างน้อยก็จนกว่าดุลอำนาจทางการเมืองจะแตกต่างไปจากปัจจุบัน
สังเกตได้ว่าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เช่น นายก อบจ. ในอดีตที่ผ่านมาจะไม่ค่อยได้รับความสนใจเป็นวงกว้างนอกจังหวัดที่มีการเลือกตั้ง แต่หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หนึ่งในผู้เล่นทางการเมืองที่มีแรงดึงดูดมหาศาลขณะนี้ ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้ ศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี ในนามพรรคเพื่อไทย หลายวันต่อเนื่องกัน
ทักษิณปราศรัยหาเสียงช่วยศราวุธที่ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี
การเดินหน้าของทักษิณสร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ เพราะผิดจากที่แวดวงการเมืองเคยคาดหมายว่าทักษิณจะออกโรงเองก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ เพื่อลงพื้นที่ช่วย พิชัย เลิศพงศ์อดิศร รักษาแชมป์
ต่อมาพรรคประชาชนก็รุกกลับ ด้วยการขนแกนนำพรรคทุกยุคสมัย โดยเฉพาะ ‘ขวัญใจมหาชน’ อย่าง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ขึ้นเวทีปราศรัยช่วย คณิศร ขุริรัง ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี ในนามพรรคประชาชน อย่างไม่ยอมน้อยหน้า
พิธาปราศรัยช่วยคณิศรหาเสียงที่หนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี
เป็นเหตุให้การเมืองท้องถิ่นถูกยกระดับขึ้นเป็นสมรภูมิ ‘การเมืองระดับชาติ’ โดยทันที และแรงสะเทือนที่อุดรธานีจะสะท้านไปถึงสนามเลือกตั้งนายก อบจ. ระดับประเทศในต้นปีหน้า และอาจจะปีต่อๆ ไปหลังจากนี้โดยไม่อาจหลีกเลี่ยง
อุดรธานี: เกมที่แพ้ไม่ได้ของ ‘เพื่อไทย’
ความเข้มข้นของสนามท้องถิ่นในอุดรธานีน่าจะจุดประกายจากคำสัมภาษณ์ของคนจากพรรคเพื่อไทย เช่น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และอดีตแกนนำคนเสื้อแดง, อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ยกจังหวัดอุดรธานีเป็นเสมือน ‘เมืองหลวงของคนเสื้อแดง’ ทำให้กลายเป็นศึกศักดิ์ศรีที่พรรคเพื่อไทยต้องชนะเพื่อเรียกศรัทธากลับคืน
หากย้อนดูสถิติผลการเลือกตั้งทั่วไปในจังหวัดอุดรธานีนับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา สส. จากพรรคไทยรักไทยได้รับความไว้วางใจจากประชาชนชาวอุดรธานีอย่างเหนียวแน่น จวบจนกลายเป็นพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ ศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย
ศราวุธ เพชรพนมพร ก็ไม่ใช่ใครอื่น หากเป็น สส. พรรคไทยรักไทยที่ชนะการเลือกตั้งในจังหวัดอุดรธานี เขต 1 เมื่อปี 2548 นั่นเอง ทว่าเกิดจุดเปลี่ยนเมื่อพรรคก้าวไกลสามารถปักธงได้ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ เอาชนะศราวุธได้ ทำให้เขาต้องขยับมาสู่การเมืองท้องถิ่นในการเลือกตั้งนายก อบจ.
หากวัดแต้มกันแล้ว พรรคเพื่อไทยค่อนข้างเป็นต่ออยู่มากในสนามนี้ ประวัติของศราวุธที่เป็น สส. เขต 1 อุดรธานีมาหลายสมัย และเป็นลูกเขยของ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนแรก และอดีตรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นอกจากนี้ศราวุธยังมาสานต่องานของ วิเชียร ขาวขำ อดีต สส. อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ที่ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.อุดรธานี มาแล้ว 2 สมัย จึงเรียกได้ว่าเป็นการรับช่วงแบบไร้รอยต่อ
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ทว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่อาจประมาทได้ เนื่องจากผลคะแนน สส. แบบบัญชีรายชื่อ ในจังหวัดอุดรธานีของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งปีล่าสุดสูงถึง 295,097 คะแนน แม้จะยังตามหลังพรรคเพื่อไทย และได้ สส. เขตไปเพียงคนเดียว แต่คะแนนของพรรคสีส้มที่ทะยานสูงขึ้นเท่าตัวจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่ 148,850 คะแนน ทำให้เป็นการเติบโตที่น่ากลัวสำหรับพรรคเพื่อไทย
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทยต้องวางกลยุทธ์ เปิดเวทีให้ทักษิณเร่งทำคะแนน ด้วยหวังว่าจะรักษากระแสนิยมของพรรคเพื่อไทยในอุดรธานีให้ไม่เสื่อมคลาย ดังที่ทักษิณปราศรัยบนเวทีช่วงหนึ่งว่า
“วันนี้ผมมาแล้ว ผมจะมาชวนคนเสื้อแดงที่เข้าใจผิด สีอะไรตกใส่ เปลี่ยนไปนิดหน่อย ให้กลับมาอยู่ด้วยกัน”
พรรคประชาชนเทหมดหน้าตัก หวังล้างอาถรรพ์
แม้การเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับการเมืองท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมาผลคะแนนฟ้องว่าสนามท้องถิ่นยังไม่ใช่เวทีซึ่งผู้เล่นในฝ่ายของพรรคประชาชนถนัดที่สุด โดยเฉพาะเครือข่าย ‘บ้านใหญ่’ ซึ่งไม่อาจถูกตีแตกได้โดยง่าย
เมื่อปี 2563 คณะก้าวหน้า นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ใช้ยุทธศาสตร์หว่านแห ส่งผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก อบจ. 42 จังหวัด ครบทั้งภูมิภาค แต่กลับไม่สามารถเอาชนะได้เลยในทุกพื้นที่ กลายเป็นบทเรียนฝังลึกว่าการเมืองท้องถิ่นไม่ได้วัดกันที่ความแหลมคมของนโยบายเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นซึ่งเป็นสูตรสำเร็จของบรรดาบ้านใหญ่ที่ผูกขาดพื้นที่
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ของพรรคประชาชนทั้ง 12 คน
กระทั่งปัจจุบัน ศรายุทธิ์ ใจหลัก เพื่อนสนิทธนาธร ที่มารับบทกุนซือเดินหมากการเลือกตั้งนายก อบจ. ของพรรคประชาชน ปรับจากกลยุทธ์หว่านแหเป็น ‘ล็อกเป้า’ ส่งผู้สมัครลงสู้ในพื้นที่ซึ่งหวังผลชนะได้ โดยอิงจากผลการเลือกตั้งปี 2566 และความพร้อมของสาขาพรรคในแต่ละพื้นที่ ล่าสุดเปิดตัวมาแล้ว 12 ผู้สมัคร ตั้งเป้าหมายอย่างไม่ทะเยอทะยานนักว่า ‘ขอชัยชนะ 1 คนต่อ 1 ภูมิภาค’ ก็เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ในสมรภูมิแรกอย่างการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี กลับเริ่มต้นได้ไม่สวยนัก หลังผู้สมัครอย่างเป็นทางการในนามพรรคประชาชนพ่ายแพ้ให้แชมป์เก่าอย่างขาดลอย ด้วยยุทธวิธีที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า เครือข่ายการเมืองอนุรักษนิยมร่วมใจกันสกัดกั้น ‘สีส้ม’
สำหรับการเลือกตั้งจังหวัดที่เหลือ รวมถึงการเลือกตั้งทั่วประเทศต้นปีหน้า พรรคประชาชนจึงต้องฝากความหวังกับ ‘สูตร’ ใหม่ คือดึงดูดให้คนกลับมาใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ. ในภูมิลำเนาให้มากที่สุด เพื่อโกยคะแนนจากฐานเสียงของพรรคที่อยู่ในตัวเมือง
หากปัจจัยนี้นำมาสู่ชัยชนะในจังหวัดอุดรธานีได้ ก็อาจจะกลายเป็นโมเดลสู่ผลสำเร็จในจังหวัดอื่นๆ เช่นกัน เพราะดูตามคะแนน สส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนในการเลือกตั้งปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งชนะได้ สส. เขตในพื้นที่อำเภอเมืองมา 1 คน
ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล
ขณะที่ในแง่ความรู้สึก เมื่อทักษิณออกจากหลังม่านมาด้วยตนเอง แกนนำของพรรคประชาชนจึงใช้เวทีหาเสียงเป็นพื้นที่ ‘ชกข้ามรุ่น’ ด้วยเนื้อหาการปราศรัยที่ดุเดือดรุนแรง โจมตีทั้งตัวทักษิณและรัฐบาล จนอาจเรียกได้ว่าเข้มข้นยิ่งกว่าการอภิปรายในสภาเมื่อครั้งมีเอกสิทธิ์ สส. คุ้มครองเสียอีก เช่น ชัยธวัช ตุลาธน อดีตผู้นำฝ่ายค้าน ที่ปราศรัยว่า
“คุณทักษิณบอกว่าเกลียดพวกพ่อค้ายามากเลย ถ้าเจอแล้วจะเรียกมา เรียกมาร่วมรัฐบาลหรือครับ พ่อค้าแป้งก็เป็นรัฐมนตรีได้ใช่ไหม”
ระดับชาติ-ระดับท้องถิ่น: ทุกสนามสำคัญเท่ากัน
บนเวที THE POWER GAME: Thai Political Landscape 2025 เช็กกำลังขั้วอำนาจการเมืองไทย 2568 วงสนทนาสุดท้ายในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 ร่วมแลกเปลี่ยนโดย สรกล อดุลยานนท์, ธนกร วงษ์ปัญญา และ พลวุฒิ สงสกุล Host และ Co-host รายการ THE POWER GAME ได้วิเคราะห์ถึงการเลือกตั้งนายก อบจ.
สรกลมองว่า พรรคประชาชนตัดสินใจลงเล่นในสนามเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้อย่างเต็มตัว เพราะเชื่อว่าเป็นโอกาสสร้างกระแสให้กับพรรค และหากพรรคประชาชนชนะเลือกตั้งได้ตำแหน่งนายก อบจ. มา แม้จะเพียงเก้าอี้เดียวก็สามารถสร้างผลงานได้ เพราะจุดอ่อนของพรรคประชาชนคือแม้จะมีความกล้า มีนโยบาย มีกระแส แต่ยังขาดผลงานการบริหารที่จะสร้างความเชื่อมั่น
สรกล อดุลยานนท์, ธนกร วงษ์ปัญญา และ พลวุฒิ สงสกุล บนเวที THE POWER GAME: Thai Political Landscape 2025 ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024
สรกลยังตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลที่ทักษิณต้องลงพื้นที่หาเสียงนายก อบจ.อุดรธานี ด้วยตนเองทั้งที่ไม่จำเป็น ซึ่งมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่อธิบายการเมืองทั้งหมดในเวลานี้ได้ และสาเหตุหลักเป็นเพราะ ‘แบรนด์ทักษิณ’ ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนเดิมในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
สรกลชี้ให้เห็นว่า ความจริงทักษิณไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ด้วยตนเอง เพราะลำพังจากการเลือกตั้ง สส. ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยน่าจะชนะขาดได้ไม่ยาก แต่หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือทักษิณต้องการสร้างบารมี เพราะหากครั้งนี้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ก็สามารถอ้างได้ว่าเป็นเพราะบารมีของทักษิณ และเมื่อทักษิณลงพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป ก็สามารถการันตีชัยชนะ เพิ่มความเชื่อมั่นให้มากขึ้นได้
นอกจากนี้เมื่อกระแสของพรรคเพื่อไทยเริ่มกลับมาดีขึ้น ก็จะทำให้ สส. พรรคเพื่อไทย ที่กำลังคิดว่าจะย้ายพรรค เริ่มไม่กล้าออกไป เพราะรัฐบาลที่นำโดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และลูกสาวของทักษิณ ยังมี ‘ไพ่สุดท้าย’ คือการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ขณะที่พรรคเพื่อไทยกำลังได้เปรียบในทางการเมือง
“แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของคาถายุบสภานั้นต้องสร้างขึ้นตั้งแต่เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี” สรกลระบุ
สุดท้ายสรกลยังมองว่า เหตุผลสำคัญที่สุดซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยต้องได้ชัยชนะในครั้งนี้ คือพรรคเพื่อไทยต้องแสดงให้ ‘ผู้มีอำนาจ’ เห็นว่าพรรคเพื่อไทยยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าพรรคภูมิใจไทย
โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี อุณหภูมิทางการเมืองเดือดดาลขึ้นทุกขณะ ซึ่งไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับตรงกันได้ว่าการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นในเวลานี้ไม่มีความแตกต่างกันอีกแล้ว เพราะทุกชัยชนะในทุกสนามล้วนมีผลต่อการรักษาดุลอำนาจทางการเมืองในปัจจุบันทั้งสิ้น
ทักษิณปราศรัยหาเสียงช่วยศราวุธที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี