×

มองกลยุทธ์รัสเซีย ตัดน้ำ-ตัดไฟ แช่แข็งยูเครน บีบให้ยอมจำนนในสงครามฤดูหนาว

19.10.2022
  • LOADING...
รัสเซีย

สงครามบุกยูเครนของรัสเซียที่ยืดเยื้อมาเกือบ 8 เดือน ใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูหนาว เป็นช่วงที่หลายฝ่ายจับตามองว่า อาจมีหลายปัจจัยที่สามารถเป็นตัวแปร ส่งผลให้ฉากทัศน์ของสงครามเกิดความเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

โดยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระแสข่าวทั้งจากชาติตะวันตกและทางการรัสเซียเอง บ่งบอกถึงการรุกคืบอย่างหนักและรวดเร็วของกองทัพยูเครน ที่พยายามบุกยึดพื้นที่สำคัญต่างๆ คืนจากรัสเซีย ไล่ตั้งแต่ภูมิภาคคาร์คีฟ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ มาจนถึงแคว้นลูฮันสก์และโดเนตสก์ ทางตะวันออก และแคว้นเคอร์ซอน ทางใต้ 

 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา รัสเซียเริ่มเป็นฝ่ายเอาคืนด้วยการระดมโจมตีทางอากาศอย่างหนัก โดยใช้ทั้งขีปนาวุธ จรวด และโดรนกามิกาเซ หรือโดรนติดระเบิด ถล่มกรุงเคียฟและหลายเมืองทั่วประเทศ จนทำให้เกิดความเสียหายและมีผู้เสียชีวิตหลายราย

 

หนึ่งในความเสียหายร้ายแรง และเชื่อว่าเป็นเป้าหมายที่รัสเซียกำลังจับจ้องอยู่คือ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าและน้ำประปา จนทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาไฟดับและน้ำประปาไม่ไหล เกิดความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง

 

ขณะที่โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เผยผ่านทวิตเตอร์เมื่อวานนี้ (18 ตุลาคม) ว่าตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียได้โจมตีสถานีจ่ายไฟฟ้าทั่วประเทศไปแล้วกว่า 30% จนส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

 

กลยุทธ์ตัดน้ำ-ตัดไฟของรัสเซียถูกมองว่า อาจเป็นความพยายามเพื่อที่จะแช่แข็งยูเครนในช่วงฤดูหนาวนี้ และมีเป้าหมายหลักคือบีบให้รัฐบาลเคียฟยอมจำนน แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าจะสามารถทำได้สำเร็จตามที่คาดหวังหรือไม่

 

ฤดูหนาวกำลังจะมาถึง

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Climate Change Knowledge Portal ของธนาคารโลก ชี้ถึงบริบทสภาพภูมิอากาศของประเทศยูเครน จากการเก็บข้อมูลช่วงปี 1991-2020 พบว่าฤดูหนาวของยูเครน ซึ่งมีระยะเวลาครอบคลุมตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมีนาคม จะมีระดับอุณหภูมิอยู่ที่ติดลบ 4.8 องศาเซลเซียส ไปจนถึง 2 องศาเซลเซียส ซึ่งหนาวเย็นจัดจนเรียกได้ว่าแทบจะรู้สึกไปถึงกระดูก

 

แต่ฤดูหนาวปีนี้อาจโหดร้ายกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์สงครามที่ปะทุขึ้นมาเกือบ 8 เดือน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนยูเครน และการโจมตีระลอกล่าสุดในช่วงกว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทบกับระบบจ่ายไฟฟ้าและน้ำประปา

 

รายงานจากสำนักข่าว AP บรรยายความยากลำบากของเด็กชายอาร์เท็ม วัย 9 ขวบ ที่อาศัยอยู่กับยายในอพาร์ตเมนต์ที่เกือบจะร้าง ภายในชุมชนคีฟชารีฟคา (Kivsharivka) ภูมิภาคคาร์คีฟ ท่ามกลางภาวะสงครามอันเลวร้าย ขณะที่สภาพอากาศช่วงนี้ พบว่าระดับอุณหภูมิเริ่มหนาวเย็น โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน

 

สองยายหลานต้องใช้ชีวิตแบบไม่มีทั้งไฟฟ้า น้ำประปา และก๊าซ มาเกือบ 3 สัปดาห์ หลังจากที่ขีปนาวุธของรัสเซียโจมตีระบบสาธารณูปโภคเหล่านี้ ซึ่งพวกเขาต้องรวมกลุ่มกับชาวบ้านไม่กี่คนในพื้นที่เพื่อทำอาหารกันนอกบ้าน ซึ่งเป็นหนทางเดียวในการเอาชีวิตรอด

 

ภารกิจหลักของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงที่ไร้ไฟฟ้า พบว่าหลายครอบครัวต้องพยายามเก็บรวบรวมฟืนหรือรับฟืนที่ทางการแจกให้เพื่อใช้ตลอดช่วงฤดูหนาวนี้ หลายคนไม่รอความหวังจากทางการที่กำลังทยอยซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อจ่ายไฟฟ้า น้ำประปา และก๊าซ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใช้งานได้อีกครั้งเมื่อไร

 

เฮอร์มาน ฮาลูเชนโก (Herman Halushenko) รัฐมนตรีพลังงานของยูเครน เผยว่า การโจมตีทางอากาศของรัสเซียในวันที่ 10 ตุลาคม มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานได้รับผลกระทบทันทีกว่า 30% และในวันถัดมา จรวดของรัสเซียได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานเพิ่มอีก 33 จุด และการโจมตีระลอกล่าสุด เกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 ตุลาคม) โดยพุ่งเป้าทั้งพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ความเสียหายจากการโจมตีทางอากาศเหล่านี้มีความสำคัญ และทำให้เมืองต่างๆ ทั่วประเทศต้องสูญเสียพลังงานไปชั่วคราว

 

ขณะที่การผลิตพลังงานไฟฟ้าของยูเครนนั้น ส่วนใหญ่ได้มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (Thermal Power Plant: TPP) ที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยข้อมูลจาก GlobalData ในปี 2021 ชี้ว่ายูเครนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ คิดเป็น 54.2% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ส่วนพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ หรือพลังงานลมนั้น ก่อนเกิดสงครามมีสัดส่วนราว 12% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด

 

แต่ตอนนี้ยูเครนมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพียง 8 เครื่องจากทั้งหมด 15 เครื่องที่เปิดใช้งาน โดยเครื่องปฏิกรณ์ 6 เครื่องในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียที่กองทัพรัสเซียยึดครองไว้นั้น ถูกปิดหลังการโจมตีของรัสเซียในช่วงเดือนสิงหาคม ส่วนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกที่อยู่ในดินแดนที่รัสเซียควบคุมหรือในพื้นที่สู้รบก็ไม่สามารถใช้การได้ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่งที่ถูกปิดไป

 

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของยูเครนมีทั้งหมด 14 แห่ง ที่ผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่ง 8 แห่งนั้นเป็นของบริษัท DTEK ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และ 3 แห่งเป็นของบริษัท Centrenego ที่รัฐเป็นเจ้าของ ส่วนที่เหลือเป็นของหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชนที่มีขนาดเล็ก 

 

โดยก่อนการโจมตีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม มีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของ DTEK เพียง 6 แห่งที่ยังทำงาน แต่หลังเกิดเหตุพบว่า 2 แห่งได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อยอีกหลายเมืองรวมถึงกรุงเคียฟที่เสียหายหนัก

 

หนทางรอดของยูเครน

เหตุผลเดียวที่ทำให้ยูเครนยังไม่เผชิญภาวะระบบไฟฟ้าล่มขั้นรุนแรง ทั้งที่กำลังการผลิตไฟฟ้านั้นลดลงอย่างมากจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้น เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศที่ค่อนข้างต่ำ

 

โดยปัจจุบันดินแดนของยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครองนั้นคิดเป็นกว่า 20% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ นอกจากนี้ประชากรราว 7 ล้านคนได้อพยพหนีสงครามออกนอกประเทศ ขณะที่อาคารจำนวนมาก ถูกโจมตีจนกลายเป็นซากปรักหักพัง ดังนั้นจึงไม่มีการใช้ไฟฟ้า ทำให้อัตราการบริโภคไฟฟ้าทั่วประเทศลดลงไปกว่า 35% จึงไม่ส่งผลให้เกิดวิกฤตอุปทานไฟฟ้า และไม่ทำให้ระบบไฟฟ้าขัดข้อง

 

อย่างไรก็ตาม การโจมตีทางอากาศของรัสเซียทำให้การผลิตไฟฟ้านั้นมีความเสี่ยงที่จะลดลงอีก ในขณะที่อากาศหนาวเย็นของฤดูหนาวกำลังเริ่มต้นขึ้นอย่างช้าๆ 

 

ความหวังในการใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับคลายความหนาว ตอนนี้ก็ดูไม่ค่อยดีนัก โดยบริษัท Naftogaz ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานก๊าซของยูเครน เผยว่ามีก๊าซสำรองที่จัดเก็บไว้สำหรับฤดูหนาวเพียงประมาณ 1.4 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าปริมาณที่ต้องการสำหรับใช้ตลอดช่วงฤดูหนาว คือ 1.8-1.9 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 2.1-2.2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หากเป็นฤดูหนาวที่อากาศหนาวเย็นรุนแรง 

 

และแม้ว่าปริมาณการใช้ก๊าซที่ทางการยูเครนคาดการณ์ไว้สำหรับฤดูหนาวนี้จะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ด้วยเหตุผลเดียวกับการใช้ไฟฟ้าที่ลดลง แต่ระบบทำความร้อนในเขตเมืองต่างๆ ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ก็ไม่อนุญาตให้มีการลดการใช้ลงเฉพาะบ้านหรือเฉพาะบุคคล เนื่องจากทำได้แค่เปิดหรือปิดการใช้งาน ดังนั้นอัตราการใช้ก๊าซที่ลดลงจึงมีผลน้อยกว่าไฟฟ้ามาก

 

นอกจากนี้ พบว่าหลายพื้นที่ของประเทศ รวมถึงกรุงเคียฟซึ่งตอนนี้อากาศยังไม่หนาวเย็นจัด กลับเริ่มมีการใช้ก๊าซเพื่อคลายความหนาวแล้ว โดยไม่สนใจต่อภาวะขาดแคลนก๊าซสำหรับใช้ในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

 

ทั้งนี้ ยูเครนยังต้องการความช่วยเหลือทั้งด้านเทคนิคและความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วนเพื่อจัดหาแหล่งพลังงานสำหรับฤดูหนาว โดยประธานาธิบดีเซเลนสกี ขอให้นานาชาติบริจาคเงิน 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อแก้ไขปัญหาขาดดุลงบประมาณ และอีก 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน 

 

ขณะที่การประกาศหยุดส่งออกไฟฟ้าที่มีจำกัดไปยังยุโรป ยังส่งผลให้ยูเครนต้องขาดรายได้ไปเดือนละ 150 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งการซ่อมแซมระบบไฟฟ้า และการจัดซื้อก๊าซธรรมชาติ

 

สำหรับทางรอดของยูเครนในช่วงฤดูหนาวนี้ คือประชาชนต้องลดการใช้ไฟฟ้าและก๊าซลง เช่นเดียวกับรัฐบาลเคียฟที่ต้องหาทางชะลอการใช้พลังงานดังกล่าว และอนุรักษ์พลังงานให้มากที่สุด และต้องเร่งนำเทคโนโลยีช่วยประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพมาใช้งานให้ได้ทั่วทั้งประเทศ

 

ในขณะที่ชาติตะวันตกที่ไม่ต้องการให้รัสเซียแช่แข็งยูเครนจนยอมจำนนในท้ายที่สุด ก็ต้องเร่งให้การสนับสนุนทั้งทางด้านเทคนิคหรืองบประมาณ เพื่อทำให้ยูเครนฟันฝ่าฤดูหนาวนี้ไปให้ได้ 

 

นอกจากนี้ยังต้องช่วยสนับสนุนระบบอาวุธที่สามารถป้องกันไม่ให้รัสเซียเดินหน้าโจมตีทางอากาศ ถล่มเป้าหมายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไปมากกว่านี้ด้วย

 

ภาพ: Wolfgang Schwan / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising