×

ประมวลสถานการณ์ประท้วงในศรีลังกา จากวิกฤตเศรษฐกิจ สู่การลงถนนขับไล่ผู้นำ

12.05.2022
  • LOADING...
ศรีลังกา

ศรีลังกาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่แยกตัวเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1948 ตามด้วยการประท้วงขับไล่ผู้นำและรัฐบาลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศเกาะ (Island Nation) ที่มีประชากรราว 22 ล้านคน ตกอยู่ท่ามกลางวังวนแห่งความโกลาหล

 

ที่ผ่านมารัฐบาลศรีลังกาพยายามคลี่คลายสถานการณ์และบรรเทาความโกรธแค้นของประชาชน ด้วยการกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ต่างๆ ไปจนถึงการประกาศลาออกของคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีมหินทา ราชปักษา แต่ก็ดูจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนจำนวนมากยังคงเผชิญความทุกข์ยากจากภาวะขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิง และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ 

 

ขณะที่การประท้วงเริ่มยกระดับความรุนแรงมากขึ้น และมีรายงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย ซึ่งผู้ประท้วงยืนยันเป้าหมายหลักคือ การขับไล่รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา แต่ยังไม่มีวี่แววความเป็นไปได้ และยังไม่แน่ชัดว่าทางออกของวิกฤตนี้จะเดินหน้าไปสู่จุดไหน

 

และนี่คือไทม์ไลน์สรุปวิกฤตการณ์ทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงล่าสุด (11 พฤษภาคม)

 

30 มีนาคม: ตัดไฟทั่วประเทศ

ศรีลังกาเริ่มตัดไฟฟ้าทั่วประเทศวันละ 10 ชั่วโมง เพื่อประหยัดพลังงาน หลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ และไม่มีเงินสำรองต่างประเทศพอที่จะซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงมาใช้ผลิตไฟฟ้า

 

31 มีนาคม: ม็อบบุกบ้านประธานาธิบดี

ผู้ประท้วงหลายร้อยคนพยายามบุกบ้านพักของประธานาธิบดีโกตาบายา เพื่อเรียกร้องให้เขาลาออก

 

1 เมษายน: ประกาศภาวะฉุกเฉิน

การประท้วงที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ประธานาธิบดีโกตาบายาประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อให้อำนาจกองกำลังรักษาความมั่นคงในการจับกุมและคุมขังผู้ประท้วง

 

2 เมษายน: ประกาศเคอร์ฟิว ส่งทหารคุมเข้ม

ศรีลังกาประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ 36 ชั่วโมง และส่งกำลังทหารคุมเข้มสถานการณ์ในหลายพื้นที่

 

3 เมษายน: คณะรัฐบาลลาออก

คณะรัฐบาลศรีลังกาเกือบทั้งหมดประกาศลาออกในการประชุมช่วงกลางดึก ส่งผลให้เหลือเพียงประธานาธิบดีโกตาบายา และพี่ชายคนโตคือ นายกรัฐมนตรีมหินทา ราชปักษา ที่ยังอยู่ในรัฐบาล

 

4 เมษายน: ผู้ว่าการธนาคารกลางลาออก

ประธานาธิบดีโกตาบายาเสนอแบ่งอำนาจกับฝ่ายค้าน ภายใต้การบริหารที่เป็นเอกภาพ ซึ่งนำโดยเขาและมหินทา แต่ถูกปฏิเสธ ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารกลางที่ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องในการขอความช่วยเหลือจาก IMF ประกาศลาออก

 

5 เมษายน: รัฐบาลสูญเสียเสียงข้างมากในสภา

ปัญหาของประธานาธิบดีโกตาบายาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่ออาลี ซาบรี รัฐมนตรีคลังคนใหม่ ลาออกหลังได้รับแต่งตั้งเพียงวันเดียว อีกทั้งรัฐบาลยังสูญเสียเสียงข้างมากในสภา เนื่องจากอดีตพันธมิตรเรียกร้องให้เขาลาออก ขณะที่ประธานาธิบดีโกตาบายาตัดสินใจยกเลิกภาวะฉุกเฉิน

 

8 เมษายน: ดอกเบี้ยพุ่งเป็นประวัติการณ์

ธนาคารกลางศรีลังกาตัดสินใจปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 700 จุด เพื่อพยายามระงับการอ่อนค่าลงอย่างหนักของสกุลเงินรูปีศรีลังกาที่ร่วงลงมากกว่า 35% ในช่วง 1 เดือน

 

9 เมษายน: ประท้วงครั้งใหญ่

ประชาชนหลายหมื่นคนร่วมชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด โดยเดินขบวนไปยังทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโกตาบายาลาออก

 

10 เมษายน: วิกฤตขาดแคลนยา

บรรดาแพทย์ในศรีลังกาเปิดเผยว่าแทบไม่มียาสำหรับรักษาชีวิตผู้ป่วย พร้อมเตือนว่าวิกฤตขาดแคลนยาที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากยิ่งกว่าการระบาดของโควิด

 

12 เมษายน: ผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ

รัฐบาลศรีลังกาประกาศผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศจำนวน 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยระบุว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่เป็น ‘ทางเลือกสุดท้าย’ หลังไม่มีเงินสำรองต่างประเทศที่ใช้ในการนำเข้าสินค้าที่จำเป็น

 

18 เมษายน: รัฐบาลใหม่

ประธานาธิบดีโกตาบายาประกาศเปิดตัวรัฐบาลชุดใหม่ โดยไล่พี่ชาย 2 คนและหลานชาย 1 คนออกไป แต่ยังคงให้มหินทา พี่ชายคนโต ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

19 เมษายน: ผู้ประท้วงเสียชีวิตรายแรก

ตำรวจยิงกระสุนจริงสังหารผู้ประท้วงรายแรก โดยถือเป็นการเสียชีวิตของผู้ประท้วงคนแรก นับตั้งแต่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์

 

28 เมษายน: แรงงานทั่วประเทศร่วมหยุดงานประท้วงใหญ่

บรรดาแรงงาน เช่น ครู นายธนาคาร และพนักงานขนส่งสาธารณะ พากันหยุดงาน เพื่อร่วมการประท้วงใหญ่ขับไล่รัฐบาลและประธานาธิบดีโกตาบายา 

 

6 พฤษภาคม: ประกาศภาวะฉุกเฉินรอบ 2

ประธานาธิบดีโกตาบายาประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 2 ในรอบ 5 สัปดาห์ เพื่อให้อำนาจกองกำลังความมั่นคงจับกุมผู้ประท้วงและควบคุมสถานการณ์ชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่เริ่มทวีความรุนแรง

 

9 พฤษภาคม: นายกรัฐมนตรีลาออก

นายกรัฐมนตรีมหินทาประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังเกิดการปะทะอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลกับกลุ่มผู้ประท้วง จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 คน และบาดเจ็บมากกว่า 200 คน ขณะที่รัฐบาลได้ประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์

 

10 พฤษภาคม: ม็อบบุกเผาบ้านนายกฯ-ส.ส. รัฐบาล

กองทัพเข้าช่วยชีวิตนายกรัฐมนตรีมหินทาในช่วงรุ่งสาง หลังกลุ่มผู้ประท้วงพยายามบุกเข้าไปในบ้านพักส่วนตัวและขว้างระเบิดเพลิงเผาบ้าน โดยกองทัพได้พาเขาไปพักในฐานบัญชาการกองทัพเรือทางตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อความปลอดภัย ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงยังก่อเหตุบุกเผาบ้านพัก ส.ส. ของพรรครัฐบาลอีกหลายคนด้วย

 

11 พฤษภาคม: ประธานาธิบดียืนยันไม่ลาออก 

ประธานาธิบดีโกตาบายาแถลงต่อประชาชนครั้งแรกนับตั้งแต่มีการประท้วง โดยไม่กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ลาออกและประเด็นปัญหาของรัฐบาล แต่เสนอยกอำนาจบางส่วนให้รัฐสภา และเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยไม่ระบุกำหนดเวลาที่แน่ชัด พร้อมทั้งประกาศคำมั่นว่าจะฟื้นฟูความสงบภายในประเทศ

 

ภาพ: Photo by Buddhika Weerasinghe / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising