×

‘ทรัมป์ป่วน โลกต้องเปลี่ยน’ ทั่วโลกทำอะไรบ้าง เพื่อรับมือสงครามภาษี

05.04.2025
  • LOADING...

การประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากทั่วโลกของโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้หลายประเทศที่มีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ ต้องเร่งหาทางป้องกันผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดขึ้น

 

จนถึงขณะนี้ มีหลายประเทศที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหว ทั้งสายตรงพูดคุย ส่งจดหมายหาทรัมป์ หรือกำหนดแนวทางรับมือทั้งในแบบของคู่ค้าและคู่แข่ง เช่น การเจรจายื่นหมูยื่นแมวแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือการโต้กลับอย่างแข็งกร้าวแบบ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’

 

หนทางเอาตัวรอดจากสงครามภาษีครั้งนี้คืออะไร และแต่ละประเทศทำอะไรไปแล้วบ้าง?

 

จีน

 

คู่แข่งอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ที่ถูกทรัมป์กำหนดอัตราภาษีสูงลิบถึง 54% ตัดสินใจเอาคืนด้วยการกำหนดอัตราภาษี 34% สำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ​ ทั้งหมด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน นอกจากนี้ยังจำกัดการส่งออกแร่หายาก (Rare Earth) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้สงครามการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ทวีความตึงเครียดมากขึ้นอีก

 

กัมพูชา

 

นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต แห่งกัมพูชา เขียนจดหมายถึงประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุว่าเขายินดีที่จะลดภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการ สูงสุด 19 ประเภทจาก 35% เป็น 5% ในทันที เพื่อ “เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี”

 

โดยกัมพูชาเผชิญภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ ในอัตราสูงถึง 49% ซึ่ง ฮุน มาเนต ระบุในจดหมายว่าต้องการเจรจากับรัฐบาลทรัมป์โดยเร็ว และขอให้สหรัฐฯ เลื่อนการบังคับใช้ภาษีตอบโต้ดังกล่าวออกไป

 

เวียดนาม

 

โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โทรศัพท์สายตรงคุยกับทรัมป์ โดยยื่นข้อเสนอที่จะลดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ​เหลือ 0% หากสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ และเสนอให้สหรัฐฯ ใช้ภาษีในอัตราเดียวกันสำหรับสินค้าจากเวียดนาม

 

ท่าทีดังกล่าว ถือเป็นความพยายามเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีตอบโต้ ที่สหรัฐฯ กำหนดต่อสินค้าเวียดนามสูงถึง 46% 

 

ซึ่งนอกจากนี้เวียดนามยังพร้อมที่จะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น และสนับสนุนการลงทุนของสหรัฐฯ ในเวียดนามเพิ่มเติม

 

มาเลเซีย

 

รัฐบาลมาเลเซีย นำโดยกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม กำลังประเมินผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของรัฐบาลทรัมป์

 

โดยนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม เผยว่า การกำหนดมาตรการรับมือการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จะเป็นไปอย่างรอบคอบ ขณะที่แสดงความพร้อมที่จะเจรจากับสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนจะเจรจากับประเทศสมาชิก เพื่อบรรลุข้อตกลงร่วมกันในประเด็นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ เพื่อให้แน่ใจว่าหลักการแห่งความยุติธรรมจะถูกนำไปใช้ในการค้าระหว่างประเทศ

 

สิงคโปร์

 

นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ แถลงเตือนประชาชนให้พร้อมรับมือกับผลกระทบจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ และชี้ว่า “เสถียรภาพของโลกที่เคยมีมาในอดีต จะไม่กลับคืนมาในเร็วๆ นี้”

 

“เพื่อที่เราจะไม่ต้องตกใจ อย่าปล่อยให้ตัวเองหลงระเริง ความเสี่ยงมีอยู่จริง เดิมพันนั้นสูง”

 

หว่อง กล่าวว่าสิงคโปร์จำเป็นต้องตระหนักถึงอันตรายที่กำลังก่อตัวขึ้นในโลก โดยสถาบันระดับโลกจะอ่อนแอลงและบรรทัดฐานระหว่างประเทศจะเสื่อมถอย

 

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า “สิงคโปร์จะยังคงเฝ้าระวัง และจะเสริมสร้างขีดความสามารถ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดเดียวกัน”

 

“เรามีความพร้อมมากกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยเงินสำรอง ความสามัคคี และความมุ่งมั่นของเรา”

 

อินเดีย

 

CNN รายงานโดยอ้างข้อมูลแหล่งข่าวว่ารัฐบาลทรัมป์ กำลังติดต่อกับรัฐบาลอินเดีย เวียดนาม และอิสราเอล เพื่อเจรจาข้อตกลงการค้าที่อาจจะช่วยลดภาษีตอบโต้ก่อนจะถึงเส้นตายบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน

 

โดยอินเดียเผชิญภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่ 26% ซึ่งสร้างความกังวลอย่างมากแก่ผู้ประกอบธุรกิจส่งออก

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ Reuters รายงานว่า อินเดียยินดีที่จะลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มากกว่าครึ่งหนึ่ง ของมูลค่ารวมกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์ หากทั้งสองประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่าง

 

ญี่ปุ่น

 

นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่น ชี้ว่าภาษีตอบโต้ของทรัมป์ เป็นวิกฤตของชาติ และยืนยันว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากมาตรการภาษีดังกล่าว ขณะที่จะให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

 

โดยญี่ปุ่นถูกกำหนดภาษีตอบโต้ในอัตรา 24% ซึ่งส่งผลกระทบซ้ำเติม จากมาตรการก่อนหน้านี้ของทรัมป์ ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ 25%

 

เกาหลีใต้

 

ฮันด็อกซู รักษาการประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ เรียกร้องการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อปกป้องเศรษฐกิจของประเทศจากผลกระทบของภาษีตอบโต้ และสั่งการให้มีมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับภาคธุรกิจ

 

โดยเกาหลีใต้เผชิญภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ในอัตรา 25%

 

ขณะที่ ฮันขอให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมวิเคราะห์ข้อมูลภาษีตอบโต้ดังกล่าว และเจรจาอย่างจริงจังกับรัฐบาลวอชิงตันเพื่อลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising