×

โลกพึ่งพาพลังงานรัสเซียมากแค่ไหน ทำไมราคาน้ำมันและก๊าซจึงพุ่งไม่หยุด?

โดย THE STANDARD TEAM
10.03.2022
  • LOADING...
rely on Russian energy

สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ประกาศจำกัดการนำเข้าน้ำมันของรัสเซีย โดยไม่สนคำขู่ของรัสเซียที่ออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า อาจตัดการจ่ายก๊าซไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป หากชาติตะวันตกเดินหน้าแบนน้ำมันของรัสเซีย นอกจากนี้ มอสโกยังเตือนด้วยว่าผลที่ตามมาจากการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียจะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นเท่าตัว

 

นอกจากราคาน้ำมันและก๊าซจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจเพิ่มขึ้นอีกหากรัสเซียหยุดการส่งออก แต่ข่าวร้ายคือไม่ใช่แค่เชื้อเพลิงเท่านั้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกจะปรับตัวขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

 

แต่ก่อนจะไปพูดถึงผลกระทบที่ทั่วโลกหวั่นวิตก ไปดูกันก่อนว่าชาติตะวันตกมีมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันและก๊าซของรัสเซียอย่างไรบ้าง?

 

สหรัฐฯ ประกาศห้ามนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินของรัสเซียโดยสิ้นเชิง หลังจากที่ยูเครนเรียกร้องให้ขยายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มจากบทลงโทษเดิม

 

ขณะที่สหราชอาณาจักรจะทยอยยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้รัฐบาลมีเวลาเพียงพอสำหรับการจัดหาน้ำมันจากผู้ผลิตรายอื่น 

 

ส่วนสหภาพยุโรปเตรียมลดการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียลง 2 ใน 3 เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซีย ก่อนจะยุติการนำเข้าอย่างสิ้นเชิงในอนาคต

 

รัสเซียส่งออกน้ำมันมากขนาดไหน?

รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย โดยรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบประมาณ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าครึ่งถูกส่งไปยุโรป

 

ขณะที่น้ำมันจากรัสเซียคิดเป็น 8% ของความต้องการน้ำมันทั้งหมดในสหราชอาณาจักร ส่วนสหรัฐฯ นั้น พึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียน้อยกว่า ด้วยการนำเข้าเพียงประมาณ 3% ในปี 2020

 

แล้วไม่มีทางเลือกอื่นหรือ? 

 

เบน แมควิลเลียมส์ นักวิเคราะห์วิจัยนโยบายพลังงาน กล่าวว่า การหาน้ำมันจากผู้ผลิตรายอื่นเพื่อมาทดแทนน้ำมันจากรัสเซียอาจง่ายกว่าการจัดหาก๊าซ 

 

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขอให้ซาอุเพิ่มการผลิตเพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลง แต่ซาอุปฏิเสธคำขอก่อนหน้านี้ของสหรัฐฯ 

 

ซาอุเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ซึ่งน้ำมันจากกลุ่ม OPEC คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของน้ำมันดิบที่ซื้อขายกันระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ OPEC จึงมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลก

 

สำหรับรัสเซีย ถึงแม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม OPEC แต่ก็ร่วมมือกับ OPEC ลดการผลิตน้ำมันมาตั้งแต่ปี 2017 โดยมีจุดประสงค์เพื่อพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ปรับตัวลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบรรดาประเทศผู้ผลิต

 

นอกจากหวังพึ่งซาอุแล้ว สหรัฐฯ กำลังมองไปที่เวเนซุเอลาด้วยเช่นกัน โดยอาจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของเวเนซุเอลา ซึ่งเคยเป็นซัพพลายเออร์น้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐฯ แต่ปัจจุบัน เวเนซุเอลาขายน้ำมันส่วนใหญ่ให้กับจีน

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากรัสเซียหยุดจ่ายก๊าซให้ยุโรปตะวันตก?

อเล็กซานเดอร์ โนวัก รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย เตือนว่า การแบนน้ำมันและก๊าซของรัสเซียจะก่อให้เกิดหายนะใหญ่หลวงต่อตลาดโลก

 

ค่าทำความร้อนที่สูงอยู่แล้ว ก็จะยิ่งปรับตัวสูงขึ้นไปอีก โดยสหภาพยุโรปนำเข้าก๊าซจากรัสเซียถึงประมาณ 40% ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ซึ่งหากรัสเซียปิดท่อส่งก๊าซ อิตาลีและเยอรมนีจะได้รับผลกระทบหนักกว่าเพื่อน

 

แม้ยุโรปอาจหันไปหาผู้ส่งออกก๊าซรายอื่นได้ เช่น กาตาร์ แอลจีเรีย และไนจีเรีย แต่อุปสรรคคือการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างรวดเร็วนั้นเป็นเรื่องยาก

 

ขณะที่สหราชอาณาจักรนำเข้าก๊าซจากรัสเซียเพียง 5% เท่านั้น และสหรัฐฯ ไม่ได้นำเข้าก๊าซจากรัสเซียเลย แต่ถึงกระนั้น ราคาก๊าซในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบสืบเนื่องจากการขาดแคลนอุปทาน

 

สามารถหาแหล่งทางเลือกอื่นแทนก๊าซจากรัสเซียได้หรือไม่?

คำตอบคือ ไม่ง่ายนัก

 

“การหาก๊าซจากซัพพลายเออร์รายอื่นนั้นยากกว่า เพราะเรามีท่อส่งขนาดใหญ่ที่นำก๊าซของรัสเซียไปยังยุโรป” แมควิลเลียมส์กล่าว

 

หน่วยงานวิจัยเบรอเคิลคาดการณ์ว่า หากรัสเซียหยุดส่งก๊าซไปยังยุโรป ยุโรปก็อาจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ มากขึ้น หรือเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ให้มากขึ้น อย่างไรก็ดี มันไม่ง่ายและไม่เร็วที่จะทำได้เช่นนั้น

 

“พลังงานหมุนเวียนต้องใช้เวลาจึงจะผลิตได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นในระยะสั้น นี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา” นักวิเคราะห์วิจัย ซิโมน ตาญาปิเอตรา กล่าว

 

“ดังนั้น สำหรับฤดูหนาวหน้า สิ่งที่สามารถสร้างความแตกต่างได้คือการเปลี่ยนเชื้อเพลิง เช่น การเปิดโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากอิตาลีและเยอรมนีมีแผนจะดำเนินการเช่นนั้นในกรณีฉุกเฉิน”

 

สหภาพยุโรปได้เสนอแผนเพื่อให้ยุโรปเป็นอิสระจากเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซียก่อนปี 2030 ซึ่งรวมถึงมาตรการในการกระจายแหล่งจ่ายก๊าซ และหาเชื้อเพลิงอื่นมาใช้แทนก๊าซในการผลิตความร้อนและพลังงานไฟฟ้า

 

ค่าน้ำมันและค่าก๊าซจะแพงไปอีกนานแค่ไหน?

ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากสงครามครั้งนี้

 

สำหรับในสหราชอาณาจักร ขณะนี้รัฐบาลยังควบคุมราคาพลังงานในครัวเรือนอยู่ แต่ค่าก๊าซจะเพิ่มขึ้น 700 ปอนด์ เป็นประมาณ 2,000 ปอนด์ในเดือนเมษายนเมื่อมีการปรับเพิ่มเพดานราคา และคาดว่าจะพุ่งขึ้นไปถึง 3,000 ปอนด์ เมื่อปรับเพิ่มเพดานอีกครั้งในฤดูใบไม้ร่วงนี้

 

ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลของสหราชอาณาจักรพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน และคาดว่าน้ำมันเบนซินจะสูงถึง 175 เพนซ์ต่อลิตร ในขณะที่สงครามยังคงดำเนินต่อไป

 

ส่วนในสหรัฐฯ ราคาน้ำมันพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 โดยสมาคมยานยนต์อเมริกันระบุว่า ราคาขายปลีกน้ำมันพุ่งขึ้น 11% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

“ผมคิดว่าถ้าเราอยู่ในโลกที่รัสเซียหยุดส่งน้ำมันและก๊าซไปยังยุโรป เราจำเป็นต้องมีมาตรการแบ่งสรรปันส่วนพลังงาน” แมควิลเลียมส์กล่าว

 

“เรื่องที่พูดกันอยู่ในตอนนี้คือ เราสามารถบอกให้ครัวเรือนลดอุณหภูมิลงหนึ่งองศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยประหยัดก๊าซได้ในปริมาณมาก”

 

และนี่เป็นเพียงตัวอย่างผลกระทบด้านราคาที่เกิดขึ้นกับประเทศที่เป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลกระทบจะเกิดขึ้นตามมาเป็นโดมิโนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอย่างแน่นอน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศในเขตร้อนที่ไม่ได้พึ่งพาก๊าซและน้ำมันเพื่อสร้างความอบอุ่นในครัวเรือนเหมือนกับประเทศซีกโลกเหนือ

 

ภาพ: Vladimir Smirnov / TASS via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X