×

สรุปวิกฤตตึงเครียด รัสเซีย-ยูเครน ที่มาความขัดแย้งและโอกาสปะทุสู่สงคราม

06.02.2022
  • LOADING...
Russia-Ukraine conflict

สถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปตะวันออก จากการเคลื่อนกำลังทหารกว่า 1 แสนนายของรัสเซีย ประชิดชายแดนยูเครนตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 สร้างความกังวลไปยังทั่วโลก โดยเฉพาะมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ชาติยุโรป และองค์การ NATO ที่หวั่นวิตกว่ารัสเซียอาจเปิดฉากรุกรานดินแดนยูเครน จนกลายเป็นสงครามใหญ่ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง 

 

โดยตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปต่างแสดงท่าทีแข็งกร้าว เตือนรัสเซียว่าจะต้องเผชิญผลลัพธ์ที่ใหญ่หลวงหากตัดสินใจบุกยูเครน ในขณะที่ฝ่ายรัสเซียดูจะไม่สะทกสะท้านและพยายามกดดันให้สหรัฐฯ ตอบรับข้อเรียกร้องหลัก ด้วยการยืนยันว่ายูเครนจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO

 

คำตอบที่ได้ค่อนข้างชัดเจนว่าสหรัฐฯ นั้นปฏิเสธ ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ยังคงตึงเครียดและน่ากังวล และยังไม่ชัดเจนว่าเหตุการณ์จะบานปลายหรือจบลงอย่างไร

 

จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง

– ปมขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจต้องย้อนไปไกลนับตั้งแต่ที่ยูเครนแยกตัวเป็นเอกราชจากสาธารณรัฐรัสเซีย ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ซึ่งยูเครนพยายามสลัดมรดกจากจักรวรรดิรัสเซียและเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก

 

– โดยความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้นหลัง วิกเตอร์ ยูชเชนโก ขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2005 ซึ่งนโยบายหลักของเขาคือการทำให้ยูเครนถอยห่างจากมอสโกและใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้ยูเครนได้เข้าเป็นสมาชิก NATO และในปี 2008 NATO ได้ให้สัญญาที่กลายมาเป็นประเด็นถึงปัจจุบันว่าในวันหนึ่งยูเครนจะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO เต็มตัว 

 

– ความหวังในการเข้าเป็นสมาชิก NATO ของยูเครน และความสัมพันธ์อันดีกับ EU จึงมีมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งถึงจุดเปลี่ยนในยุคการปกครองของประธานาธิบดีฝ่ายสนับสนุนรัสเซียอย่าง วิกเตอร์ ยานูโควิช ที่ครองอำนาจตั้งแต่ปี 2010-2014 ซึ่งในปี 2013 ยานูโควิชตัดสินใจระงับข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU เพื่อเอาใจรัสเซียและพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย

 

– แต่การเลือกถอยห่างจาก EU และฟื้นความสัมพันธ์กับมอสโก กลับกลายเป็นชนวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในกรุงเคียฟช่วงปลายปี 2013 โดยสถานการณ์ประท้วงบานปลายและทวีความรุนแรงจนมีผู้ประท้วงถูกสังหารหลายสิบคน 

 

– กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2014 รัฐสภายูเครนลงมติถอดถอนยานูโควิชออกจากตำแหน่ง ก่อนที่รัฐบาลรักษาการจะออกหมายจับ ทำให้เขาต้องหนีไปยังรัสเซีย โดยยานูโควิชประณามการลงมติถอดถอนเขาว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายพร้อมขอให้รัสเซียช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลเครมลินก็ชี้ว่า การโค่นอำนาจยานูโควิชเป็นการก่อรัฐประหารและไม่ยอมรับรัฐบาลรักษาการของยูเครน

 

– จากนั้นเพียงไม่กี่วัน ชนวนขัดแย้งที่นำมาสู่การแตกหักถึงขั้นทำสงครามครั้งแรกระหว่างรัสเซียและยูเครนก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดการเดินขบวนของกลุ่มผู้ประท้วงสนับสนุนรัสเซียในภูมิภาคไครเมีย (Crimea) ที่เรียกร้องให้รัฐสภาท้องถิ่นต่อต้านรัฐบาลกลางชุดใหม่ และต้องการให้เปิดทำประชามติสถานะของไครเมียเพื่อแยกดินแดนผนวกรวมกับรัสเซีย

 

– ต้องอธิบายก่อนว่า ไครเมีย หรือในชื่อเดิมคือ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตปกครองตนเองไครเมีย เป็นดินแดนคาบสมุทรติดทะเลดำ ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของยูเครน ติดกับพื้นที่ทางตะวันตกของดินแดนครัสโนดาร์ของรัสเซีย โดยเป็นพื้นที่ปกครองตนเองที่มีประชากรราว 2.4 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองรัสเซีย ที่พูดภาษารัสเซีย และต้องการกลับไปอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

 

– ความไม่สงบในไครเมียและกรณีการถอดถอนยานูโควิช ทำให้ฝ่ายรัสเซียนำโดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจเริ่มต้นแผนดำเนินการเพื่อนำไครเมียกลับคืนสู่รัสเซียในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ และเริ่มต้นเคลื่อนกำลังทหารและกองกำลังพิเศษเข้าสู่ไครเมีย

 

– สถานการณ์ประท้วงของผู้สนับสนุนรัสเซียในไครเมียทวีความรุนแรง และเกิดการปะทะระหว่างฝ่ายสนับสนุนรัสเซียกับยูเครนจนมีผู้เสียชีวิต 2 คน ก่อนจะเกิดเหตุกองกำลังติดอาวุธในชุดเครื่องแบบทหารรัสเซียที่ไม่ติดเครื่องหมายบุกยึดรัฐสภาไครเมีย ขณะที่กองทัพรัสเซียเริ่มตั้งด่านตัดเส้นทางเข้าออกระหว่างไครเมียและยูเครน พร้อมทั้งเข้ายึดสนามบินและศูนย์กลางระบบสื่อสารทั้งหมด

 

– จากนั้นในวันที่ 1 มีนาคม รัสเซียได้ผ่านกฎหมายอนุมัติให้ส่งกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังไครเมีย ทำให้ฐานทัพยูเครนและจุดยุทธศาสตร์ทั้งหมดในไครเมียถูกปิดล้อม นำมาสู่การตั้งรัฐบาลท้องถิ่นชุดใหม่ที่มีผู้นำเป็นฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย ก่อนจะมีการจัดทำประชามติผนวกรวมไครเมียเข้ากับรัสเซียอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มีนาคม 2014 ซึ่งกองทัพรัสเซียยังเดินหน้าบุกโจมตีฐานทัพและเรือรบของยูเครนในพื้นที่ จนทำให้กองทัพยูเครนต้องถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากไครเมียในวันที่ 30 มีนาคม

 

– อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยูเครนไม่ยอมรับการผนวกรวมไครเมียเข้ากับรัสเซีย โดยประกาศว่าไครเมียเป็นดินแดนของยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดไว้ชั่วคราว เช่นเดียวกับที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งมีมติไม่ยอมรับและประณามการผนวกรวมไครเมียเข้ากับรัสเซียว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

 

– นอกจากไครเมียแล้ว ในปีเดียวกัน ยูเครนยังเผชิญการสู้รบกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียในภูมิภาคดอนบาส (Donbas) ทางตะวันออกของประเทศ โดยในเดือนเมษายน 2014 กลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในดอนบัส ได้ประกาศเอกราชจากยูเครน จุดชนวนให้เกิดการสู้รบอย่างต่อเนื่อง 

 

– ซึ่งยูเครนและชาติตะวันตกกล่าวหารัสเซียว่าส่งกำลังทหารและอาวุธไปช่วยกลุ่มกบฏในดอนบาส แต่รัฐบาลมอสโกปฏิเสธ โดยอ้างว่ามีกลุ่มชาวรัสเซียที่อาสาร่วมรบกับกลุ่มกบฏในยูเครน พร้อมทั้งวิจารณ์สหรัฐฯ และ NATO ที่สนับสนุนอาวุธและฝึกซ้อมรบให้ยูเครน ขณะที่ผลจากการทำสงครามในดอนบาสจนถึงปัจจุบันส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมมากกว่า 14,000 คน

 

– ทั้งนี้ ในระหว่างที่ความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับรัสเซียนั้นมีแต่ถดถอยต่อเนื่อง ในทางกลับกัน ความสัมพันธ์ยูเครนกับชาติตะวันตกยิ่งเพิ่มขึ้น โดยในปี 2017 มีการทำข้อตกลงระหว่างยูเครนกับ EU ทั้งการเปิดตลาดการค้าเสรีและการอนุมัติให้ชาวยูเครนเดินทางเข้า EU โดยปลอดวีซ่า

 

รัสเซียต้องการอะไร?

– ที่ผ่านมารัสเซียแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ยูเครนนั้นเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO โดยข้อเรียกร้องหลักที่รัสเซียส่งให้สหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมคือการรับรองว่ายูเครนจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO และเรียกร้องให้ NATO ยุติความเคลื่อนไหวทางทหารและการติดตั้งระบบอาวุธในยุโรปตะวันออก รวมถึงยุติการฝึกซ้อมรบใดๆ ของ NATO ใกล้ชายแดนรัสเซีย

 

– ซึ่งประธานาธิบดีปูตินเสนอโอกาสให้ชาติตะวันตกเข้าร่วมการเจรจาในประเด็นข้อเรียกร้องเหล่านี้ โดยเสริมว่า มอสโกไม่เพียงต้องการคำรับรองด้วยวาจาเท่านั้น แต่ยังต้องการ ‘การรับรองที่ถูกต้องตามกฎหมาย’

 

– อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซียเป็นลายลักษณ์อักษร เช่นเดียวกับ NATO ที่ปฏิเสธข้อเรียกร้องให้ยกเลิกคำมั่นสัญญาในปี 2008 ซึ่งระบุว่าจะให้ยูเครนเป็นสมาชิกในสักวันหนึ่ง โดย เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO ยืนยันว่าจะมีการพิจารณาคำขอเข้าร่วมของยูเครนเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และรัสเซียไม่สามารถยับยั้งการตัดสินใจของ NATO ได้

 

ยูเครนจะได้เข้าร่วม NATO หรือไม่?

– การจะได้รับพิจารณาเป็นสมาชิก NATO นั้น รัฐบาลเคียฟต้องพิสูจน์ตัวเองในการขจัดปัญหาภายในต่างๆ เช่น ปัญหาคอร์รัปชัน

 

– สำหรับยูเครนซึ่งปัจจุบันได้รับการพิจารณาเป็น ‘Partner of the Alliance’ หรือหุ้นส่วนพันธมิตร NATO แสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO เต็มรูปแบบ โดยในเดือนมกราคมปี 2021 โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ขอให้ โจ ไบเดน ที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ช่วยผลักดันให้ยูเครนได้เข้าเป็นสมาชิก NATO

 

– ซึ่งแม้ว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะแสดงความเห็นสนับสนุนยูเครนในการเข้าเป็นสมาชิก NATO แต่ทางด้านไบเดนยังคงไม่มีคำตอบชัดเจนในประเด็นนี้

 

– ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าพันธมิตร NATO ที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ยังคงลังเลที่จะขยายความเคลื่อนไหวทางทหารในยุโรปตะวันออกและเปิดรับยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงระหว่างความสัมพันธ์กับมอสโกมากขึ้น

 

จะเกิดสงครามเต็มรูปแบบระหว่างรัสเซียและยูเครนหรือไม่?

– การเคลื่อนกำลังทหารรัสเซียกว่า 1แสนนาย เข้าประชิดแนวชายแดนยูเครน ส่งผลให้ชาติตะวันตกกังวลและกล่าวหาว่ารัสเซียเตรียมการที่จะรุกรานดินแดนยูเครน 

 

– โดยไบเดนประกาศกร้าวว่า สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร จะจับมือตอบโต้รัสเซียอย่างรุนแรงหากเปิดฉากบุกยูเครน ขณะที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เริ่มสั่งการให้กำลังทหารในยุโรปกว่า 8,500 นาย เตรียมความพร้อมสำหรับการส่งไปยุโรปตะวันออก ส่วน NATO ก็มีการส่งเรือและเครื่องบินรบหลายลำไปเตรียมสนับสนุนการป้องกันในภูมิภาค

 

– ทางฝ่ายรัสเซียปฏิเสธว่าไม่มีแผนการใดๆ ในการรุกรานยูเครน และกล่าวหาชาติตะวันตกที่พยายามทำให้สถานการณ์แย่ลง โดย ดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกของปูติน กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ยิ่งส่งผลให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น

 

– อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเหตุการณ์จะบานปลายไปถึงขั้นเกิดสงครามหรือไม่ แต่นักวิเคราะห์บางคนมองว่ารัสเซียสามารถเคลื่อนกำลังทหารเข้าสู่ยูเครนและกุมชัยชนะได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด และเพิ่มอำนาจการต่อรองในการพูดคุยในอนาคตเกี่ยวกับการขยายอำนาจทางทหารและขอบเขตอิทธิพลของ NATO ในยุโรปตะวันออกได้ โดยที่สหรัฐฯ และชาติยุโรปไม่อาจช่วยเหลือยูเครนได้ทัน

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากรัสเซียบุกยูเครนจริงๆ?

– ชาติตะวันตกจะสนับสนุนยูเครน โดยสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรจะให้การสนับสนุนอาวุธ ขณะที่เยอรมนีมีแผนส่งแพทย์สนามไปยูเครน แต่จะไม่ส่งยุทโธปกรณ์ทางทหารไป

 

– สำหรับการคว่ำบาตรนั้น ผู้นำสหรัฐฯ และชาติยุโรป ประกาศว่าจะคว่ำบาตรทางการเงินครั้งใหญ่ต่อรัสเซีย ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน หากปูตินสั่งให้กำลังทหารเคลื่อนทัพเข้าสู่พรมแดนยูเครน โดยสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรนั้นมีแผนที่จะคว่ำบาตรโดยตรงต่อปูตินด้วย

 

– หนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินที่ถือว่ารุนแรงที่สุดซึ่งอาจเกิดขึ้นกับรัสเซีย คือการตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินที่เรียกว่า SWIFT ซึ่งช่วยให้สามารถโอนย้ายเงินจากธนาคารหนึ่งไปยังอีกธนาคารในประเทศต่างๆ ทั่วโลก 

 

– โดยคาดว่าหากมีการเลือกใช้มาตรการนี้จะส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อเศรษฐกิจรัสเซียในทันทีและยังส่งผลในระยะยาว เนื่องจากอาจเป็นการตัดรัสเซียออกจากการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงผลกำไรที่ได้จากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่สร้างรายได้ให้รัสเซียคิดเป็นกว่า 40%

 

– นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังถืออาวุธทางการเงินที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับรัสเซียอีกอย่างหนึ่ง คือการปิดกั้นรัสเซียจากการเข้าถึงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ในธุรกรรมการเงินทั่วโลก 

 

– และท้ายที่สุด สหรัฐฯ ยังอาจพิจารณามาตรการคว่ำบาตรด้วยการควบคุมการส่งออก ซึ่งจะตัดรัสเซียออกจากเทคโนโลยีชั้นสูงต่างๆ ด้วย

 

ภาพ: Photo by Sergei Malgavko\TASS via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising