×

เจาะลึก ‘Stage Two’ การเทกโอเวอร์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เตรียมปิดดีลหรือยัง?

10.03.2023
  • LOADING...

ตามรายงานข่าวจากต่างประเทศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ตัวแทนจากทีมผู้เจรจาที่ยื่นข้อเสนอในชั้นต้น เพื่อเทกโอเวอร์ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้เดินทางมายังประเทศอังกฤษ เพื่อพบกับ Raine Group ธนาคารเพื่อการลงทุนที่ทำหน้าที่ในการเป็นผู้เจรจาแทนครอบครัวเกลเซอร์ในการขายกิจการ

 

ขั้นตอนนี้ถูกเรียกว่า ‘Stage Two’ หรือขั้นที่ 2 ของกระบวนการเจรจา ซึ่งในขั้นนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง? และนี่หมายถึงการที่ทีมปีศาจแดงใกล้จะเปลี่ยนแปลงเจ้าของสโมสรหรือยัง? และคำถามสำคัญที่สุดคือ แล้วใครจะ ‘ปิดดีล’ นี้ได้?

 

สิ่งแรกที่ต้องขยายความก่อนคือ ในขั้นที่ 2 นี้จะเป็นกระบวนการที่ฝ่าย ‘ผู้ซื้อ’ (Buyer) จะมีโอกาสในการเข้าถึงฐานข้อมูลทางการเงินของสโมสรทั้งหมดโดยไม่มีอะไรเป็นความลับอีกต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าผู้ซื้อจะต้องลงนามยอมรับข้อตกลงที่จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวออกไปสู่ภายนอก

 

การได้เข้าถึงข้อมูลทางการเงินทั้งหมด ผู้ซื้อจะได้เห็น 

 

  • สถานะทางการเงินของสโมสร
  • รายรับ / รายจ่ายทั้งหมด
  • รายละเอียดของสัญญาผู้เล่นทั้งหมด เงินค่าเหนื่อย / เงินโบนัส
  • ข้อตกลงกับพาร์ตเนอร์
  • จำนวนเงินที่สโมสรติดค้างในการจ่ายเงินซื้อตัวผู้เล่น
  • เงินโบนัสที่จะต้องจ่ายในอนาคต
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ
  • ค่าใช้จ่ายในการดูแลสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด
  • เงินรายรับที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด

 

โดยทีมเจรจาจะมีโอกาสพบเจ้าหน้าที่ทางการเงินของแมนฯ ยูไนเต็ด แบบ ‘ตัวต่อตัว’ เพื่อตรวจสอบและสอบถามเรื่องทางการเงินทั้งหมดไม่ให้ติดค้างหรือมีข้อสงสัยอีก

 

อ่านมาถึงตรงนี้อาจชวนให้เข้าใจได้ว่าเป็นกระบวนการปกติที่จะทำให้ผู้ซื้อมองเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า จากภาพที่เห็นภายนอกและข้อมูลเบื้องต้นที่ได้ตรวจสอบมาก่อนหน้านี้ เมื่อลงในรายละเอียดแล้วสถานะทางการเงินของแมนฯ ยูไนเต็ด นั้นเป็นอย่างไร ดีอย่างที่คิด ดีกว่าที่คิด หรือแย่กว่าที่คิด

 

จากนั้นก็ควรจะนำไปสู่กระบวนการเจรจาขั้นต่อไปคือ การยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการ

 

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้มันไม่ได้ง่ายและซื่อตรงขนาดนั้น ตามความเห็นของผู้คร่ำหวอดในวงการอย่าง ลอรี ปินโต นักเจรจาธุรกิจฟุตบอลระดับอาวุโสจาก Pinto Capital ได้ชี้ให้เห็นถึงเป้าประสงค์ลับๆ ของกระบวนการในขั้น ‘Stage Two’

 

ปินโตบอกว่า “แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นสโมสรที่มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กอยู่แล้ว พวกเขาส่งข้อมูลทางการเงินทุกอย่าง ทุกไตรมาส ดังนั้นถ้าอยากจะเห็นข้อมูลตัวเลขทางการเงินหรือมูลค่าสัญญาต่างๆ สามารถเช็กจากตรงนั้นได้เลย”

 

สำหรับขั้นที่ 2 ในมุมมองของปินโตจึงไม่ใช่ส่วนที่สำคัญสำหรับผู้ซื้อ แต่กลับเป็นส่วนสำคัญสำหรับผู้ขาย โดยแท้จริงแล้ว Raine ในฐานะตัวแทนการเจรจา ต้องการให้ผู้ซื้อ ‘เพิ่มข้อเสนอ’ ในการประมูลให้สูงขึ้นจากเดิม

 

ในเวลาเดียวกันก็คาดหวังว่าจะมีผู้ที่ยื่นข้อเสนอรายใหม่เข้ามาด้วย เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ นับจากที่มีการเปิดให้ยื่นข้อเสนอในรอบแรกเมื่อเดือนที่แล้ว Raine ได้รับข้อเสนอจากผู้ที่ยื่นเข้ามา 2 รายด้วยกัน

 

  1. ชีค จัสซิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี แห่งกาตาร์
  2. เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ แห่ง INEOS

 

โดยแม้จะมีรายงานว่า มีข้อเสนอจากกลุ่มทุนในสหรัฐอเมริกาเป็นรายที่ 3 แต่ข้อมูลล่าสุดขณะนี้ไม่มีการเอ่ยถึงอีกแล้ว ทำให้มีข้อเสนอบนโต๊ะเจรจาเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น ซึ่งยังไม่เป็นสถานกาารณ์ในแบบที่ Raine หรือครอบครัวเกลเซอร์คาดหวังไว้

 

โดยเฉพาะสิ่งสำคัญคือ การที่ข้อเสนอจากทั้ง ชีค จัสซิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี และ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ ยังห่างจากตัวเลขที่มีการคาดหวังไว้มาก

 

ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายน ช่วงที่ครอบครัวเกลเซอร์ประกาศว่าต้องการขายแมนฯ ยูไนเต็ด สมบัติที่เข้ามาครองครองตั้งแต่ปี 2005 ตัวเลขในใจที่พวกเขาต้องการอยู่ที่ 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6 พันล้านปอนด์ 

 

ในขณะที่มีผู้คร่ำหวอดบางคนเชื่อว่า มูลค่าของยูไนเต็ดอาจไปได้ไกลถึง 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8 พันล้านปอนด์เลยทีเดียว ทางด้าน โจ แรตควิช ผู้ร่วมก่อตั้ง Raine และเป็นหัวหน้าทีมเจรจาให้กับครอบครัวเกลเซอร์ ได้แนะนำไปว่า หากจะขายก็ไม่สมควรได้ตัวเลขน้อยกว่าขั้นต่ำที่ตั้งไว้ใจไว้คือ 6 พันล้านปอนด์

 

จุดนี้ที่น่าสังเกตเพราะเวลาที่นายธนาคารประเมินมูลค่าทรัพย์สินจะประเมินจากหลายปัจจัย รวมถึงมูลค่าหุ้นและหนี้สินสุทธิ ซึ่งกรณีของแมนฯ ยูไนเต็ด พวกเขามีหนี้สินสุทธิที่ 656 ล้านปอนด์ และยังมียอดผ่อนในการซื้อผู้เล่นอีก 256 ล้านปอนด์ หรือรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 856 ล้านปอนด์

 

Raine เคยทำสำเร็จในการเทกโอเวอร์เชลซีเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งครอบครัวเกลเซอร์ก็คาดหวังเอาไว้ในแบบเดียวกัน

 

แต่ปัญหาใหญ่คือข้อ เสนอจากทางกาตาร์และ INEOS ไม่ได้ใกล้เคียงกับตัวเลขที่คาดหวังเลย

 

ตามการเปิดเผยของ The Athletic ข้อเสนอจากชีค จัสซิม อยู่ที่ 5.3 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐ หรือ 5.6 พันล้านปอนด์ ในขณะที่จากแรตคลิฟฟ์อยู่ที่ 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4.3 พันล้านปอนด์ และในข้อเสนอจากทั้งสองก็ยังมีความแตกต่างกันอีก

 

  • ข้อเสนอจากกาตาร์ที่ยื่นผ่าน Nine Two Foundation พร้อมที่จะซื้อหุ้นทั้งหมดด้วย ‘เงินสด’ รวมถึงหุ้นอีก 31% ของบริษัทที่ครอบครัวเกลเซอร์ไม่ได้เป็นเจ้าของด้วย (เพราะหุ้นของแมนฯ ยูไนเต็ด อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก)
  • ข้อเสนอจากแรตคลิฟฟ์จะมีทั้งเงินสดและเงินกู้ยืม

 

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ มีแนวโน้มที่สูงมากว่าทั้งสองรายจะไม่ยื่นข้อเสนอที่สูงไปกว่านี้อีกแล้ว

 

โดยฝ่ายของ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ นั้นเป็นนักธุรกิจที่ในวงการจะรู้กันดีว่าเป็นคนที่ยื่นข้อเสนอเป็นคนสุดท้ายเสมอ (เมื่อครั้งการเทกโอเวอร์เชลซีก็พยายามจะเป็นผู้ยื่นรายสุดท้ายเช่นกัน) ซึ่งหมายถึงเป็นข้อเสนอที่ผู้ขายจำเป็นต้องรับ เพราะไม่มีข้อเสนออื่นแล้ว

 

ในขณะที่ฝ่ายของ ชีค จัสซิม ที่ในความรู้สึกของคนนอกแล้วน่าจะพร้อมทุ่มไม่อั้น เพราะมีอำนาจทางการเงินที่ยากลึกหยั่งถึง แต่ในโลกความเป็นจริงแล้วกาตาร์ไม่เคยยื่นข้อเสนอซื้อกิจการใดๆ ก็ตามเกินกว่าที่ควรจะจ่าย เพราะหากทำแบบนั้นครั้งหนึ่งนั่นหมายถึงมีโอกาสทำซ้ำแบบเดียวกันอีกในอนาคต

 

อีกทั้งมีสัญญาณจาก ชีค ฮาหมัด บิน จัสซิม บิน จาเบอร์ อัล ธานี พระบิดาของชีค จัสซิม ที่ส่งสัญญาณปรามว่า ‘ไม่ชอบ’ การลงทุนครั้งนี้เท่าไรนัก ทำให้มีการคาดว่าจะไม่มีข้อเสนอใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากทางกาตาร์

 

ยกเว้นว่าหลังการตรวจสอบข้อมูลจะพบว่าแมนฯ ยูไนเต็ด มี ‘ศักยภาพ’ ที่จะทำเงินได้มากกว่าที่ประเมินไว้และสมควรจ่ายมากขึ้น 

 

จุดเช็กพอยต์ที่สำคัญอีกจุดที่เป็นดัชนีสะท้อนมูลค่าของแมนฯ ยูไนเต็ด คือ ‘ราคาหุ้น’ ในตลาด โดยหลังจากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในปี 2012 มูลค่าหุ้นในเวลานั้นอยู่ที่หุ้นละ 21.93 ดอลลาร์สหรัฐ (18.50 ปอนด์) และมีมูลค่ารวมในเวลานั้น 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (3 พันล้านปอนด์)

 

ตัวเลขมูลค่านี้เมื่อรวมกับจำนวนหนี้สุทธิและยอดผ่อนนักฟุตบอลที่ค้าง (856 ล้านปอนด์) บวกกับเงินอีก 1 พันล้านปอนด์ตามปัจจัยอื่นๆ จะได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกับข้อเสนอ 4.5 พันล้านปอนด์จากกาตาร์ และ 4.3 พันล้านปอนด์จากแรตคลิฟฟ์ ตรงนี้เป็นสูตรการคิดแบบที่ 1

 

สูตรการคิดในแบบที่ 2 ต่อยอดจากการที่ Raine ขายเชลซีได้ 2.5 พันล้านปอนด์ + เงินลงทุนการันตีอีก 1.75 พันล้านปอนด์สำหรับในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งหากมองเฉพาะก้อนแรก Raine ใช้การคำนวณในแบบเดียวกับแฟรนไชส์อเมริกันฟุตบอลใน NFL ด้วยการคูณรายรับเข้าไปเป็นจำนวน 6 เท่าของรายรับปัจจุบัน จึงได้ที่ 2.5 พันล้านปอนด์

 

แต่ต่อให้คิดด้วยวิธีนี้ก็ยังได้แค่ 3.6 พันล้านปอนด์อยู่ดี เมื่อรวมกับเงินส่วนต่างที่เรียกว่า Premium ที่ผู้ซื้อจ่ายทบให้ ก็ยังอยู่ในระดับข้อเสนอที่ได้รับอยู่ดี

 

ในช่วงระยะเวลา 1 ปีก่อนที่ครอบครัวเกลเซอร์จะประกาศขายสโมสรในเดือนพฤศจิกายนนั้น หุ้นของแมนฯ ยูไนเต็ด เคลื่อนไหวในราคา 11-15 ดอลลาร์สหรัฐ และเคยต่ำสุดที่ 10.42 ดอลลาร์สหรัฐ

 

เมื่อมีการประกาศจะขายสโมสร มูลค่าของหุ้นได้พุ่งทะยานรับข่าวดีไประดับ 21-23 ดอลลาร์สหรัฐ และเคยทะยานไปแตะระดับ 24-27 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ในช่วงที่มีกระแสข่าวว่าเจ้าของสโมสรใหม่จะมาจากกาตาร์

 

ความเคลื่อนไหวตรงนี้เป็นสิ่งที่ทั้งฝ่ายชีค จัสซิม และแรตคลิฟฟ์ มองเห็นอยู่แล้วอย่างไม่ต้องสงสัย และรู้ว่ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นแมนฯ ยูไนเต็ด นั้นควรอยู่ที่ประมาณเท่าไร ซึ่งก็นำไปสู่ตัวเลขข้อเสนอบนโต๊ะเจรจานั่นเอง

 

โดยที่สัญญาณที่น่าสนใจคือ มูลค่าของหุ้นเริ่มตกในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อนลงแข่งขันนัดชิงชนะเลิศลีกคัพเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่ง โจเอล เกลเซอร์ หนึ่งในสมาชิกครอบครัวเกลเซอร์ ได้เดินทางไปชมการแข่งขันด้วย ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ครอบครัวเกลเซอร์อาจจะเปลี่ยนใจไม่ขายหุ้นออกไป และต้องการจะอยู่ดูความสำเร็จของสโมสร หลังจากที่เริ่มกลับมาถูกทางอีกครั้งภายใต้การนำของ เอริก เทน ฮาก

 

มาถึงจุดนี้ คำถามเดียวสั้นๆ ว่า ตกลงจะมีการซื้อ-ขายไหม?

 

คำตอบคือทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการเจรจา และมีโอกาสที่จะมีการซื้อ-ขายกันในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ซื้อยื่นข้อเสนอใหม่ที่สูงขึ้นหรือใกล้เคียงกับที่ครอบครัวเกลเซอร์ต้องการ หรือครอบครัวเกลเซอร์อาจยอมลดราคาลงมาให้ใกล้กับข้อเสนอมากขึ้นเพื่อต่อรองกัน เช่น ลดลงมาเหลือ 5 พันล้านปอนด์

 

แต่ก็มีโอกาสเช่นเดียวกันที่จะไม่เกิดการซื้อ-ขายขึ้น เพราะตัวเลขในใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายไม่ตรงกัน

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน Stage Two หลังจากนี้คือ ทั้งสองฝ่ายจะใช้ ‘เวลา’ ในการตรวจสอบ เพื่อชั่งน้ำหนักกันอีกครั้ง

 

จะมีการยื่นข้อเสนอเพิ่มไหมสำหรับทางกาตาร์ ขณะที่ฝ่ายแรตคลิฟฟ์เองหากต้องยื่นข้อเสนอเพิ่มหรือจะไม่ยื่นเพิ่มก็ตามก็ต้องการข้อมูลและเวลา เพื่อนำไปเสนอขอกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุน (เช่น เฮดจ์ฟันด์ Elliott) รวมถึงคณะกรรมการด้านการลงทุนของ INEOS 

 

และสำหรับ Raine กับครอบครัวเกลเซอร์ พวกเขาแอบหวังว่าจะมีผู้เล่นรายใหม่ที่ยื่นข้อเสนอเข้ามาด้วย เพื่อให้มีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น เหมือนตอนเชลซีที่การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือด เร้าใจ

 

โดยระยะเวลานั้นคาดว่าจะใช้เวลามากกว่า 2 เดือน เพราะการซื้อ-ขายกิจการในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนเป็นช่วงที่ไม่ดีสำหรับธุรกิจฟุตบอล เวลาที่เหมาะสมกว่าคือเดือนพฤษภาคม ซึ่งใกล้จะปิดปีงบประมาณ ซึ่งมองเห็นโอกาสและการทำรายได้ของสโมสรได้จากเงินรางวัล เงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด และสิทธิ์ในการได้เล่นในรายการสโมสรยุโรปรายการไหน

 

และนี่คือรายละเอียดของ Stage Two สำหรับการเทกโอเวอร์แมนฯ ยูไนเต็ด และสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising