วิกฤตตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนทวีความน่ากังวลมากยิ่งขึ้น หลังหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ และชาติตะวันตก เริ่มส่งสัญญาณเตรียมรับมือด้วยการเรียกทูตและประชาชนของตนกลับประเทศอย่างเร่งด่วน
โดยสถานการณ์ที่แหลมคมจนเรียกได้ว่าอาจปะทุไปถึงจุดเดือดคือ ‘สงคราม’ ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 มีปัจจัยหลักอยู่ที่บทบาทและความเคลื่อนไหวของ 4 ฝ่าย ได้แก่
- รัสเซีย
- ยูเครน
- สหรัฐฯ และ NATO
- EU และชาติยุโรปอื่นๆ
ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีความต้องการและจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวโยงกับเรื่องยุทธศาสตร์การเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ทำให้จนถึงตอนนี้ยังไม่มีวี่แววว่าฝ่ายใดจะยอมอ่อนข้อและยุติภาวะตึงเครียดนี้ด้วยสันติวิธี
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายคนสงสัยและตั้งคำถามคือ ใน 4 ฝ่ายข้างต้นนั้น ใครอยู่ฝ่ายไหนและมีบทบาทอย่างไรบ้างกับวิกฤตครั้งนี้
ยูเครน
- ยูเครนซึ่งเคยเป็นสาธารณรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียต ถูกมองเป็นดินแดนที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์และความมั่นคงในยุโรปตะวันออก โดยมีพรมแดนติดกับทั้งรัสเซียและสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 รัฐบาลเครมลินก็มองยูเครนว่าเป็นเสมือน ‘สวนหลังบ้าน’ ของตนเอง
- ความผูกพันระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นมีทั้งด้านประวัติศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรม ประชากรในยูเครนจำนวนไม่น้อยเป็นชนเชื้อสายรัสเซียและพูดภาษารัสเซีย โดยเฉพาะในภูมิภาคไครเมีย (ภาคใต้) และดอนบัส (ภาคตะวันออก) ซึ่งผู้คนในสองภูมิภาคนี้นอกจากจะใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาหลัก ยังมีความต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจากยูเครน
- นับตั้งแต่การแยกตัวจากสหภาพโซเวียต ยูเครนพยายามที่จะขยายความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกมากขึ้น รวมถึงพยายามจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางการทหาร ที่ตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านสหภาพโซเวียต โดยในปี 2008 องค์การ NATO ได้ให้สัญญากับรัฐบาลเคียฟว่าจะเปิดโอกาสให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ในวันหนึ่งข้างหน้า
- ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียนั้นปะทุขึ้นในปี 2014 หลังเกิดการประท้วงใหญ่ในยูเครนจากฝ่ายสนับสนุนชาติตะวันตก ซึ่งนำมาสู่การถอดถอนประธานาธิบดีผู้มีความใกล้ชิดกับรัสเซีย ตามด้วยการประท้วงจากฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย ทั้งในไครเมียและดอนบัส ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ขยายตัวสู่ความรุนแรง และยิ่งกลายเป็นความขัดแย้งมากขึ้นเมื่อรัสเซียเข้ามามีบทบาท ทั้งการผนวกรวมดินแดนไครเมียและการสู้รบระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในดอนบัสกับกองทัพรัฐบาลยูเครน ซึ่งรัสเซียถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนทั้งอาวุธและกำลังทหารแก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
- ปัจจุบันสถานการณ์สู้รบในดอนบัสนั้นยังไม่ยุติลง แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามทำข้อตกลงสันติภาพมาแล้วหลายครั้ง โดยการทำสงครามขนาดใหญ่กับกองทัพรัฐบาลยูเครนนั้นลดลง แต่ยังมีการปะทะเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นเป็นระยะ ซึ่งผลพวงจากการสู้รบจนถึงปัจจุบัน คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วมากกว่า 13,000 คน
- สำหรับความตึงเครียดบริเวณแนวชายแดนติดกับรัสเซียครั้งนี้ ยูเครนยังไม่แสดงท่าทีตอบโต้หรือฟันธงว่ารัสเซียอาจเปิดฉากบุกในระยะเวลาอันใกล้ โดยมีความพยายามขอให้รัสเซียอธิบายข้อสงสัยเรื่องการเพิ่มกำลังทหารบริเวณแนวชายแดน แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะให้คำตอบ ซึ่งยูเครนยังมองหาความเป็นไปได้ที่จะเร่งเปิดการเจรจากับรัสเซียและประเทศที่เกี่ยวข้อง
- ขณะที่รัฐบาลยูเครนมองว่าความเคลื่อนไหวและท่าทีของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก โดยเฉพาะการอพยพประชาชนออกจากยูเครนนั้นเป็นการกระทำที่ตื่นตระหนกจนเกินไป โดยประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ชี้ว่า ยังไม่พบข้อพิสูจน์ที่บอกได้แน่ชัดว่ารัสเซียจะรุกรานยูเครนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
รัสเซีย
- จุดยืนที่ชัดเจนของรัสเซียต่อวิกฤตตึงเครียดครั้งนี้คือ การเรียกร้องให้ NATO ยุติการขยายอิทธิพลในยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะการรับรองว่ายูเครนจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO
- ท่าทีของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการให้ NATO และมหาอำนาจตะวันตกถอยออกไปจากยุโรปตะวันออก โดยยกเลิกการฝึกซ้อมรบทั้งในลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ที่เป็นอดีตรัฐของสหภาพโซเวียต ตลอดจนถอนกำลังทหารและระบบขีปนาวุธที่ติดตั้งในโรมาเนียและโปแลนด์ และสร้างเขตความมั่นคงที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย เฉกเช่นในยุคสหภาพโซเวียตเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเขาต้องการดึงยูเครนที่มีประชากร 44 ล้านคนกลับมาสู่วงโคจรภายใต้การนำของรัสเซีย
- ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021 รัสเซียมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในการเสริมกำลังทหารเข้าสู่พื้นที่ชายแดนยูเครน โดยเฉพาะการส่งกองกำลังยุทธวิธีกว่า 5,000 นายไปประจำยังชายแดนในดอนบัส ซึ่งเพิ่มจากเดิมที่มีประจำการถาวรแล้วกว่า 12,000 นาย นอกจากนี้ยังส่งกำลังทหารจำนวนมากไปประจำพื้นที่ชายแดนติดตอนเหนือของยูเครน เช่น ที่เมืองคลินต์ซี ซึ่งเป็นจุดสามเหลี่ยมยุทธศาสตร์สำคัญที่ติดทั้งชายแดนยูเครน รัสเซีย และเบลารุส
- ขณะเดียวกันรัสเซียยังได้ทยอยส่งกำลังทหาร รถหุ้มเกราะ เครื่องบินรบ และระบบต่อต้านอากาศยานที่ล้ำหน้าไปยังเบลารุส ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญและเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของยูเครน แม้ว่ากองทัพรัสเซียจะอ้างว่าการส่งกำลังทหารและยุทโธปกรณ์เหล่านี้ไปยังเบลารุสเป็นไปเพื่อการซ้อมรบที่มีกำหนดการเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่สหรัฐฯ และ NATO มองว่ารัสเซียอาจใช้การซ้อมรบเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้า เพื่อส่งกำลังทหารประชิดพรมแดนยูเครนและกดดันให้ NATO และพันธมิตรยอมรับข้อเรียกร้อง
- จนถึงวันนี้มีการประเมินจากฝ่ายสหรัฐฯ ว่ารัสเซียอาจเสริมกำลังทหารประจำการแนวชายแดนยูเครนรวมแล้วมากกว่า 130,000 นาย
- อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะเคลื่อนกำลังทหารเข้าสู่ยูเครนนั้นยังไม่ชัดเจน แม้ว่าสหรัฐฯ และชาติตะวันตกจะมีการคาดการณ์ความเป็นไปได้และส่งสัญญาณเตือนภัยสงครามว่าอาจเกิดขึ้นในช่วงเดือนนี้ พร้อมทั้งเร่งอพยพพลเรือนของตนออกจากยูเครน
- ซึ่งท่าทีของรัฐบาลมอสโกที่ผ่านมายังปฏิเสธแผนการรุกรานยูเครน ในขณะที่เปิดรับการพูดคุยแก้ปัญหาทางการทูต และมีการประชุมและต่อสายตรงทั้งกับผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำ EU หลายคน แต่ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบหรือทางออกที่เป็นรูปธรรมสำหรับสถานการณ์ตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้
สหรัฐฯ และ NATO
- สำหรับบทบาทและความเกี่ยวข้องของสหรัฐฯ และ NATO ในวิกฤตตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนครั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นขององค์การ NATO ที่เป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาล ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 1949 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีสมาชิกรุ่นก่อตั้งคือ สหรัฐฯ แคนาดา โปรตุเกส อิตาลี นอร์เวย์ เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์
- การก่อตั้ง NATO นั้นมีขึ้นภายใต้ 3 จุดประสงค์หลัก คือ
-
- จัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหารในการถ่วงดุลอำนาจทางทหารกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต)
- ให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกรณีที่ถูกคุกคามจากภายนอก
- ส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
- ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 บทบาทของ NATO ในยุโรปตะวันออกนั้นขยายกว้างมากขึ้น โดยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีมากกว่า 10 ประเทศที่เคยอยู่ใต้อำนาจของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น กลับกลายมาเป็นสมาชิกของ NATO ซึ่งปัจจุบัน NATO มีสมาชิกทั้งหมด 30 ประเทศ ในจำนวนนี้รวมถึง 3 ประเทศของรัฐบอลติก ได้แก่ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต
- ในปี 2008 NATO เคยให้สัญญาไว้กับจอร์เจียและยูเครนที่เป็นอดีตรัฐของสหภาพโซเวียตว่าจะรับทั้งสองประเทศเข้าเป็นสมาชิกในวันหนึ่งข้างหน้า โดยประเด็นนี้กลายเป็นข้อกังวลของรัสเซีย เนื่องจากหากยูเครนที่เปรียบเหมือนหลังบ้านของตนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO อาจส่งผลกระทบสำคัญต่อยุทธศาสตร์ความมั่นคงในภูมิภาค
- ข้อดีในการเข้าเป็นสมาชิก NATO อย่างหนึ่งคือ มาตรา 5 ของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือที่กำหนดว่า ‘การโจมตีด้วยอาวุธต่อพันธมิตรในยุโรปหรืออเมริกาเหนือจะถือว่าเป็นการโจมตีพวกเขาทั้งหมด’ หรือพูดง่ายๆ คือ หากชาติสมาชิกประเทศใดก็ตามถูกโจมตีจะเปรียบเหมือนการโจมตีต่อพันธมิตร NATO ทั้งหมด โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ที่ทำให้ NATO ต้องปกป้องสหรัฐฯ ด้วยการเข้าร่วมทำสงครามต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน
- อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายูเครนจะต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO แต่ก็ยังไม่มีวี่แววหรือสัญญาณใดที่แสดงให้เห็นว่า NATO จะเชื้อเชิญยูเครนเข้าเป็นสมาชิกได้ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากรัฐบาลยูเครนเองยังคงประสบปัญหาภายใน โดยเฉพาะด้านการคอร์รัปชัน ความบกพร่องในการป้องกันประเทศ และความย่ำแย่ในการควบคุมพรมแดนที่ติดกับประเทศต่างๆ
- ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และ NATO ต่างปฏิเสธข้อเรียกร้องหลักของรัสเซียที่ต้องการให้มีการรับรองทางกฎหมายว่ายูเครนจะถูกปฏิเสธการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องของหลักการ เนื่องจาก NATO ไม่เคยกีดกันโอกาสในการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศใดก็ตามในยุโรปแม้แต่รัสเซีย
- ความตึงเครียดจากท่าทีของรัสเซียในครั้งนี้ส่งผลให้สหรัฐฯ และ NATO ต้องออกมาเตือนรัสเซียถึงความเสี่ยงและผลลัพธ์ร้ายแรงที่จะตามมา โดยสหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตก เตือนการตอบโต้ที่รวดเร็วและรุนแรงหากรัสเซียเคลื่อนกำลังทหารเข้าสู่ยูเครน ซึ่งมาตรการตอบโต้นั้นคาดว่ารวมถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการแบนโครงการท่อส่งก๊าซขนาดใหญ่ Nord Stream 2 ระหว่างรัสเซียและเยอรมนี
- ขณะที่กองทัพสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนยูเครนด้วยการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้ พร้อมทั้งสั่งให้กำลังทหารที่ประจำการในยุโรปเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ไม่คาดคิด ส่วน NATO มีการเสริมกำลังทหาร พร้อมด้วยเครื่องบินรบ และกองเรือรบในยุโรปตะวันออก
EU และชาติยุโรปอื่นๆ
- สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นสร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อผู้นำ EU และชาติยุโรปอื่นๆ โดยหากเกิดสงครามขึ้น ผลกระทบที่รุนแรงนอกจากประเด็นความมั่นคงแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องพลังงาน เนื่องจากรัสเซียนั้นถือเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ให้แก่ประเทศยุโรป คิดเป็นสัดส่วนรวมกว่าร้อยละ 40 ซึ่งเฉพาะในกลุ่ม EU มีการใช้งานก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากรัสเซียสูงกว่า 38% ของปริมาณก๊าซทั้งหมด
- สำหรับชาติสมาชิก EU นั้นยังมีท่าทีที่ต่างกันในวิกฤตตึงเครียดครั้งนี้ โดย เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แสดงจุดยืนชัดเจนในการหาทางออกของปัญหาผ่านการเจรจาทางการทูต ซึ่งตัวเขาได้เดินทางไปพูดคุยกับประธานาธิบดีปูตินเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเน้นย้ำความจำเป็นในการพูดคุยเพื่อคลายความตึงเครียด
- ส่วนเยอรมนีซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคของ อังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงที่พูดภาษารัสเซียได้อย่างคล่องแคล่ว พบว่า มีท่าทีสนับสนุนการพูดคุยเพื่อยุติปัญหาเช่นเดียวกัน โดย โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พยายามเดินสายไปพูดคุยทั้งกับผู้นำยูเครนและรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันก็เตือนรัสเซียว่าอาจเผชิญการคว่ำบาตรที่รุนแรงหากตัดสินใจบุกยูเครน
- อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองท่าทีของเยอรมนีในฐานะชาติสำคัญของ EU ว่าดูจะอ่อนเกินไปและไม่กล้าเตือนรัสเซียด้วยความหนักแน่นและจริงจัง รวมถึงไม่มีการสนับสนุนทางการทหารแก่ยูเครนเพื่อเตรียมรับมือการบุกของรัสเซีย ซึ่งการตัดสินใจของเยอรมนีที่ออกมาคาดว่าเป็นผลมาจากความเชื่อมโยงที่มีต่อรัสเซียทั้งในด้านเศรษฐกิจและพลังงาน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์อย่างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 ที่ส่งก๊าซตรงจากรัสเซียไปยังเยอรมนี ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ประชาชนกว่า 26 ล้านคนได้ใช้ก๊าซในราคาถูกลง
- ส่วนชาติ EU ในฝั่งตะวันออกที่เคยมีประวัติศาสตร์ขัดแย้งกับรัสเซียและสหภาพโซเวียต เช่น สเปน เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ต่างมีท่าทีสนับสนุนการตอบโต้ภัยคุกคามจากรัสเซีย โดยทั้งสามประเทศได้ส่งการสนับสนุนทางทหารไปยังยูเครน ขณะที่โปแลนด์ก็มีความเคลื่อนไหวทางทหารด้วยการเสริมกำลังพลในยุโรปตะวันออกมากขึ้น ซึ่งเป็นท่าทีที่สร้างความไม่พอใจแก่รัสเซีย
- นอกจากนี้ชาติยุโรปอื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักร มีท่าทีชัดเจนว่าจะดำเนินการคว่ำบาตรตอบโต้รัสเซียขั้นรุนแรงหากรัสเซียรุกรานยูเครน
- โดยในการหารือระหว่าง ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร และ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า สหราชอาณาจักรส่งสัญญาณเตือนที่หนักแน่นต่อรัสเซียและปฏิเสธข้อแก้ตัวของรัสเซียที่อ้างว่าไม่มีแผนรุกรานยูเครน ซึ่งทรัสส์ระบุว่า เธอมองไม่เห็นเหตุผลอื่นใดที่รัสเซียจะส่งทหารกว่า 100,000 นายไปประจำการบริเวณแนวชายแดนนอกจากการคุกคามยูเครน และชี้ว่าหากรัสเซียต้องการเจรจาหาทางออกทางการทูตอย่างจริงจังก็จำเป็นต้องถอนกำลังทหารและยุติการคุกคามที่มีอยู่
เทียบศักยภาพกองทัพรัสเซีย-ยูเครน
- ในกรณีที่รัสเซียตัดสินใจเคลื่อนกำลังทหารเข้าสู่ยูเครนและเปิดฉากทำสงครามนั้นผู้เชี่ยวชาญมองว่า รัสเซียสามารถกุมชัยชนะได้อย่างไม่ยากเย็น และเป็นการยากที่สหรัฐฯ NATO หรือชาติตะวันตก จะเข้าขัดขวาง
- โดยหากเทียบขนาดกองทัพและศักยภาพทางการรบพบว่า รัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกองทัพทรงพลังมากที่สุดในโลก มีกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มากกว่าและทันสมัยกว่ายูเครนอย่างมากแทบทุกด้าน ตัวอย่างคร่าวๆ คือ
กำลังทหารประจำการ: ยูเครน 209,000 นาย รัสเซีย 900,000 นาย
กำลังพลสำรอง: ยูเครน 900,000 นาย รัสเซีย 2,000,000 นาย
ปืนใหญ่: ยูเครน 2,040 กระบอก รัสเซีย 7,571 กระบอก
รถหุ้มเกราะ: ยูเครน 12,303 คัน รัสเซีย 30,122 คัน
รถถัง: ยูเครน 2,596 คัน รัสเซีย 12,420 คัน
เฮลิคอปเตอร์จู่โจม: ยูเครน 34 ลำ รัสเซีย 544 ลำ
เครื่องบินรบ: ยูเครน 98 ลำ รัสเซีย 1,511 ลำ
- ขณะที่งบประมาณและการใช้จ่ายทางทหารของยูเครนนั้นมีจำนวน 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 8.8% ของการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับรัสเซียที่มีงบประมาณทางทหารสูงถึง 61.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 11.4% ของงบประมาณรัฐบาล
- อย่างไรก็ตาม ยูเครนได้รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ และมีการจัดส่งไปถึงยูเครนแล้ว 2 รอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือในการป้องกันตนเองภายใต้วงเงิน 200 ล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา
- แต่การสนับสนุนเพียงอาวุธนั้นเชื่อว่ายังไม่เพียงพอที่จะรับมือกำลังรบของรัสเซียได้ ในขณะที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ก็ประกาศแล้วว่า จะไม่ส่งกำลังทหารอเมริกันเพียงชาติเดียวไปยังยูเครนหากรัสเซียเปิดฉากบุก แม้เพนตากอนจะมีการสั่งเตรียมพร้อมกำลังทหารในยุโรปกว่า 8,500 นาย ซึ่งต้องติดตามความเคลื่อนไหวที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ว่าแต่ละฝ่ายจะนำพาสถานการณ์ไปถึงจุดที่เกิดสงคราม หรือสามารถหาทางออกของวิกฤตครั้งนี้ได้แบบไม่เสียเลือดเสียเนื้อ
ภาพ: Photo by Russian Defence Ministry / TASS via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.nytimes.com/article/russia-ukraine-nato-europe.html
- https://www.nytimes.com/2022/01/12/world/europe/nato-definition.html
- https://www.vox.com/22917719/russia-ukraine-invasion-border-crisis-nato-explained
- https://www.atlanticcouncil.org/blogs/new-atlanticist/russia-crisis-military-assessment-what-would-a-ground-offensive-against-ukraine-look-like-watch-the-skies/
- https://www.aljazeera.com/news/2022/1/25/infographic-military-capabilities-of-russia-and-ukraine-interactive
- https://www.cfr.org/in-brief/how-do-militaries-russia-and-ukraine-stack
- https://www.businessinsider.com/5-weapons-russia-would-likely-use-to-attack-ukraine-2022-1
- https://www.army-technology.com/features/russia-ukraine-tanks-t-64-t-72-t-14-invasion-nato/
- https://coffeeordie.com/ukraine-russia-electronic-warfare/
- https://www.forbes.com/sites/davidaxe/2022/02/04/the-ukraines-best-fighter-pilots-are-preparing-for-war-but-will-they-fight/?sh=719181e3408b
- https://www.forbes.com/sites/davidaxe/2022/02/07/ukrainian-and-russian-su-25-pilots-alike-face-a-potentially-bloody-war/?sh=617152306e52
- https://www.cbs8.com/article/news/world/if-russia-invades-ukraine-could-be-the-largest-war-in-europe-since-1945/509-5f84f523-1665-47e7-bd44-490b74bbb429
- https://www.nytimes.com/interactive/2022/01/27/world/europe/russia-forces.html
- https://apnews.com/article/russia-ukraine-europe-russia-vladimir-putin-soviet-union-4619a72d1597673e4112b673a9f6fd9c
- https://www.nato.int/cps/en/natohq/news_191040.htm
- https://www.nytimes.com/2022/02/07/world/europe/macron-heads-to-moscow-aiming-for-a-de-escalation.html