×

สรุปประเด็นร้อน 2 นักร้อง ‘ศรีสุวรรณ-สนธิญา’ จากปม #เดี่ยว13 ถึงกรณีชายบุกเดี่ยวชกกลางวงสื่อ

โดย THE STANDARD TEAM
19.10.2022
  • LOADING...
ศรีสุวรรณ-สนธิญา

การแสดงเดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ 13 สแตนด์อัพคอเมเดียนของ โน้ต-อุดม แต้พานิช ที่จัดขึ้นเมื่อ 10-19 มิถุนายน 2565 ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน และต่อมาถูกเผยแพร่บนแพลตฟอล์ม Netflix ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา มีความยาวเกือบ 3 ชั่วโมง มีการกล่าวถึงมีการจัดหนักวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในหลายประเด็น โดยที่ไฮไลต์ที่ถูกพูดถึงนั้นอยู่ในช่วง 26 นาทีสุดท้ายของโชว์ 

 

การแสดงครั้งนี้ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนหินจากผู้ที่รับชมจากโลกออนไลน์หลังรับชมจบ ในมุมของผู้ที่ไม่ชอบรัฐบาลมีการกล่าวชมอย่างกว้างขวางถึงความกล้าที่จะออกมาพูดการบริหารของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา แต่อีกมุมของผู้ที่ชื่นชอบในรัฐบาลกลับรู้สึกไม่พอใจกับการวิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้ นำไปสู่การร้องเรียนให้ดำเนินคดีทางกฎหมาย 

 

โดยเฉพาะกับ 2 บุคคลที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘นักร้อง’ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และ สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้เข้ายื่นหนังสือให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการแสดงครั้งนี้ ระบุว่ามีการพาดพิง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยหรือไม่

 

ศรีสุวรรณยื่นร้องเรียนและถูกชกหน้าในวันเดียวกัน

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามครรลองของกฎหมาย เนื่องจากเดี่ยวไมโครโฟน 13 มีการใช้ถ้อยคำ บางคำพูดอันอาจมีลักษณะส่งเสริมให้บุคคลร่วมชุมนุมสาธารณะที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจขัดต่อความมั่นคงของรัฐและหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ประกอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 หรือไม่ อย่างไร

 

ในวันเดียวกัน ได้เกิดเหตุการณ์ทอล์กออฟเดอะทาวน์ เมื่อปรากฏชายรายหนึ่ง ซึ่งทราบชื่อภายหลังคือ วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล หรือ ลุงศักดิ์ วัย 62 ปี เจ้าของช่องยูทูบ ศักดินาเสื้อแดง ต่อต้านเผด็จการ บุกเข้าชกหน้าและแตะเข้ากลางลำตัวของศรีสุวรรณ ขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน จนเกิดเป็นเหตุชุลมุน ท่ามกลางการถ่ายทอดสดของสำนักข่าว

 

หลังเกิดเหตุการณ์ ศรีสุวรรณให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า จะดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยแจ้งความในข้อหาทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) พหลโยธิน และขอใบส่งตัวจากพนักงานสอบสวนไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต เพื่อวินิจฉัยอาการบาดเจ็บ จากนั้นจะนำมามอบให้กับพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งอัยการ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

 

เขายังได้ระบุอีกว่าหลังจากนี้ต้องระวังตัวมากยิ่งขึ้น อาจต้องมีรักษาความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงกังวลไปถึงการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบในอนาคต และเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญของตนเองเช่นกัน

 

สนธิญา ร้อง บช.น. สอบ 15 ประเด็น ‘เดี่ยว 13’

ในวันเช้าถัดมา (19 ตุลาคม) เวลา 10.15 น. สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เข้ายื่นหนังสือให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนครั้งที่ 13 เช่นกัน ว่ามีการพาดพิง พล.อ. ประยุทธ์ จำนวน 15 ประเด็น ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ท่ามกลางความอำนวยความสะดวกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

สนธิญานำหนังสือไปตรวจสอบทั้ง 15 ประเด็น เช่น มีการเปรียบเทียบ พล.อ. ประยุทธ์ กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ในการเข้ามาบริหารประเทศ, ยุทธศาสตร์ 20 ปี, มีการเทียบกับประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์, กล่าวสนับสนุนการชุมนุม, นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ, การตรวจสอบความโปร่งใส รวมถึงการกู้เงิน ส่งผลให้มีหนี้เพิ่มนั้น ต้องการดำเนินตรวจสอบวินิจฉัยว่าเป็นไปตามครรลองของกฎหมายหรือไม่ อย่างไร 

 

สนธิญายืนยันว่า ไม่มีเรื่องบาดหมางหรือความโกรธเคืองใดๆ กับโน้ตมาก่อน เพียงแต่ต้องการให้เป็นการทำความจริงให้ปรากฏเท่านั้น ส่วนจะมีความผิดหรือไม่ ตนเองเพียงทำหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนตัวมองว่าความคิดต่างเป็นเรื่องสร้างสรรค์ในสังคม

 

สนธิญากล่าวว่า การแสดงดังกล่าว หากเป็นการพูดในพื้นที่ปิด ไม่ได้นำมาเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะ แต่การกล่าวสิ่งเหล่านั้นเป็นการที่ต้องถูกเข้าไปอยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 มีการพูดถึงเรื่องการชุมนุม และอีกหลายส่วนที่มองว่าไม่เป็นความจริง

 

“ส่วนตัวผม ผมทำหน้าที่อย่างนี้มา 16 ปี ไม่ใช่ร้องแต่เรื่องของ พล.อ. ประยุทธ์ แต่ผมสนับสนุนคนที่ปกครองประเทศ ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่โกง และไม่คอร์รัปชัน คนมีสิทธิเสรีภาพจะกระทำใดๆ ก็ได้ตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่อย่าละเมิดสิทธิผู้อื่น” สนธิญาระบุ 

 

การยื่นหนังสื่อครั้งนี้ของสนธิญาใช้เวลาประมาณ 30 นาที ช่วงหนึ่งระหว่างยื่นหนังสือ วรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เข้ามาชูป้ายกระดาษ เขียนข้อความว่า “ขอสนับสนุนและให้กำลังใจโน้ต อุดม” ก่อนจะจับมือและถ่ายรูปร่วมกัน และเดินทางออกจาก บช.น. ไปทันที 

 

คนการเมืองว่าอย่างไร หลัง ‘เดี่ยว 13’ พาดพิงประยุทธ์-รัฐบาล

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการพาดพิงรัฐบาลว่า ติดตามดูมาตลอด ชื่นชมในความสามารถ ส่วนเรื่องวิจารณ์รัฐบาล เขาก็พูดมาทุกการแสดงเดี่ยว ในความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าเขาพูดเพื่อความบันเทิง คนดูก็มีวิจารณญาณในการฟังอยู่แล้ว ไม่ควรนำมาเป็นเรื่องราวไหญ่โตอะไร

 

ขณะที่ เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและนายกฯ นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่าถึงขั้นลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลที่ทำให้เสื่อมเสีย และที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ เปิดกว้างพร้อมที่จะรับฟังข้อท้วงติง ข้อเสนอแนะ และนำมาปรับใช้ในการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองอยู่แล้ว 

 

ส่วนที่กล่าวออกมาสนับสนุนการชุมนุม กล่าวเตือนไปว่า เวลาจะพูดอะไรต้องระมัดระวัง อย่าเที่ยวพูดด้วยความสนุกปากโดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา เพราะอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่น ยุยงปลุกปั่นให้คนลงถนน ก่อม็อบไล่นายกฯ ที่อาจนำไปสู่การสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วไป หรือเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้ เช่นนี้ก็อาจมีความผิดทางกฎหมายได้

 

ขณะที่ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทอล์กโชว์เดี่ยว 13 ของโน้ต ว่าไม่แน่ใจว่าระหว่างรู้สึกโกรธกับอาย พล.อ. ประยุทธ์ให้น้ำหนักกับอารมณ์ไหนมากกว่ากัน ถ้าตั้งสติ ไม่โกรธ ไม่โมโห จะเข้าใจว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพที่ถูกรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นการติชมตามวิสัยที่ประชาชนพึงกระทำได้ คนดีชอบแก้ไข อะไรที่เป็นปัญหา พล.อ. ประยุทธ์ นำไปปรับปรุงแก้ไข

 

ศรีสุวรรณถูกทำร้าย กับท่าทีต่อความรุนแรง

ส่วนกรณีที่ศรีสุวรรณถูกทำร้ายนั้น พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ไม่สนับสนุนความรุนแรง “อย่าไปใช้ความรุนแรงเลยนะ” พร้อมปฏิเสธตอบคำถามว่าต้องเพิ่มการรักษาความปลอดภัยคณะรัฐมนตรี ระหว่างการลงพื้นที่หรือไม่ 

 

ส่วน พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้กำชับสถานที่ราชการ โดยเฉพาะสถานีตำรวจต้องเฝ้าระวังเรื่องนี้ ขณะเกิดเหตุไม่มีเจ้าหน้าที่ จึงสั่งการให้ตรวจสอบมีความบกพร่องผิดขั้นตอนการปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร ถ้าตำรวจอยู่ในสถานที่ขณะเกิดเหตุถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตำรวจต้องจับกุม 

 

ต่อไปจะได้ออกหนังสือราชการกำชับ เมื่อมีบุคคลมีชื่อเสียงเข้ามาสถานที่ราชการต้องเพิ่มความเข้มไม่ให้กลุ่มเห็นต่างเข้าไปทำร้าย เป็นมาตรการที่ไม่ดีที่มีการใช้กำลังซึ่งกันและกัน เราจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในสถานที่ราชการ 

 

ด้าน อานนท์ นำภา ทนายความ และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย โพสต์เฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุว่า “ผมว่าอย่าไปสนับสนุนการใช้ความรุนแรงเลยครับ บางเรื่องต่อให้ชอบหรือชังก็ไม่ควรสร้างให้เป็นกระแสการยินยอมให้ใช้ความรุนแรง”

 

ขณะที่ สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าวเป็นเรื่องปกติทางด้านความคิด แต่ในเรื่องของพฤติกรรม เป็นเรื่องที่คนไทยส่วนมากรับไม่ได้ พร้อมเรียกร้องว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำกับผู้ที่เห็นต่าง ในส่วนของการใช้กำลังนั้นเกรงว่าในอนาคตจะพัฒนาไปใช้กำลังอย่างอื่นเพิ่ม เรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศตรวจสอบและพิจารณาโดยเคร่งครัด

 

กระแสสังคม กับการแห่บริจาคเงินให้ชายชกศรีสุวรรณ

วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล อายุ 62 ปี เจ้าของช่องยูทูบ ศักดินาเสื้อแดง ต่อต้านเผด็จการ ชายผู้เข้าไปตบศรีสุวรรณ กลางวงสัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่า “ตั้งใจมาตบเพื่อสั่งสอน เพื่อจะบอกว่าคนเห็นต่างก็มี อย่าเลียจนเกินไป คำว่าประชาธิปไตยทุกคนต้องยอมรับความเห็นต่าง หลายปีมานี้ นายนี่เป็นนักร้องดังกว่านักร้องแรป นักร้องลูกทุ่ง ผมตั้งใจแบบนี้จริงๆ”

 

หลังเกิดเหตุการณ์บุคคลที่ไม่สนับการร้องเรียนของศรีสุวรรณ ได้มีการโอนเงินบริจาคไปที่วีรวิชญ์อย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่ตามการรายงานของผู้จัดการออนไลน์รายงาน ซึ่งอ้างอิงผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งว่ามียอดเงินบริจาค 6,589,841.12 บาท และขณะนี้ปิดรับบริจาคไปแล้ว

 

อย่างไรก็ตามวีรวิชญ์ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ไม่เป็นความจริง สำหรับยอดบริจาคตัวเลขที่ 6 ล้านบาท พร้อมให้สื่อมวลชนพิสูจน์บัญชีของตนเองได้ 

 

สำหรับชายวัย 62 ปี ที่ชื่อ วีรวิชญ์ เคยก่อเหตุเมื่อปี 2564 ด้วยการบุกเข้าไปภายในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ทำร้ายร่างกาย เสกสกล อัตถาวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี พร้อมแจ้งความดำเนินคดีไว้แล้ว 

 

ทั้งนี้ มีรายงานล่าสุดว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามได้นำกำลังเข้าจับกุมวีรวิชญ์ได้ที่บริเวณลานจอดรถอาคารมาลีนนท์ พระราม 4 และนำตัวเข้ามาสอบปากคำยังกองบังคับการปราบปราม ก่อนจะส่งตัวไปที่ สน.ดุสิต ซึ่งเป็นท้องที่ที่ออกหมายจับกรณีทำร้ายร่างกายเสกสกล หลังสอบปากคำ ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนด้วยวงเงิน 40,000 บาท 

 

ปี 2565 ศรีสุวรรณ-สนธิญา ร้องไปแล้วกี่ครั้ง

การร้องเรียนของ ศรีสุวรรณ จรรยา ส่วนใหญ่จะบุคคลในวงการการเมือง และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น พรรคร่วมฝ้ายค้าน หรือ กลุ่มผู้ชุมนุม

 

14 มีนาคม 2565 

  • ร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเพื่อไทย กรณี ส.ส.-นักธุรกิจ เดินทางไปไหว้ ทักษิณ ชินวัตร ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

4 เมษายน 2565 

  • ร้องต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) เอาผิดประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 กับสายการบินไทยเวียตเจ็ท กรณีเล่นมุก ‘น่าน-มิวนิก’ ในวันเอพริลฟูลส์เดย์ (April Fool’s Day)

11 พฤษภาคม 2565 

  • ร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีป้ายหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.- ส.ก. ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

18 พฤษภาคม 2565 

  • ร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เอาผิด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทำป้ายหาเสียงรีไซเคิล ทำกระเป๋า เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้

30 พฤษภาคม 2565 

  • ยื่นหลักฐานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่ม เพื่อเอาผิด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่เก็บป้าย เป็นผู้ว่าฯต้องทำตามกฎหมาย

25 สิงหาคม 2565 

  • ร้อง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เอาผิดกรณีกลุ่มผู้ชุมนุมไล่ พล.อ. ประยุทธ์ ออกนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต

30 กันยายน 2565 

  • ประกาศแจ้งจับคนลงถนน หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐยังไม่ครบ 8 ปี 

18 ตุลาคม 2565 

  • ร้องต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามครรลองของกฎหมาย ต่อการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน 13 

 

ขณะที่การร้องเรียนของ สนธิญา สวัสดี นั้น มีการร้องเรียนบุคคลในหลายวงการ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่รวมไปถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงด้วย 

 

21 มกราคม 2565

  • ร้องต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบจริยธรรมของ วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และ สุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายใส่ร้าย พล.อ. ประยุทธ์ ว่าใช้เงิน 5 ล้านบาท แจก ส.ส.

31 มกราคม 2565 

  • ร้องต่อ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้ดำเนินการตรวจสอบสื่อโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ที่นำเสนอข้อมูลกรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียในรอบ 32 ปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

28 กุมภาพันธ์ 2565 

  • ร้องต่อ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้ตรวจสอบกองทุนราษฎรประสงค์ เข้าข่ายสนับสนุนการล้มล้างการปกครองที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้

6 มิถุนายน 2565

  • ร้องต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) ให้ดำเนินคดีกับ ลักขณา ปันวิชัย (คำ ผกา) ในข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2561 มาตรา 14 และ 15 

12 กรกฎาคม 2565 

  • ร้องเอาผิด นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โพสต์เฟซบุ๊กยุยงปลุกปั่นประชาชน ‘จะเอาแบบอังกฤษ หรือ ศรีลังกา’

23 สิงหาคม 2565 

  • ร้องต่อ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร้องให้มีการสอบและดำเนินคดี กลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ใน 4 ประเด็น

5 กันยายน 2565 

  • ร้องตรวจสอบ พชร ธรรมมล หรือ ฟลุ๊ค เดอะสตาร์ อดีตนักร้อง และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตราชเวที พรรคเพื่อไทย จากกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กที่ไปเกี่ยวพันกับผู้บริหารประเทศ 

15 กันยายน 2565 

  • ร้อง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) ตรวจสอบเฟซบุ๊ก ‘อ๋อม สกาวใจ’ หลังพบ 3 เดือนใส่ร้ายนายกฯ 11 โพสต์

 21 กันยายน 2565

  • นำหลักฐานร้อง อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. พรรคก้าวไกล จำนวน 10 โพสต์ พิสูจน์และตรวจสอบพฤติกรรมการกระทำว่ามีพฤติกรรมจาบจ้วงเกี่ยวกับสถาบัน และการนำข้อมูลอันเป็นเท็จและปล่อยให้บุคคลอื่นหรือไม่

27 กันยายน 2565 

  • ร้อง 4 นักร้อง อ๊อฟ-ปองศักดิ์ รัตนพงษ์, ว่าน-ธนกฤต พานิชวิทย์, ป๊อบ-ปองกูล สืบซึ้ง และ โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน ได้แต่งเพลงพิเศษ 2 เพลงบนเวที คอนเสิร์ต 4 แยกปากหวาน ตอน I will survive #สู้ตายเราต้องรอด 

19 ตุลาคม 2565 

  • ร้องต่อ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามครรลองของกฎหมาย ต่อการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน 13 

 

ปี 2564 สนธิญา เคยร้องเรียนเกี่ยวกับดารา นักร้อง และผู้มีชื่อเสียงกว่า 20 คน กรณีใช้โซเชียลมีเดียแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและพาดพิงการบริหารงานของรัฐบาล นอกจากนี้ยังแจ้งความ ‘ฮาร์ท สุทธิพงศ์’ กรณีโพสต์ปั่นเฟกนิวส์ วัคซีนโควิด รวมถึงร้องศาล กรณี เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ทำผิดเงื่อนไขประกันตัวหรือไม่ กรณีโพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงสถาบันฯ ด้วย

 

หมายเหตุ: THE STANDARD การร้องเรียนของ ศรีสุวรรณ จรรยา และ สนธิญา สวัสดี รวบรวมจากกรณีการยื่นร้องเรียนที่ปรากฏต่อหน้าสื่อเท่านั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X